Thursday, November 13, 2008

สทศ.ย้ำกวดวิชาสอบ GAT-PAT ไม่มีประโยชน์

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สทศ.ได้เปิดรับสมัครทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT (General Aptitude Test) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT (Professional and Academic Aptitude Test) ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยระบบกลางหรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2553 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-10 พฤศจิกายน 2551 ปรากฏว่ามีผู้สมัครสอบ ในเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 227,187 คน แยกเป็นผู้สมัคร ม.5 จำนวน 220,192 คน และม.6ขึ้นไป จำนวน 6,995 คน สอบเดือนกรกฎาคม 2552 จำนวน 231,148 คน ผู้สมัคร ม.5 จำนวน 228,778 คน และ ม.6 ขึ้นไปจำนวน 2,370 คน ส่วนสอบเดือนตุลาคม 2552 มี 231,261 คน ผู้สมัคร ม.5 จำนวน 229,059 คน และม.6ขึ้นไป จำนวน 2,202 คน โดยในการสอบแต่ละครั้งจะมีผู้ที่เลือกสอบ GAT มากที่สุด รองลงมาสอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ และ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลังจากนี้ สทศ. จะเตรียมการจัดที่นั่งสอบ สนามสอบและห้องสอบต่อไป

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อไปว่า สทศ. จะเปิดให้ผู้สมัครได้ตรวจสอบสถานะการสมัคร รวมถึงแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ทางเว็บไซต์ http://www.niets.or.th โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center หมายเลข 0-2975-5599 ระหว่างเวลา 07.00-19.00 น. ทุกวัน และจะประกาศเลขที่นั่งสอบ สนามสอบและห้องสอบ GAT และ PAT ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ส่วนการออกข้อสอบนั้น ขณะนี้ได้เริ่มทยอยออกข้อสอบแล้ว และระหว่างนี้ สทศ.จะวิเคราะห์ข้อสอบการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ B GAT และการทดสอบวัดศักยภาพหรือ B PAT ที่สทศ.เป็นผู้ออกข้อสอบ และนำไปใช้ในการคัดเลือกด้วยวิธีรับตรงของม.นเรศวร (มน.) และจุฬาฯ ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการออกข้อสอบ GAT และ PAT ต่อไป

ต่อข้อถามกรณีมีคู่มือการสอบ GAT และPAT ออกวางจำหน่าย ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า ตนได้เห็นคู่มือดังกล่าวแล้ว และต้องขอบคุณที่ช่วยกระจายปฏิทินการสอบให้ แต่พบว่าเป็นข้อสอบที่ต่างประเทศใช้วัดความถนัดของนักเรียน ซึ่งไม่เหมือนข้อสอบ GAT และ PAT ของสทศ. ดังนั้นตนแนะนำนักเรียนว่าไม่ควรจำข้อสอบ เพราะข้อสอบของสทศ.จะเน้นการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก เช่นอาจมีบทความ ให้อ่าน และวิเคราะห์ ซึ่งผู้ที่จะวิเคราะห์ได้ต้องเรียนรู้ และได้ฝึกมาเป็นอย่างดี ซึ่งไม่สามารถกวดวิชากันได้.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

No comments: