ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ว่า สัปดาห์หน้าทีมหลักสูตรจะประชุมหารือร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนการเรียนการสอน วิชาประวัติศาสตร์ ขณะนี้ สพฐ.ได้ประกาศเพิ่มวิชานี้เข้าไปในชั่วโมงเรียนแล้ว กำหนดให้โรงเรียนต้องจัดการสอนวิชาประวัติศาสตร์สัปดาห์ละ 1 คาบเรียน จากปกติที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา และจะต้องใช้นำร่องพร้อมกับหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งปรับในปีการศึกษา 2552 นี้
“อยากให้เริ่มเรียนประวัติศาสตร์แบบนักประวัติศาสตร์จริงๆ มีการสืบค้นข้อมูลจากข้อมูลที่เรามีอยู่แล้ว นักเรียนยังสามารถเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้จากแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ท้องถิ่น อาจจะต้องทำคู่มือเกี่ยวกับกระบวนการสอนสำหรับครูที่ใหม่ด้วย” ดร.เบญจลักษณ์กล่าว
ดร.เบญจลักษณ์กล่าวต่อว่า การสอนวิชาประวัติศาสตร์จะนำร่องควบคู่ไปพร้อมกับการนำร่องหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในสถานศึกษา 500 แห่ง เริ่มทยอยใช้หลักสูตรใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 และจะครบทุกช่วงชั้นในปีการศึกษา 2554 รวมระยะเวลา 3 ปี ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กำลังคัดเลือกโรงเรียนที่จะใช้เป็นต้นแบบทั้งระดับมัธยม โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนประถม
"หลักสูตรที่ปรับใหม่ค่อนข้างเป็นที่พอใจของครู ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร ส่วนการประเมินผลของหลักสูตรใหม่นั้นจะดูจากผลสอบปลายปีว่านักเรียนมี พัฒนาการทางการเรียนดีขึ้นหรือไม่" ดร.เบญจลักษณ์กล่าว
อนึ่ง หลักสูตรใหม่ปี 2551 ยังคง 8 กลุ่มสาระวิชาคือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ โดยเปลี่ยนตัวชี้วัดเป็นรายปี จากเดิมตัวชี้วัดช่วงชั้นมีการกำหนดกรอบเวลาเรียนแต่ละระดับชั้น รวมถึงกำหนดกรอบเวลาเรียนแต่ละกลุ่มวิชาด้วย
ข้อมูลจาก คมชัดลึก
No comments:
Post a Comment