Wednesday, June 24, 2009

สพฐ.สกัดร.ร.ขยายโอกาสแห่ขอเปิดม.ปลาย

คมชัดลึก : สพฐ.สกัดร.ร.ขยายโอกาสแห่ขอเปิดม.ปลายหวัง บางแห่งขอเปิดม.ปลายโดยไม่มีความจำเป็น แค่ผอ.ร.ร.อยากย้ายไปประจำร.ร.มัธยมอื่น

(23 มิ.ย.) นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสพฐ.ว่า สพฐ.เตรียมปรับเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาอนุมติให้ร.ร.เปิดมัธยมปลาย เนื่องจากปัจจุบันมีโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาที่เปิดสอนแค่ระดับม.3 ขอขยายเปิดม.ปลายเพิ่มกว่าร้อยโรง ซึ่งบางแห่งขอเปิดมัธยมโดยไม่มีความจำเป็น สพฐ.จึงต้องปรับเกณฑ์ให้รัดกุม ซึ่งที่ประชุมได้ตั้ง นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการกพฐ. มาดูเรื่องการปรับเกณฑ์ดังกล่าว

นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สพฐ.อนุมติให้ร.ร.ใดเปิดม.ปลายได้โดยพิจารณาตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการขยายชั้นเรียนม.ปลายพ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 และได้อนุมัติให้ร.ร.ขยายเปิดม.ปลายไปแล้วทั้งสิ้น 87 โรงเรียน เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้พิตจารณาความพร้อมด้านต่าง ๆ ของร.ร.ที่ขอเปิดม.ปลายเป็นหลัก โดยโรงเรียนจะต้องมีนักเรียน 40 คนต่อห้อง มีห้องเรียนในระดับม.ต้นน้อยกว่า 5 ห้อง และต้องอยู่ในพื้นที่ ๆ ยังไม่มีร.ร.เปิด ม.ปลาย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการเรียนต่อระดับม.ปลายในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ดังกล่าวกลับเป็นช่องโหว่ให้ผอ.ร.ร. ขอเปิด ม.ปลายโดยไม่จำเป็นเพื่อหวังความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตัวเอง ผู้บริหารร.ร.บางรายต้องการย้ายไปเป็นผู้บริหารในโรงเรียนมัธยมที่ใหญ่กว่า แต่การย้ายกำหนดว่าจะต้องย้ายไปในโรงเรียนที่อยู่ในระดับเดียวกัน จึงต้องดำเนินการให้ร.ร.ที่ตัวเองอยู่เปิด ม.ปลายให้ได้ บางพื้นที่มี ร.ร.ที่เปิดม.ปลายอยู่ใกล้ ๆ นักเรียนสามารถเดินทางไปกลับได้สะดวก แต่ผอ.ร.ร.กลับไปเกณฑ์เด็กในพื้นที่มาเข้าเรียนให้ครบ 40 คนต่อห้อง เพื่อให้มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ เพราะฉะนั้น สพฐ.จึงได้ปรับเกณฑ์การเปิดม.ปลายใหม่ ดูที่ความจำเป็นก่อน ส่งนความพร้อมร.ร.เป็นเรื่องรอง

ม.เอแบคฉลองครบ 40ปีเปิดศูนย์ปรึกษาธุรกิจฯ

คมชัดลึก : ม.เอแบคฉลองครบรอบ 40 ปี ชูบริการสาธารณะเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมายฟรี หวังให้เป็นที่พึ่งของนักกฎหมาย-ประชาชน


ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวในการแถลงข่าวเปิด "ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ" (ABAC Business Law Advisory Center) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กทม. ว่า ภารกิจอย่างหนึ่งของ ม.เอแบค คือการรับใช้ชาติและให้บริการต่อสาธารณะ ซึ่งยุคนี้เป็นยุคทองของนักกฎหมายมีกฎหมายต่างๆ ออกมา แต่ในส่วนของผู้ที่ทำธุรกิจนั้นไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เมื่อทำธุรกิจแล้วจึงมีปัญหา ดังนั้น ม.เอแบคจึงเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมายขึ้นโดยให้บริการแก่นักธุรกิจ ประชาชน และนักศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ม.เอแบค กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ม.เอแบคได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเปิดศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ (ICE Center) ขึ้น และในโอกาสที่ ม.เอแบคครบรอบ 40 ปี และวิทยาลัยบริหารธุรกิจครบรอบ 25 ปีในปีนี้ ม.เอแบคจึงจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมายขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ

นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ ผอ.ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย ม.เอแบค กล่าวว่า ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมายให้บริการแก่นักธุรกิจและประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจ เช่น กฎหมายภาษี กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-17.00 น. ซึ่งตั้งอยู่ที่เอแบคซิตี้แคมปัส ห้างสรรพสินค้าเซ็น เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 14 ถ.ราชดำริ ปทุมวัน กทม. โทร.0-2100-9115-8, citycampus@au.edu

เผยวิจัย“สัตตศิลา”สร้างนร.พึงประสงค์

คมชัดลึก :วช.เผยงานวิจัย “สัตตศิลา” สร้างนร.คุณลักษณะที่พึงประสงค์ รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ มั่นใจการศึกษาไทยดีขึ้น หากทุกฝ่ายช่วยกัน


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “เรื่องกลยุทธ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านการศึกษา “สัตตศิลา สู่โรงเรียน” โดยมี ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ วช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ หัวหน้าคณะงานวิจัยฯ กล่าวว่างานวิจัยดังกล่าวใช้เวลา 5 ปีในการดำเนินการจนกระทั่งสำเร็จเป็นองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษา

โดยระยะแรกเป็นการศึกษาสภาพการจัดการศึกษา และพัฒนาแนวคิดหลักการสัตตศิลา ระยะที่ 2 นำแนวคิดนวัตกรรมการปฏิบัติในโรงเรียนแกนนำ 10 แห่งในกรุงเทพฯ อุบลราชธานี พิษณุโลก สงขลา และฉะเชิงเทรา ในโรงเรียนเครือข่ายไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินการ ทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่าน เรียกว่าสัตตศิลา ซึ่งประกอบด้วย 7 หลักการ คือ 1.คุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ หรือคุณลักษณะ 4 ร.ได้แก่ รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ

2.การพัฒนาสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ 3.การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ 4.การจัดหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นรายบุคคล 5.การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 6.การพัฒนาการรู้สารสนเทศ และ 7.บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนากลยุทธ์ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเปลี่ยนการศึกษา สัตตศิลา สู่โรงเรียน เพื่อนำต้นแบบเผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งการขยายผลนี้ ได้สู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่เป้าหมาย

“จากการนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง พบว่ากระบวนการพัฒนาการศึกษาไทย ต้องปรับกระบวนทัศน์การศึกษา คือ ทำให้ผู้เรียนรู้จักสร้างความรู้ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มาเรียนเพื่อมารับความรู้อย่างเดียว ต้องปรับกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา และปรับบทบาทคนที่เกี่ยวข้อง นำกระบวนการคิดไปสู่ปฏิบัติ และวางคุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ ซึ่งโรงเรียนนำร่องทั้งหมด มีนักเรียนลักษณะพึงประสงค์อย่างที่ต้องการ” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว

Thursday, June 4, 2009

อนุมัติ2.2พันล.ให้ทุนบัณฑิตวิทย์เรียนต่อเป็นครู.6พันแก้ขาดครู

คมชัดลึก :ครม.อนุมัติ2.2 พันล้านให้ทุนบัณฑิตวิทยาศาสตร์เรียนต่อเป็นครู 4,640 คนจบแล้วบรรจุเลย แถมทำงานไป 2 ปีให้ทุนเรียนต่อป.โทอีกจำนวนหนึ่งหวังแก้ปัญหา ร.ร.ขาดแคลนครูวิทย์ด้านนายกฯ สั่ง ศธ.เจียดงบ53 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพิ่มทั่วประเทศ

เมื่อวันที่3 มิถุนายน 2552 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เสนอในส่วนของโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์(สควค.) ระยะที่3 โดยจะให้ทุนบัณฑิตที่จบคณะวิทยาศาสตร์เรียนต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู1 ปีเพื่อสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นครูในโรงเรียนรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่โรงเรียนกำลังขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพอย่างหนัก

นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2553-2560 รวมเป็นเวลา8 ปีแต่ละปีจะแจกทุน 580 ทุนทุนละ 1.4 แสนบาทต่อปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,640 คนรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,211 ล้านบาทเมื่อผู้รับทุนเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูทันที โดย ศธ.เตรียมอัตรารองรับไว้เรียบร้อยแล้วและเมื่อบรรจุเข้าทำงานได้ 2 ปียังมีสิทธิ์ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศได้อีก 2 ปีทุนละ 1.6 แสนบาทต่อปี และมีตำแหน่งรองรับการบรรจุให้ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสายวิทยาศาสตร์สนใจที่จะเข้ามาเป็นครูมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

"ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ศธ.ไปหาวิธีการในการจัดสรรงบประมาณปี2553 และงบเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่2 ด้านการศึกษาสำหรับใช้ในการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เพิ่มได้มากที่สุดทั่วประเทศ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยให้ ศธ.ไปร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลกรมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการ" นายชัยวุฒิกล่าว

ปฏิรูปฯรอบเพื่อ"คุณภาพการศึกษา"

คมชัดลึก : แม้โพลล์หลายสำนักฟันธงว่า "คุณจุรินทร์ลักษณ์วิศิษฏ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "สอบผ่าน" หลังบริหารงานมาได้ 4-5 เดือน แต่สำหรับอดีตนักเขียนการ์ตูนชื่อดังในนาม "อู๊ดด้า" แล้ว เขากลับออกตัวว่าหน้าที่นี้เป็นของประชาชนคนไทย

"ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะประเมินตัวเองได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ประเมิน มีหลายเรื่องก้าวหน้า มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน นี่เป็นครั้งแรก มีปัญหาบ้าง แต่ทุกอย่างแก้ไขได้ และประชาชนไม่ต้องห่วงกลัวถูกยกเลิกในปีต่อไป ผมยืนยันว่าในปีการศึกษา 2553 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี เอาไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท"

ก้าวต่อไปของรัฐมนตรีหนุ่มเมืองพังงา วาดฝันเอาไว้ว่า จะเปิดเกมรุกเดินเครื่องปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เต็มสูบหลังจากประเมินแล้วว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกหลัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้นั้น เป็นเพียงแค่การปรับโครงสร้าง มากกว่ามุ่ง "คุณภาพการศึกษา"

4 มิถุนายน 2552 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็นเจ้าภาพระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อหารูปแบบที่ชัดเจนว่า ก้าวต่อไปของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะไปถึงเป้าหมายคือ "คุณภาพการศึกษา" ได้

โมเดลปฏิรูปการศึกษารอบ2 เป้าหมายใหญ่คือ "คุณภาพ" ต้องแปลเป็นแนวปฏิบัติไม่ใช่แค่ความฝัน คุณภาพไล่เรียงมาตั้งแต่ระดับอนุบาล การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งหมดนี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

"การศึกษาขั้นพื้นฐานจะเน้น 8 สาระวิชา แต่ 5 วิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เด็กไทยสอบตกหมด ต้องกำจัดจุดอ่อนนี้ให้หมดสิ้น เวลานี้มีแผนมาแล้ว เช่น สังคมศึกษาก็แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาษาอังกฤษทำมา 3 ปี คะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และไอที ต้องมีแผนพัฒนา รวมถึงการพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร และพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย"

เหนืออื่นใดเมื่อเรียนถึงชั้นม.3 เด็กต้องมีทางเลือกมากขึ้น อาจจะเรียนต่อสายสามัญ หรือสายอาชีพที่เด็กถนัด เมื่อเรียนจบแล้วสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม

"ครูแนะแนวจะมีบทบาทสำคัญมากเมื่อเด็กเรียนถึงชั้นม.3 ผมอยากให้สัดส่วนเด็กเรียนต่อระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพเท่าๆ กัน คือ 50 ต่อ 50 ไม่ใช่ 60 ต่อ 40 เช่นทุกวันนี้ ผมสนับสนุนให้เรียนปวช.,ปวส. มากขึ้น เมื่อเด็กเรียนม.6 ครูแนะแนวจะต้องดูแลใส่ใจเด็กว่าแต่ละคนจะพัฒนาศักยภาพด้านไหนได้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการศึกษาแบบคอขวด ที่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ปีนี้ผมทำเยอะ เปิดช่องให้กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ถึง 400 สาขาขาดแคลน เรียนจบแล้วมีงานรองรับจริง"

กระนั้นเวลา 5 วันตามระบบราชการไทย ดูเหมือนว่าไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนภารกิจด้านการศึกษาชาติได้ ดังนั้นแม้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมักจะถูกเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าร่วมประชุม หาทางแก้ไขปัญหาการศึกษารายวันอยู่บ่อยๆ ท่ามกลางกระแสข่าวอาจจะมีการย้ายฟ้าผ่า "5 เสือศธ." คนใดคนหนึ่ง ที่เล่นบทเป็นไอ้เข้ขวางคลอง มากกว่าให้ความร่วมมือ

"ผมมีความสุขที่ได้ทำงานด้านการศึกษา แม้ไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่งานการศึกษาเป็นงานสร้างคน สร้างชาติจริงๆ 4 เดือนผมทำงานได้เยอะภายใต้กลไกของระบบราชการที่มีความจำกัด ผมไม่มีความคิดจะย้ายคน ผมคิดแต่ว่าจะบริหารจัดการคนคุณภาพกระทรวงศึกษาฯ ให้ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาของชาติได้อย่างไร" รมว.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

ครม.อนุมัติร่างพรบ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

คมชัดลึก : นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(ฉบับที่ ..)พ.ศ… . ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป ทั้งนี้กระทรวงการคลัง เสนอว่า จากแนวทางตามมติครม.เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2551 และ 13 พ.ค. 2552

มีวัตถุประสงค์ให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้กู้ยืมเงิน แก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ ระหว่างศึกษา จึงต้องเพิ่มบทบาทภาระหน้าที่ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการกองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต โดยการให้กู้ยืมแก่นิสิตหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐด้านการศึกษา และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมติครม.ดังกล่าว จึงควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาพ.ศ. 2541

โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ 1 .เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การให้กู้ยืม แก่นิสิตหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ 2 .เพิ่มอำนาจของกองทุนในการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององทุน และระดมเงินทุน โดยการกู้ยืมเงิน การออกตราสารหนี้ และการแปลงสินทรัพย์เนหลักทรัพย์ พร้อมทั้งจัดระบบบัญชี เพื่อรองรับกิจกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น 3 .แก้ไของค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน 4 .แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน และกำหนดให้เป็นผู้แทนของกองทุน ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก 5 .แก้ไของค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการบัญชี 6 .แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม โดยตัดเรื่องการดำเนินคดีไปกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ และ 7 .เพิ่มเติมเงื่อนไขการระงับหนี้เงินกู้ยืม

สพฐ.เผยผลการเรียนเด็ก3จว.ใต้ดีขึ้น

คมชัดลึก :สพฐ.เผยผลการเรียนเด็ก3 จ.ชายแดนภาคใต้ ดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังรอบปีที่ผ่านมาใความสงบมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2552 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า รอบปี 2550 ที่ผ่านมา มีความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ร.ร.จึงสามารถเปิดสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปีการศึกษา 2551 ดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2550 ยืนยันได้จาก คะแนนสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน หรือ National test (NT) หรือคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ (O-NET) เฉลี่ยระดับเขตพื้นที่การศึกษาที่สูงขึ้นเกือบทุกวิชาในทุกช่วงชั้น คือ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6

ทั้งนี้ ระดับชั้น ป.3 เป็นการเปรียบเทียบผลการจัดสอบ NT ซึ่งสอบทั้งหมด 2 วิชาคือ ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ พบว่า คะแนน NT ของ สพท. นราธิวาส เขต 1 นราธิวาส เขต 3 ปัตตานี เขต 3 และ ยะลา เขต 3 ทำคะแนนดีขึ้น ทั้ง 2 วิชา ส่วน ระดับชั้น ป.6 ซึ่งมีการสอบ NT ในปี 2550 และสอบ O-NET ปี 2551 ทั้งหมด 5 วิชา คือ ไทย คณิตศาสตร์ วิทยศาสตร์ อังกฤษและสังคมศึกษา พบว่า 4 เขตพื้นที่ เช่น นราธิวาส เขต 1 นราธิวาส เขต3, ยะลาเขต 1 และยะลาเขต 3 มีคะแนนดีขึ้น 4 วิชา ยกเว้นวิชาภาษาไทย

เลขาธิการกพฐ. กล่าวอีกว่า ระดับ ม.3 เป็นการเทียบระหว่าง NT ในปี 2550 กับคะแนน O-NET ในปี51 ซึ่งสอบทั้งหมด 5 วิชา คือไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ พบว่า นราธิวาสเขต 1 และเขต 3 ทำคะแนนดีขึ้น 4 วิชา ยกเว้นภาษาไทย แต่นราธิวาส 2 ไม่มีคะแนนวิชาใดดีขึ้น ขณะที่ ยะลา เขต 1 และยะลา เขต 3 ดีขึ้นทุกวิชายกเว้นภาษาไทยเช่นกัน แต่ยะลา เขต 2 ดีขึ้นเฉพาะวิทยศาสตร์ และสังคม ส่วนปัตตานี เขต 1 ทำคะแนนดีขึ้น ในวิชา วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและภาษาอังกฤษ ปัตตานี เขต 2 ไม่มีวิชาใดคะแนนดีขึ้น และปัตตานี เขต 3 ทำคะแนนดีขึ้น ในวิชาวิทยาศาสตร์

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อไปว่า ระดับ ม. 6 สอบ 5 วิชา คือ ไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ โดย นราธิวาส เขต 1 และนราธิวาส เขต 1 ทำคะแนนดีขึ้นวิชาเดียว คือ คณิตศาสตร์ นราธิวาส 3 ทำคะแนนวิชาวิทยศาสตร์และอังกฤษ ดีขึ้น ส่วน ปัตตานี เขต 1 ทำคะแนนดีขึ้นวิชาเดียว คือ คณิตศาสตร์เช่นกัน ปัตตานี 2 และ 3 ทำคะแนนดีขึ้นในวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ยะลา เขต 1 ยะลา เขต 3 ทำคะแนนดีขึ้น ในวิชา คณิตศาสตร์ ยะลา เขต 2 ทำคะแนนดีขึ้น ในวิชา วิทยาศาสตร์

“รอบปีที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้ได้เกิดความสงบมากขึ้น ร.ร.เปิดสอนได้มากขึ้น ครูมีเวลาอยู่ในร.ร.เต็มที่ขึ้น เด็กจึงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กในภาคใต้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่สุดในประเทศ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้จัดทีมเจ้าหน้า 3 ทีม ลงไปใน 9 เขตพื้นที่การศึกษา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามหลังเปิดภาคเรียน พบว่า ทั้ง 3 จังหวัดได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้ว่าราชการจังหวัด กองกำลังที่ดูแลความสงบในพื้นที่เป็นอย่างดีมาก ” เลขาธิการกพฐ. กล่าว

Tuesday, June 2, 2009

"iRAP RIDER"พระนครเหนือคว้าแชมป์หุ่นยนต์มหา'ลัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (30 พ.ค.) ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 รอบชิงชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษาและยุวชน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ระดับอุดมศึกษา ยุวชน และ TPA PLC Competition


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (30 พ.ค.) ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 รอบชิงชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษาและยุวชน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ระดับอุดมศึกษา ยุวชน และ TPA PLC Competition



สำหรับการแข่งขันยุวชน กรังด์ปรีซ์ ระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนเข้าร่วม 224 ทีม จาก 103 โรงเรียน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์เล่นยิมนาสติก หุ่นยนต์อัศวิน และหุ่นยนต์เล่นละคร ในแนวคิดหุ่นยนต์เที่ยวไทย นอกจากนี้ ยังมี TPA PLC Competition การแข่งขันหุ่นยนต์ทอยหลุม ที่มีนักศึกษาเข้าร่วม 63 ทีม จาก 33 สถาบัน เป็นการนำแนวคิดเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านมาประยุกต์เข้ากับการแข่งขัน

ส่วนการแข่งหุ่นยนต์ระดับอุดมศึกษา ถือว่าเป็นไฮไลท์ เนื่องจากเป็นการหาทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับนานาชาติ ABU ROBOT CONTEST ซึ่งทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ คือ ทีม iRAP RIDER จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยต้องรอแข่งกับทีมจากอาชีวะอีกครั้งในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ที่เมืองทองธานี เพื่อลุ้นเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อเกมว่า “ร่วมตะลุยลั่นกลองชัย” หรือ Travel Together for the Victory Drum



ทีม iRAP RIDER เล่าถึง เทคนิคการคว้าแชมป์ ว่า ใช้เวลาเตรียมตัวกว่า 1 เดือน ซ้อมเกี่ยวกับความเร็ว รวมทั้งปรับปรุงเทคนิคการบังคับ สำหรับการแข่งครั้งนี้ต้องบังคับหุ่นยนต์ออโต้และหุ่นบังคับมือ ให้ร่วมเดินทางฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ พาผู้โดยสารข้ามภูเขาไปตีกลองชัยภายในเวลา 3 นาที ทีมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น ความเร็วจึงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอแข่งกับทีมจากอาชีวะ คงต้องปรับปรุงเทคนิคการบังคับหุ่นให้ง่ายและฝึกความเร็วควบคู่ไปด้วย



สำหรับผลการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชน กรังด์ปรีซ์ 3 ประเภท คือ หุ่นยนต์เล่นละครเที่ยวไทย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SKN-3 โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ประเภท Robo Knight 2552 ได้แก่ ทีม Wonderer โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ประเภทหุ่นยนต์ยิมนาสติก ได้แก่ ทีมลูกแม่รำเพย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ประเภท TPA PLC Competition หุ่นยนต์ทอยหลุม หรือ ROBO Pitch&Toss 2009 ได้แก่ ทีมก้านกล้วย จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งหมดจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล.

ออมสินปรับเกณฑ์เพิ่มเงินกู้ครู 6 แสนเปิดช่องรีไฟแนนซ์

คมชัดลึก : ออมสิน เพิ่มวงเงินกู้ครูสูงสุดรายละ 6 แสน จากเดิม 2 แสนบาท พร้อมคิดดอกเบี้ยแบบคืนกำไรแค่ 5.85% ต่อปี ให้สิทธิ์ทั้งสมาชิกใหม่และลูกหนี้รีไฟแนนซ์ เริ่มเปิดให้กู้ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเปิดให้บริการสินเชื่อสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาโครงการที่ 5 ภายใต้ชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไข เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิก ช.พ.ค. ด้วยวงเงินกู้สูงสุด 6 แสนบาท จากเดิม 2 แสนบาท พร้อมขยายระยะเวลาชำระคืนเงินนานถึง 10 ปี คิดดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5.85% ต่อปี

ทั้งนี้มีเงื่อนไขเพียงผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค.ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค.ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ โดยใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ขณะที่สมาชิก ช.พ.ค.ในโครงการ 1-4 ยังสามารถยื่นกู้เพื่อไถ่ถอนหนี้จากสถาบันการเงินอื่นหรือหนี้นอกระบบ (รีไฟแนนซ์) เพื่อมาเข้าโครงการ 5 ได้ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บุคลากรทางการศึกษา เพื่อคลายกังวลในการดำรงชีพอีก ทั้งยังสามารถนำไปเสริมรายได้ ชำระหนี้สินอื่นๆ และยังนำไปเพิ่มพูนความรู้เพื่อตัวเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการศึกษาของชาติต่อไป

ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค.กว่า 7.24 แสนราย ตั้งแต่เปิดโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.มาตั้งแต่ปี 2548 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 226,659 ราย ส่วนสมาชิกผู้ที่สนใจ สามารถยื่นความจำนงได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แฉ!นศ.เป็นหนี้หอพัก3.5ล.

คมชัดลึก : ผศ.ชูชัย ต.ศิริวัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน กล่าวถึงการโอนเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้แก่นักศึกษาว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับเงินส่วนค่าครองชีพแล้ว แต่การโอนเงินค่าครองชีพตามวันเกิดนั้น บางคนนำไปเลี้ยงฉลองวันเกิด เลี้ยงเพื่อน จึงอยากให้เปลี่ยนการโอนเงิน กยศ.อาจโอนต้นเดือนให้นักศึกษา เพื่อรู้จักวางแผนใช้จ่ายเงิน

ผศ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ปีการศึกษา 2552 นักศึกษา มทร.อีสานทั้ง 5 วิทยาเขต ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ขอนแก่น และสกลนคร ยื่นกู้ กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมผูกขาดรายได้ในอนาคต (กรอ.) ทั้งหมด 9,534 คน ประมาณ 46.63% ของนักศึกษาทั้งหมด 20,336 คน แต่มีผู้กู้ยืมได้ 8,260 คน มหาวิทยาลัยเตรียมการช่วยเหลือ เช่น ให้ผ่อนผันค่าลงทะเบียน มีทุนการศึกษา จ้างงาน หางานให้ทำ

"นักศึกษาได้ค่าครองชีพ 2,000 บาทต่อเดือน ไม่พอใช้จ่าย และค่าหอพัก ทำให้มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งยังไม่จ่ายค่าหอพักให้แก่มหาวิทยาลัยรวมเป็นเงิน 3.5 ล้านบาท จึงอยากให้เพิ่มค่าครองชีพให้แก่นักศึกษาที่อยู่หอพัก" ผศ.ชูชัยกล่าว

จุรินทร์จี้โรงเรียนเอกชน คืนค่าเทอมผู้ปกครอง

รมว.ศึกษาธิการสั่งการ สช.ประสานโรงเรียนเอกชน และอาชีวศึกษาเอกชน ให้คืนเงินผู้ปกครอง หลังพบว่ายังเรียกเก็บในอัตราเดิม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าววันนี้ (1 มิ.ย.) หลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยให้ สช.ประสานกับโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน ให้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในส่วนค่าเล่าเรียน ให้โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุน เป็นค่าใช้จ่ายรายหัว ในการจัดการศึกษา เพิ่มขึ้นจากเดิม 60% เป็น 70% แต่ที่ผ่านมา ตนทราบข่าวว่า ยังคงมีโรงเรียนเรียกเก็บเงิน จากผู้ปกครอง ในอัตราเดิม ซึ่งหากเป็นจริง โรงเรียนจะต้องคืนเงินให้กับผู้ปกครอง เพราะการที่รัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ก็เพื่อต้องการลดภาระของผู้ปกครอง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น หากที่ผ่านมา โรงเรียนใดไม่ปฏิบัติ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ขอ ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยผู้ปกครองที่ซื้อชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนแล้ว ให้นำใบเสร็จมาแสดง และให้โรงเรียนจ่ายเงินให้กับผู้ปกครอง พร้อมกันนี้ ยังให้ สช.ติดตาม และเร่งรายงานผลการดำเนินงานโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ หากพบว่ามีสถานศึกษาใด ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ถือว่ามีความผิด และให้ลงโทษตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการยังให้ สช.จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน และอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ พร้อมกับมอบนโยบายโครงการ 3 ดี

จี้ ร.ร.เอกชนคืนเงินผู้ปกครอง

ตามโครงการเรียนฟรี15ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเก็บเงินผู้แกครองเพียง30%ในส่วนของค่าเล่าเรียน แต่ที่ผ่านมา ร.ร.เรียกเก็บเงินในอัตราเดิม ...

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าได้หารือโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยให้ สช.ประสานกับโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน ให้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของค่าเล่าเรียนให้โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครองเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 แต่ที่ผ่านมาตนทราบข่าวมาว่ายังคงมีโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองในอัตราเดิม ซึ่งหากเป็นจริงโรงเรียนจะต้องคืนเงินให้กับผู้ปกครอง

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ส่วนชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน หากที่ผ่านมาโรงเรียนใดไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายก็ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ผู้ปกครองที่ซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนไปแล้วให้นำใบเสร็จมาแสดงและทางโรงเรียนต้องจ่ายเงินให้ผู้ปกครอง พร้อมกันนี้ให้ สช.ติดตามและเร่งรายงานผลการดำเนินงานโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ หากพบว่ามีสถานศึกษาใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายถือว่ามีความผิดและให้ลงโทษตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ให้ สช.จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนและอาชีวศึกษาเอกชนมาประชุม เพื่อทำความเข้าใจนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ พร้อมมอบนโยบายโครงการ 3 ดี.

ก.วิทย์ฯ เตรียมใช้ธีออส ช่วยงานในชายแดนใต้

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตรียมใช้ดาวเทียมธีออส ลดการเกิดเหตุรุนแรง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (1 มิ.ย.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมผู้ใช้ข้อมูล จากดาวเทียมธีออส หรือ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย “ธีออส ดาวเทียมไทย พร้อมใจ ให้บริการ” ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดใช้ข้อมูล อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ขณะนี้ ได้กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ จากภาพถ่ายดาวเทียมธีออส หรือ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกระทรวง โดยมุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมทั้งพื้นที่การเกษตรต่างๆ ล่าสุด ยังมีแผนจัดทำโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ในภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่งคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยจะใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมธีออส และดาวเทียมอื่นๆ บอกรายละเอียดภูมิประเทศของภาคใต้ ทั้งแม่น้ำ บ้านเรือน พร้อมทั้งจะส่งเจ้าหน้าที่สำรวจข้อมูลประชากร เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดปลีกย่อย เกี่ยวกับอาชีพ ศาสนา และจำนวนคน โดยทั้งหมดจะทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของชุมชน ในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชญากรด้วย

"คาดว่าจะนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในเรื่องความมั่นคง จะทำให้ทราบว่าขณะนี้ มีประชากรเท่าไหร่ เชื้อชาติ ศาสนาใด คล้ายๆ สำมะโนครัวประชากร และหากมีปัญหาเรื่องความไม่สงบก็จะสามารถติดตามประชากรที่ต้องสงสัยได้ นอกจากนี้ ยังให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศักยภาพของดาวเทียมธีออสเกี่ยกับการจัดทำ แผนที่ความละเอียดสูง เพื่อนำมาทำเป็นโฉนดที่ดินแบบใหม่แทน น.ส.3 โดยจะมีความละเอียดสูง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ดาวเทียมธีออสยังไม่มีความสามารถในการถ่ายภาพลักษณะดังกล่าว แต่จะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบพิเศษขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านนี้โดยเฉพาะ" คุณหญิงกัลยากล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมธีออส จะมุ่งเน้นภายในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการจัดทำข้อมูลด้านป่าไม้ พื้นที่ไฟป่า นอกจากนี้ ยังมีประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศ ที่สนใจขอรับบริการ ซึ่งล่าสุดมี 7 ประเทศ ที่อยู่ระหว่างติดตั้งสถานีรับสัญญาณภาพจากดาวเทียมธีออส คือ สวีเดน เปรู ฝรั่งเศส จีน นอร์เวย์ บราซิล และเวียดนาม

อดีตรมช.ศธ.จวกเพิ่มเขตพื้นที่ชายแดนใต้เหลว

ขอให้มีการเกลี่ยอัตรากำลังไปยังเขตพื้นที่ฯห่างไกลให้เหมาะสมและติดตามให้ความช่วยเหลือ สพท.ในการทำงานอย่างใกล้ชิด เชื่อจะช่วยแก้ปัญหาได้

ดร. รุ่ง แก้วแดง อดีตรมช. ศึกษาธิการ กล่าววันนี้ (1 มิ.ย.) ว่า ขณะนี้พื้นที่ใน 3จังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างประสบปัญหาด้านการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สมัยที่มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้มีมติเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาใน 3จังหวัดชายแดนใต้อีกจังหวัดละ 1 เขต ทำให้ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีสพท.จังหวัดละ 3 เขต ซึ่งการเพิ่มเขตพื้นที่ฯ ดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดอย่างมากเพราะการแบ่งเขตพื้นที่ใหม่นั้น แบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้พื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและเป็นพื้นที่สีแดงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบถูกจับไปรวมกันอยู่ในเขต 3ของแต่ละจังหวัด

อดีตรมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกรอบอัตรากำลังใน สพท.ที่เพิ่มขึ้นใหม่ก็มีไม่เพียงพอทำให้การทำงาน และการนิเทศก์ติดตามผลการจัดการศึกษาของ สพท.ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเมื่อพื้นที่ดังกล่าวมีสพท.ไปตั้งอยู่ ก็ทำให้ข้าราชการที่จะไปช่วยพัฒนาการศึกษา จากส่วนกลางไม่ค่อยได้ลงไปดูแลในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่ามีผู้อำนวยการ สพท.ดูแลอยู่แล้ว

“เมื่อแบ่งเขตพื้นที่ฯเพิ่มขึ้นมาแล้ว แทนที่การบริหารงานจะดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครเข้าไปเหลียวแลเพราะเข้าใจว่ามี สพท.ไปตั้งอยู่แล้ว ขณะที่ข้าราชการในสพท.ก็ทำงานกันอย่างยากลำบากเพราะอัตรากำลังไม่เพียงพอ อีกทั้งส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวกันอยู่ในเขตพื้นที่ฯในเมือง ทั้งที่งานของ สพท.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ลดน้อยลงไปกว่า 80% เพราะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งเป็นสถานศึกษาส่วนใหญ่ในพื้นที่ไปขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ดังนั้นจึงควรเกลี่ยอัตรากำลังจาก สพท.ในเมืองมายัง สพท.ที่อยู่ห่างไกล และศธ.ยังคงต้องเอาใจใส่ดูแล สพท.ที่อยู่ห่างไกลเป็นพิเศษเหมือนที่ผ่านมา” ดร. รุ่ง กล่าว

ดร.รุ่ง กล่าวด้วยว่า แม้การเพิ่ม สพท.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่การจะกลับไปใช้ สพท.เท่าเดิม หรือแบ่งเขตใหม่นั้น ก็เหมือนการปรับโครงสร้างที่ไม่สิ้นสุด จึงขอให้มีการเกลี่ยอัตรากำลังไปยังเขตพื้นที่ฯห่างไกลให้เหมาะสมและติดตามให้ความช่วยเหลือ สพท.ในการทำงานอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้

เผยนร.-นศ.กว่า 8 แสนแห่ยื่นขอกู้เงิน กยศ.

ผจก.กยศ.เผย 3 เดือน มีนักเรียน-นักศึกษาขอยื่นกู้เงินแล้ว 824,000 ราย จากเป้าหมายให้กู้ได้ 980,000 ราย เตือนหมดเขตขอกู้ได้ 10 มิ.ย.นี้ ก่อนหมดสิทธิ์...

นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าววันนี้ (1 มิ.ย.) ว่า หลังจาก กยศ. เปิดให้นักเรียนนักศึกษายื่นคำร้องขอกู้เงิน กยศ. ผ่านระบบ e-Studentloan ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-10 มิ.ย.นี้ ปรากฏว่าถึงขณะนี้ มียอดผู้ยื่นกู้ทั้งรายเก่า และรายใหม่จำนวน 824,000 ราย และน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าปีนี้จะมีผู้กู้ทั้งสิ้น 980,000 ราย

ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กยศ. ได้เริ่มทยอยโอนเงินให้กับผู้กู้ในระดับชั้นมัธยมปลายตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลายร้อยล้านบาท ส่วนระดับอุดมศึกษา กยศ.จะเริ่มโอนเงินให้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม เหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน จะหมดเขตยื่นคำร้องขอกู้จึงขอให้นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็น เร่งดำเนินการยื่นคำร้อง เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสทางการศึกษา

สำหรับสัดส่วนของผู้กู้ระดับชั้นมัธยมปลายกับระดับอาชีวศึกษา นพ.ธาดา กล่าวว่า เป็นไปตามนโยบายที่วาง ไว้ คือ มีจำนวนผู้กู้ใกล้เคียงกัน ส่วนกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) นั้น จะเริ่มเปิดให้กู้หลังจากดำเนินการปล่อยกู้ กยศ. เสร็จสิ้นแล้ว

ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวถึงการจัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี ประจำปีงบประมาณ 2552 สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่ได้ชำระหนี้ กยศ. ติดต่อกัน 5 ปี หรือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้รุ่นปี 2542 - 2548 ว่า ขณะนี้ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้กู้ยืมที่ค้างชำระเข้าโครงการไกล่เกลี่ยฯ ทั้งหมด 29,000 ราย ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าหนี้ทั้งสิ้น 3,011 ล้านบาท จากปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 7,000 ราย ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินโครงการนี้มีความคุ้มค่า เพราะยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องส่งฟ้องดำเนินคดีผู้กู้รายละประมาณ 5,000 บาท หรือรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่โดยภาพรวม ถือว่าผู้กู้มีความตระหนักต่อหน้าที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ชำระหนี้ปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 73 ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 70

Monday, June 1, 2009

'ดร.รุ่ง'สวดการศึกษาไทยมาตรฐานตํ่า

ที่โรงแรมอมารีออคิด รีสอร์ทฯ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. มีการจัดเสวนาเรื่อง “การศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำ และมีความอ่อนแอตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา “ทุกครั้งที่เกิดอะไรกับประเทศไทย การศึกษาจะตกเป็นจำเลยทุกครั้ง แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าคุณภาพการศึกษาไทยทั้งต่ำและเตี้ยคู่กันจริง ๆ เราอ่อนแอตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษาทุกวันนี้แต่ละมหาวิทยาลัย เหมือนแค่ร้านสะดวกซื้อที่ไม่ได้สอนคนแต่มีไว้ขายปริญญา มีการเปิดศูนย์สาขาขยายไปทั่ว บางแห่งก็ไปเช่าสถานที่โรงเรียนประถมหรือโรงแรม และมีการพูดกันว่าหากใครอยากได้ปริญญาโทก็จ่าย 1 แสน จ่ายครบจบแน่ ส่วนระดับปริญญาเอกก็ 3 แสนบาท และบางแห่งยังมีเงินให้กู้เรียนได้อีกด้วย ซึ่งผมกำลังคิดว่าจะฟ้องศาลปกครอง เพราะหากเราปล่อย ให้สถาบันเหล่านั้นผลิตคนไม่มีคุณภาพ ออกมาก็จะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมาก”

ดร.รุ่ง ยังกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 มีอุปสรรคสำคัญคือ การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่ได้มีการให้ความรู้แก่นักการเมือง ทำหลายเรื่องพร้อมกันมากเกินไป ขาดผู้นำที่เข้มแข็งและที่สำคัญมีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนทำ ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่จะทำใหม่นั้น ตนเห็นว่าจะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังของประชาสังคมจะดีกว่า เพราะเราตั้งความหวังกับการเมืองไม่ได้แล้ว เพราะระบบการเมือง ในบ้านเราตายหมดแล้วในทุกระดับตั้งแต่การเมืองระดับชาติถึงการเมืองระดับท้องถิ่นและเหม็นเน่าด้วย ส่วนระบบราชการก็ตายแล้วเช่นกันไม่ว่าทุ่มเงินลงไปเท่าใดก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

ขณะที่ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในฐานะกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับครู แต่ตนหมดหวังกับระบบการผลิตและพัฒนาครูของเรา อีกทั้งระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูก็ล้มเหลว มีการวิ่งเต้นกันแหลกลาญ กว่าร้อยละ 80 เป็นการวิ่งเต้นทั้งหมด ทั้งการวิ่งเต้นจากผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ ข้ามทั้งระบบและไม่ใช้หลักคุณธรรม หรือการวิ่งเต้นย้ายครูข้ามโรงเรียน ข้ามเขตพื้นที่ฯ ส่วนที่เป็นปัญหามานานคือการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ 2 ขั้น รวมถึงการทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทย ฐานะก็มีการพัฒนา จากเมื่อก่อนใช้วิธีจ้างทำ ก็มาเป็นการวิ่งเต้นกับผู้อ่านผลงานวิชาการเพื่อให้ผ่านการพิจารณา แต่ปัจจุบันไปไกลถึงขนาดที่ผู้ตรวจผลงานเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไปถามเองเพื่อเรียกร้องเงินทอง หากเราไม่ทบทวน สิ่งเหล่านี้ก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของครูที่ดีและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา

“ผมอยากเสนอว่าการให้ความก้าวหน้าแก่ครู ควรวัดจากผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับตัวนักเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ครูต้องใส่ใจกับคุณภาพการสอน อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู เช่น ผู้ที่จบหลักสูตรครู 6 ปีจะได้ค่าตอบแทนเท่ากับหมอ เป็นต้น” ศ.ศรีราชากล่าว.

มมร.ตั้งรร.สาธิตอุ้มเด็กจน

พระศรีญาณโสภณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า ตามที่ มมร.ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือเด็กที่มีฐานะยากจน โดยส่งให้ไปบวชเรียนตามโรงเรียนพระปริยัติธรรมต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าผู้เรียนส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบแล้วต้องการได้รับปริญญา โดยไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่ง มมร.เห็นว่าหากมีการตั้งโรงเรียนขึ้นมาเองจะทำให้มีความสะดวก และนักศึกษาพระได้เรียนตรงสายมากขึ้น ดังนั้น มมร.จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิต มมร. ขึ้น โดยเปิดสอนทั้งแผนกสามัญศึกษา และแผนกธรรม-บาลีควบคู่กัน ซึ่งผู้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะเป็นโครงการที่ต้องการช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้รับการศึกษา และเมื่อจบชั้นม.6 ก็จะเปิดโอกาสให้เข้าไปศึกษาต่อใน มมร.ด้วย

พระศรีญาณโสภณ กล่าวต่อไปว่า ในปีการศึกษา 2552 นี้เป็นปีแรกที่โรงเรียนสาธิต มมร.เปิดทำการสอน โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 60 รูป จัดการสอนตั้งแต่ระดับชั้น ม.1-ม.6 ทั้งสายสามัญฯ และธรรม-บาลี แบ่งเป็นสายสามัญฯ 3 ชั่วโมง และธรรม-บาลี อีก 3 ชั่วโมง ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม นอกจากนี้จะมีการสอนแนวทางการเทศน์ การจัดรายการวิทยุธรรมะ สอนการพูดภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีรายวิชาที่ให้นักเรียนออกไปฝึกประสบการณ์ในการเทศน์สั่งสอนด้วย เพราะปัจจุบันจำนวนพระนักเทศน์ที่เก่ง ๆ มีจำนวนลดลง.

ศธ.เร่งยุทธศาสตร์3ดีปั้นคนไทยในอนาคต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการ 3 ดี (3D) ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดีใน 3 ด้าน คือ สำนึกในความเป็นประชาธิปไตยและต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง มีคุณธรรมจริยธรรม และไม่เสพยาเสพติดทุกชนิด ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รายงานผลการสำรวจ นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า นักเรียน ร้อยละ 63 รู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนดี อย่างไรก็ตามเป้าหมายของนโยบาย 3 ดี คือ เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในทุกระดับชั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สกศ.ไปสำรวจนักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียนเพิ่มเติม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปจัดทำร่างยุทธศาสตร์ 3 ดี ที่ระบุเป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ว่า แต่ละด้านจะพัฒนาคนอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของ ศธ.ที่ต้องการผลิตผู้เรียนทุกระดับและประเภทการศึกษา ให้เป็นคนดี มีความสุข และภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยให้นำเสนอที่ประชุมองค์กรหลักในการประชุมนัดหน้า จากนั้นให้นำร่างยุทธศาสตร์ไประดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมเห็นชอบและให้ทุกหน่วยงานนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีการศึกษา 2552 นี้

“ในเร็ว ๆ นี้ผมจะกราบนมัสการครูพระที่สอนศีลธรรมในสถานศึกษา ที่มหาวิทยา ลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อที่จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนครูพระในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น รวมทั้งจะส่งเสริมการสอนศีลธรรม จริยธรรมให้เพิ่มขึ้นในทุกมิติด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว.

ปรับเกณฑ์คัดเลือกผอ.-รอง ผอ.รร.ลดคะแนนภาค ก.จาก60%เหลือ50%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติปรับหลักเกณฑ์การ คัดเลือกผู้อำนวยการ (ผอ.) และ รอง ผอ.สถานศึกษาทั่วประเทศใหม่ จากเดิมที่กำหนดการสอบคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 ภาค เริ่มจากการสอบภาค ก.ที่จัดสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วคัดเลือกผู้สอบผ่านขึ้นบัญชีไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ใดมีตำแหน่งว่างก็จะจัดสอบภาค ข. และ ค. ใน สพท.นั้น โดยให้ผู้ที่ขึ้นบัญชีภาค ก. เท่านั้นที่จะมีสิทธิสมัครสอบ ปรับเป็นให้ผู้สมัครสอบตำแหน่ง ผอ. และรอง ผอ.สถานศึกษา ระบุพื้นที่ที่ต้องการไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เริ่มสมัคร โดยยึดจังหวัดเป็นหลัก เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครเลือกบรรจุในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะมีคู่แข่งน้อยลง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมามีบางสพท.ไม่มีผู้สมัครสอบไปประจำในเขตพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่พิเศษที่มีปัญหา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการสถานศึกษามาก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ยังได้พิจารณาปรับเกณฑ์การสอบภาค ก.ลง จากเดิมกำหนดว่าต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 50 ทั้งระบบ เพื่อให้มีผู้ผ่านการทดสอบภาค ก.มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาขาดแคลน รอง ผอ.สถานศึกษาในหลายพื้นที่ เนื่องจากผู้สมัครไม่ต้องการบรรจุข้ามภูมิภาค อีกทั้งมีผู้สมัครจำนวนมากที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ภาค ก. อย่างไรก็ตามการลดเกณฑ์ภาค ก.ลงมานั้น จะไม่ส่งผลต่อมาตรฐานและคุณภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษา อย่างแน่นอน เพราะการสอบภาค ก.เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น แต่ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องผ่านการทดสอบภาค ข. และ ค. ซึ่งเป็นเรื่องของการทดสอบการปฏิบัติงานบริหาร ซึ่งใน 2 ภาคนี้จะไม่มีการปรับลดเกณฑ์ลงมาอย่างเด็ดขาด.

"ธงทอง"เตรียมจัดโฟกัสกรุ๊ปเคาะปัญหา อ.ค.ศ.เขตพื้นที่

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “องค์กรครู : องค์กรเพื่อพัฒนาครูและการศึกษาของชาติ” ใน 4 ภูมิภาค ที่ผ่านมา นอกจากมีการพูดถึงมีการจ่ายเงินหลายแสนบาท เพื่อแลกกับการเข้ามาเป็นผู้แทนครูในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว ยังพบว่าผู้เข้าร่วมเสวนาในหลายเวทีได้สะท้อนปัญหาในการทำหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในเชิงระบบมากกว่า เช่น เรื่องความสัมพันธ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ซึ่งจะมีผู้แทน ก.ค.ศ.จากส่วนกลางมานั่งเป็นกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ด้วย แต่พอถามเรื่องที่เป็นปัญหาผู้แทน ก.ค.ศ.กลับไม่กล้าตัดสินใจต้องรอถามจากส่วนกลางที่ต้องใช้เวลานานกว่า 6-7 เดือนจึงจะได้รับคำตอบ ซึ่งทำให้ระบบการทำงานล่าช้ามาก เป็นต้น ทั้งนี้ สกศ.จะประมวลปัญหาและความคิดเห็นต่าง ๆ มาประชุมโฟกัสกรุ๊ปหรือเสวนากลุ่มย่อยผู้ที่มีความสันทัดในเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อหาทางแก้ปัญหา ก่อนสรุปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป.

สพฐ.สั่งขยายผลเรียนฟรีจริงๆเขตละ 1 โรง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 185 ทั่วประเทศว่า ถึงแม้การดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะเป็นไปด้วยดี แต่ผอ.สพท.ยังคงต้องช่วยกันดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียนและผู้ปกครองต่อไป เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนมาที่สายด่วนการศึกษา 1579 ค่อนข้างมาก และจากการตรวจสอบพบว่ามีกว่า 70 โรงที่ถูกร้องเรียน จึงอยากให้ทุก สพท.ลงไปตรวจสอบด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนที่เรียกเก็บเงินเพิ่มแบบไม่มีเหตุมีผล แม้ สพท.จะอนุมัติให้จัดเก็บ ก็ต้องมีการทบทวน เพราะหาก สพฐ.ไม่เอาจริงในเรื่องนี้ ปีต่อไป โรงเรียนอาจมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มมากขึ้นแบบมโหฬารก็ได้

“ขณะนี้ สพฐ.ได้นำร่องโรงเรียนเรียนฟรีแล้ว 4 โรงในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รร.ทวีวัฒนา รร.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ รร.พุทธจักรวิทยา และ รร.สวนอนันต์ โดยจัดงบฯ ให้โรงละ 2 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนด้านคอมพิวเตอร์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างครู ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียนเลย จึงอยากให้ สพท.ทั่วประเทศขยายผลนำร่องเขตพื้นที่ละ 1 โรงในปีการศึกษา 2553 เพื่อให้มีการเรียนฟรีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ยังมีการเก็บค่าใช้จ่ายอยู่ซึ่งมีประมาณ 300-400 โรง” เลขาธิการกพฐ. กล่าว

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการรับนักเรียนนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ มีความเป็นห่วงเรื่องการเลื่อนชั้นของนักเรียน ม.4 เนื่องจากปีนี้มีปัญหามากกว่าทุกปี เพราะได้มีการกำหนดในระเบียบให้โรงเรียนพิจารณาตามศักยภาพ ทำให้หลายโรงเรียนกำหนดเกรดเฉลี่ยที่สูง โดยบางโรงกำหนดไว้ที่ 2.5 ขณะที่บางโรงกำหนดสูงถึง 3.5 เพราะโรงเรียนอาจจะกลัวว่าหากเก็บเด็กอ่อนไว้จะมีผลต่อการประเมินโรงเรียน หรือการให้เด็กเลื่อนชั้นอัตโนมัติอาจทำให้เด็กที่ไม่สนใจเรียนสร้างปัญหาให้โรงเรียนก็ได้ เป็นต้น ดังนั้น สพฐ. จะมีการทบทวนนโยบายการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2553 โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา แต่คงไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่เคร่งครัดจนเกินไป.

เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เกาหลีที่วิทยาลัยนานาชาติม.บูรพา

คมชัดลึก :"นักเรียนที่มาเรียนที่นี่จะได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติอย่างลึกซึ้ง เพราะมีนักเรียนต่างชาติมาเรียนถึง 10 ประเทศ เป็นประเทศจีนมากที่สุด นอกจากนี้ยังมี อิตาลี สหรัฐอเมริกา เวียดนาม เกาหลี ภูฏาน ใต้หวัน คาซัคสถาน เป็นต้น

และทุกๆ ปีเราจะมีโครงการแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาไปเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษายังประเทศที่ลงนามร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ประมาณ 1 เทอม โดยสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตมาเรียนต่อที่ประเทศไทยได้ประมาณ 3 หน่วยกิต ซึ่งทำมาแล้ว 2 ปี" รศ.ดร.เรณาพงษ์เรืองพันธุ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว

ล่าสุดได้ส่งนักศึกษาไทยไปเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมในโครงการThai-Korean Global Business Leadership Camp (GBLC) ที่ Chungnan National University (CNU) จำนวน 15 คน ซึ่งในการคัดเลือกได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 ทั้ง 540 คน เข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ จากนั้นจะมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่มีทักษะการสื่อสารภาษาได้ดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.เรณากล่าวว่า การส่งนักศึกษาไปเรียนรู้-ภาษาและวัฒนธรรมในต่างประเทศ ประสบผลสำเร็จมากนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกลับมาแล้ว กล้าพูด กล้าแสดงออก และเข้าถึงความแตกต่างของอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในการทำงานในชีวิตจริง ซึ่งรุ่นแรกจบไปแล้ว 25 คน ส่วนใหญ่ก็จะมีงานทำทุกคน ที่สำคัญนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติทุกคนสามารถเลือกเรียนภาษาต่างๆได้ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถไปทำงานได้ในหน่วยงานระดับสากล

"การ์ตูน" พิมพ์ใจ เลิศศรีสุวัฒน์ เจ้าของเกรดเฉี่ย3.70 จาก ร.ร.สันติราษฎร์วิทยาลัย กทม. แต่สนใจเรียนนานาชาติ จึงดิ่งมาสอบตรงที่วิทยาลัยนานาชาติ ม.บูรพา ปัจจุบัน "การ์ตูน" เรียนอยู่ปี3 สาขาทักษะการสื่อสารเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็น 1 ใน 15 คนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Thai-Korean Global Business Leadership Camp (GBLC) ที่ Chungnan National University (CNU) ซึ่ง "การ์ตูน" นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของไทย และผลไม้ไทย ที่น่าสนใจให้เพื่อนที่เกาหลีได้รับรู้ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ ชาวเกาหลีจำนวนมาก

การเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยต้องนำเสนอวัฒนธรรมไทยให้แก่เพื่อนๆต่างประเทศรับรู้ และมีการทำกิจกรรมที่เชื่อมสัมพันธ์และแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของภาษาและวัฒนธรรมแต่ละประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและสันติ ทุกคนจะได้ไปนอนค้างที่บ้านบัดดี้ ซึ่งได้จับคู่กันไว้ และนักศึกษาไทยต้องดูแลในกรณีที่เพื่อนๆ นักศึกษาเกาหลีมาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ที่วิทยาลัยนานาชาติ ม.บูรพา ด้วยเช่นกัน

"จูน" จุลลดา แคทเทอรีน แลมเบิร์ต จบจากโรงเรียนนาชาติเซนต์ แอนดรูว์ จ.ระยอง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปีที่ 1 สาขาบริหารธุรกิจ ได้นำเสนอ "กังฟู" ในการโชว์วัฒนธรรมไทยที่เกาหลี ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นที่ยิ่ง ซึ่งเธอบอกว่าการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ทำให้ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของเกาหลีมากมาย และได้รับรู้คนเกาหลีก็สนใจในศิลปวัฒนธรรมและอาหารไทยด้วย ซึ่งเห็นได้จากนักศึกษาเกาหลีที่เข้าร่วมโครงการเดียวกันที่มาเรียนในวิทยาลัยนานาชาติที่ ม.บูรพา เอาใส่ใจกับการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรำไทย การทำอาหารไทย การทำผัดไทย ส้มตำ ต้มยำกุ้ง การร้อยมาลัย และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้"นวดไทย" ที่นำเสนอโดย "แบงค์" ชานนท์ พรชัยเทพินทร์ นักศึกษาปีที่4 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็ได้รับความสนใจเช่นกัน ถึงขั้นว่ามีเพื่อนๆ นักศึกษาเกาหลีหลายคนที่ฟังการนำเสนอแล้ว มาบอกกับ "แบงค์" ว่าให้พาไปนวดไทย เลยทีเดียว ซึ่งสนนราคานวดไทยที่เกาหลีจะอยู่ที่ 1,000-1,500 บาทต่อ 2 ชั่วโมง ขณะที่ถ้านวดที่ประเทศไทยจะจ่ายเพียง 250 บาทเท่านั้น

จะว่าไปแล้ว"ความเป็นไทย" ในทุกมิติ ทั้งภาษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกมาก ซึ่ง "กร" กรกนก สุนทราลักษณ์ นักศึกษาปีที่1 สาขาโลจิสติกส์ บอกว่า เพื่อนๆ ชาวเกาหลีหลายคนต่างพูดตรงกันว่า ภาษาไทยที่ "กร" นำเสนอมีเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ในตัวเอง ที่ไม่มีประเทศใดในโลกทัดเทียมได้

จะว่าไปแล้ววิทยาลัยนานาชาติหลายแห่งภายในประเทศไทย มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับประเทศต่างๆ ที่ลงนามร่วมกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่นักศึกษาแต่ละคนว่าจะมีเป้าหมายในการเรียนรู้อย่างไร ที่สามารถอยู่รอดได้ในสังคมโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ถวายหนังสือสามเณรคนรับมีความรู้-คนให้ก็อิ่มบุญ

คมชัดลึก :ห้องสมุดที่เป็นมาตรฐานมีระบบ มีหนังสือที่มีคุณภาพในโรงเรียนพระปริยัติธรรมยังไม่มี มีเพียงมุมหนังสือเล็กๆเท่านั้น เนื่องจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะสร้างห้องสมุดให้ครบ 400 กว่าแห่งทั่วประเทศหากวัดไหนมีงบประมาณมากและเป็นวัดใหญ่ ก็จะมีห้องสมุดที่ค่อนข้างคุณภาพ

ดร.อำนาจบัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เปิดใจเกี่ยวกับสภาพห้องสมุดในโรงเรียนพระปริยัติธรรม กับสื่อมวลชน ภายหลังพิธีรับมอบหนังสือ ตามโครงการถวายหนังสือสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรม 82 แห่งเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 82 พรรษาณ ห้องสมุดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนังานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่3 แล้วมีโรงเรียนได้รับทั้งหมด 82 แห่ง

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างพศ. ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เพื่อถวายหนังสือที่ดีหลากหลายตรงกับความต้องการของสามเณร ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเคยมีรับสั่งเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมโรงเรียนพระปริยัติธรรมว่า การนำหนังสือมาให้พระภิกษู สามเณร ไม่ควรนำหนังสือที่เป็นแบบเรียน แต่ควรนำหนังสือส่งเสริมความรู้มาให้สามเณรได้อ่าน นายทรงยศสามกษัตริย์ รองผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯเสริม

สามเณรสายชลโสประดิษฐ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดธรรมจักร จ.พิษณุโลกหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าในโครงการเมื่อปีที่ผ่านมาเล่าถึงความรู้สึกที่ได้อ่านหนังสือใหม่ๆว่า เมื่อผมรู้ว่ามีคนจะเอาหนังสือมาให้ผมก็รู้สึกดีใจและคิดส่าผมจะได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการประดิษฐ์ เพราะว่าผมชอบมาก พอได้อ่านผมก็คิดว่าจะลองกลับไปทำดู

ไม่ต่างกับสามเณรบุญหนึ่งอ่อนปัสสา เพื่อนสามเณรร่วมชั้นเรียน รู้สึกดีใจที่พี่ๆเอาหนังสือมาถวายห้องสมุด ทำให้พวกเราได้อ่านหนังสือกัน และมีความรู้สึกที่ดีในการอ่าน มีความสนุกสนานมาก และทำให้เรารู้ว่าหนังสือนี้มันดียังไง และมันเกี่ยวกับอะไรมันมีความสำคัญอย่างไร ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น เราขยันอ่านมากขึ้น

ขณะที่พระครูสุนทรพิมลศีล ประธานศูนย์ประสานงานกลางโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ยอมรับว่า การถวายหนังสือให้สามเณร ทำให้สามเณรมีความรู้ ผู้บริจาคก็ได้บุญด้วย เพราะสามเณรที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กที่เก็บตกจากระบบการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จึงส่งผลให้เด็กที่เข้ามาเรียนมีความหลากหลาย มีคุณภาพน้อย

ยกตัวอย่างเช่นสามเณรที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแม่แตงวิทยา จ.เชียงใหม่อ่านภาษาไทยได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ต้องสอนเสริมภาษาไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หนังสือดีๆที่จะให้เด็กอ่านก็มีน้อย ห้องสมุด บางโรงเรียนมี บางโรงเรียนก็ไม่มี จึงอยากฝากถึงรัฐบาลให้สนุนสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างห้องสมุดตามโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้มีมากขึ้น เพื่อเติมความรู้ให้พระภิกษุ สามเณร ในฐานะศาสนทายาทพระพุทธศาสนา พระครูสุนทรพิมลศีลกล่าว

แนะไทยเลิกคอรัปชั่นชี้ยอดจีพีดีเพิ่มขึ้น3%แนะยึดธรรมาภิบาล

คมชัดลึก : ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เผยต่างประเทศแนะไทยเลิกคอรัปชั่น ชี้ยอดจีดีพีเพิ่ม 3% ระบุผู้บริหาร-บอร์ดต้องบริหารยึดหลักธรรมาภิบาล-โปร่งใส

ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สถาบันจัดโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ซึ่งมีเกณฑ์รางวัลใน 7 หมวด เช่น การนำองค์กร การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด ผลลัพธ์ ฯลฯ โดยให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชน ราชการ และรัฐวิสาหกิจสมัครเข้าร่วมโครงการรับการประเมินเพื่อรับรางวัลทีคิวซี และทีคิวเอ รวมถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนด้วย โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรางวัลทีคิวซี เมื่อปี 2551 เนื่องจากมีระบบบริหารและบริการที่ดี ทั้งนี้ ขณะนี้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการมาก

ดร.พานิช กล่าวต่อว่า องค์กรต่างประเทศแนะนำการประเมินองค์กรในไทย ขอให้ดำเนินการในเรื่องปรับโครงสร้างภาษี แก้ปัญหาคอรัปชั่น และการบังคับใช้ระเบียบกฎหมายให้มีความเสมอภาค โดยเฉพาะหากแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3%

"ปัจจุบันการประเมินองค์กรของประเทศต่างๆ พูดถึงธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหารองค์กรกันมาก ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารองค์กรและผู้บริหารจะควบคุมอย่างไรไม่ให้เกิดการทุจริต มีตัวอย่างบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ ผู้บริหารกู้เงินจำนวนมากไปลงทุนโดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียด แต่นำเงินไปเปิดบริษัทลูก ซึ่งลงทุนกับบริษัทลูกมากกว่าเงินบริษัทแม่ ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการประเมินองค์กรให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น" ดร.พานิช กล่าว

มร.แมค แบนเนอร์ ผอ.ด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรงพยาบาลให้องค์กรภายนอกมาตรวจสอบ เพื่อจะได้รู้ว่าองค์กรดีจริงหรือไม่ และมีข้อบกพร่องตรงไหนเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งเป้าหมายต่อไปจะมุ่งสู่รางวัลระดับประเทศและระดับสากล

ศ.คลินิก นพ.อภิชาติ ศิวยาธร ผอ.ด้านคุณภาพ รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรงพยาบาลยึดหลักความโปร่งใสในการบริหาร พร้อมให้องค์การภายนอกมาตรวจสอบและบริการโดยยึด 1.ความถูกใจโดยมีสถานที่สะอาด สวยงาม พนักงานแต่งกายสะอาด สุภาพ บริการรวดเร็ว พยาบาลและแพทย์พูดจาดี และ 2.ความถูกต้องทั้งการตรวจรักษาและการให้ยา จะมีการตรวจสอบและประเมินตลอดเวลา

ไฟเขียวร่างประมวลจริยธรรมจรรยาครู

คมชัดลึก : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างประมวลมาตรฐานด้านจริยธรรมจรรยา จัดทำขึ้นตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อใช้กับข้าราชการกลุ่มต่างๆ

และเจ้าหน้าที่รัฐประกอบด้วยค่านิยมหลัก 11 ข้อ และให้มีกลไกบังคับใช้โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ.มีหน้าที่ควบคุมกำกับ สอดส่องดูแล หากฝ่าฝืนให้ลงโทษทางวินัยตามความร้ายแรงของความผิด เช่น เพิกถอนใบประกอบวิชาชีพครู

ทั้งนี้ ค่านิยมหลัก 11 ข้อได้แก่ 1.ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ศรัทธาและปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ 2.ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 3.ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่และยึดถือประโยชน์ของผู้เรียนและประโยชน์ส่วนรวมของชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัว หรือส่วนกลุ่ม 4.มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ เสียสละ ปฏิบัติหน้าที่รวดเร็ว โปร่งใส่และตรวจสอบได้ 5.ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

6.ซื่อสัตย์สุจริต ละเว้นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 7.ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง ให้บริการแก่ผู้เรียนและประชาชนโดยมีอัธยาศัยที่ดีและไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 8.ใช้ข้อมูลเอกสารที่ได้มาจากการดำเนินงานเพื่อการในหน้าที่ และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง 9.เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา 10.มีจิตบริการ มุ่งผลสัมฤทธิ์งาน ยึดหลักประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และรักษาคุณภาพและมาตรฐานแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด และ 11.เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของราชการ

ภาพ “ล่วงละเมิด-ค.ควายแข็งแรง”คว้าเหรือญทอง

คมชัดลึก : ภาพ “ล่วงละเมิด-ค.ควายแข็งแรง” คว้ารางวัลศิลปกรรมเด็กเหรียญทองประจำปี 52 “เจ้าของรางวัล”สุดปลื้ม เผยแรงบันดาลใจ เห็นเด็กในชุดนักเรียนสวมหมวกไอ้โม่งถูกล่วงละเมิดผ่านสื่อ จึงอยากตีแผ่สะท้อนปัญหาสังคมไทย “พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ” เสด็จประทานรางวัล 8 มิ.ย. นี้ และแสดงภาพที่หอศิลป์ เจ้าฟ้า

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่ สบศ. ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมและปลูกฝังความรักและความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมด้านทัศนศิลป์ จึงจัดให้มีการประกวดศิลปกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนขึ้นประจำปี 2552 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4

ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดถึง 1,300 ภาพ คณะกรรมการระดับชาติได้ทำการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลจำนวน 52 ภาพ มี 4 ระดับอายุ โดยแต่ละระดับมีผลงานได้รับรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง 1 รางวัล ถือเป็นผลงานที่มีคุณภาพสูงมาก

ดังนี้ ระดับอายุไม่เกิน 8 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ค.ควายแข็งแรง” ของ ด.ญ.ปพิชชารัตน์ ศรีสำอาง โรงเรียนวัดช่างเหล็ก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ระดับอายุ 9-12 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ล่วงละเมิด” ของ ด.ญ.ณัฐริกา จันทร์เณร โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ระดับอายุ 13-16 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “มารผจญ ๒๕๕๒” ของ น.ส.หทัยวรรณ เทพมาลี โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระดับอายุ 17-20 ปีมี 13 รางวัล ซึ่งรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ได้แก่ ภาพ “ลูกคิด” ของ น.ส.จุไฬรัตน์ ขันขยัน โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

อธิการบดี สบศ. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆที่จัดการประกวดในลักษณะนี้จะเน้นให้ความสำคัญในระดับศิลปินเป็นส่วนใหญ่ แต่ สบศ.ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่จัดโครงการเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมเด็กในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม มีผลงานเยาวชนไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปกรรมที่สำคัญของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ด.ญ.ณัฐริกา กล่าวว่า รู้สึกดีใจและตกใจในเวลาเดียวกันเมื่อทราบว่าตนเองได้รับรางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง เพราะไม่คิดว่าจะได้ แรงบันดาลใจในการวาดภาพ “ล่วงละเมิด” ขึ้นมา เนื่องจากเห็นมีภาพล่วงละเมิดนักเรียนตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง พอมีการประกวดศิลปกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน จึงอยากสะท้อนภาพวาดแนวออกมา จึงนำไปปรึกษาอาจารย์สอนศิลปะ อาจารย์ช่วยแนะนำการนำเสนอและเทคนิคต่างๆ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของตนแสดงให้เห็นว่า การที่มีภาพล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยแย่ลงเรื่อยๆ ส่วน อนาคตของอยากเป็นศิลปินวาดภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทย

นายวิเชียร มีนิ่ม อาจารย์สอนพิเศษวิชาศิลปะให้กับ ด.ญ.ณัฐริกา กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับลูกศิษย์ที่เริ่มต้นจากที่ไม่มีพื้นฐานด้านศิลปะมาเลย ใช้เวลาเรียนรู้ 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลศิลปกรรมเหรียญทองมาได้ ซึ่งกว่าจะได้ภาพล่วงละเมิดนี้ ลูกศิษย์ได้มาพูดคุยกับตนว่าอยากวาดสะท้อนปัญหาเช่นนี้ ตนจึงถามกับลูกศิษย์ว่าเคยเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนสวมหมวกไอ้โม่งปิดหน้าปิดตาในโทรทัศน์หรือไม่ ลูกศิษย์บอกว่าเคยเห็น ตนจึงถามว่าทำไมเขาต้องสวมหมวก เด็กตอบว่าเป็นเยาวชนถูกล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ เพราะในสังคมมีคนไม่ดี เขาจึงมีแรงบันดาลใจอยากทำผลงานสะท้อนปัญหาสังคมไทยชิ้นนี้ขึ้นมา ตีความได้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จมาประทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ในวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เวลา 16.30 น. และผลงานทั้งหมด 52 ภาพ และผลงานร่วมแสดงอีกจำนวนหนึ่ง จะเปิดทำการแสดงตั้งแต่วันที่ 9-30 มิถุนายน 2552 ณ หอศิลปะแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ

ม.อุบลฯรับน้องพาเดินเท้าเข้าวัดหนองป่าพง

คมชัดลึก : ม.อุบลจัดรับน้องใหม่ เดินเท้าเข้าวัดหนองป่าพง ปฏิบัติธรรมสอนดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท ระบุไม่นิยมใช้วิธีรับน้องด้วยความรุนแรง คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร รับน้องแบบสร้างสรรค์ ด้วยการนำน้องดำนา วิถีไทย เพื่อนำข้าวที่น้องๆนักศึกษาปีที่ 1 ปลูกไปเป็นของที่ระลึกให้กับรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษา

วันที่ 31 พค.2552 นักศึกษาใหม่กว่า 3,600 คน ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสวมเสื้อสีขาว และกางเกงสีเข้ม เดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไปยังวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้าร่วมสักการะอัฐิธาตุของพระโพธิญาณเถระ (หลวงปู่ชาฯ) อันเป็นกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ของงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดขึ้น เพื่อให้นักศึกษาใหม่ ได้เรียนรู้จักชุมชนรอบบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งได้เข้าปฏิบัติธรรมตามหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้องและสามารถดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีสมาธิ ปัญญาและเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะเป็นบัณฑิตที่พึ่งประสงค์ของสังคม ต่อไป

ตัวแทนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่ากิจกรรมการต้อนรับน้องนักศึกษาใหม่ ได้ฝึกให้นักศึกษา อดทน และได้รับกล่อมเกลาทางจิตใจโดยเข้าปฏิบัติธรรม ซึ่งในระยะหลัง เยาวชนได้ห่างเหินจากการเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมกันมาก สำหรับกิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยการเดินเท้าไปยังวัดหนองป่าพงนี้ เป็นประเพณีปฏิบัติการต้อนรับน้องที่จัดขึ้นทุกปี โดยไม่มีการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ในลักษณะการใช้ความรุนแรงหรือบังคับให้น้องนักศึกษาใหม่ ได้แสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม

มหาวิทยาลัยนเรศวรรับน้องสร้างสรรค์ให้ลุยดำนา

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่แปลงฝึกงาน คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำรุ่นพี่ของคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จัดพิธีรับน้องนักศึกษาปีที่ 1 ของ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 440 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหมุนเวียนกันไปตามฐานกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นได้ให้น้องๆดำนาปลูกข้าว

โดยทางสโมสรนิสิตคณะเกษตรศาสตร์ฯได้จัดเป็นปีแรกของการดำนาข้าว เพื่อนำข้าวที่น้องๆนักศึกษาปีที่ 1 ปลูกไปเป็นของที่ระลึกให้กับรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาและยังเป็นกิจกรรมที่ให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้ทำร่วมกัน เพื่อสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ และสร้างความอดทนให้กับนักศึกษาปีที่ 1 รวมไปถึงทางคณะเกษตรศาสตร์ฯอยากให้กิจกรรมนี้เป็นการกระตุ้นการปลูกข้าว เห็นความสำคัญและคุณค่าของข้าว

นอกจากกิจกรรมการดำนาแล้ว ยังมีกิจกรรมเดินลุยโคลนตามท้องร่องแคบๆเพื่อให้น้องๆนักศึกษาปีที่ 1 ได้ระลึกอยู่เสมอว่ากว่าจะสำเร็จการศึกษาต้องผ่านอุปสรรคต่างๆมากมายอีกด้วย ซึ่งบรรยากาศในการรับน้องครั้งนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนานและอบอุ่นระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง

ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษา ได้จัดประเพณีรับน้องที่สร้างสรรค์ มากกว่า การนำน้องไปทรมาน หรือแบบรุนแรง ซึ่งในปีนี้ทุกคณะฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา และได้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีรุ่นพี่รุ่นน้อง ได้เกิดความสามัคคี สมานฉันท์เป็นหมู่คณะ และถ้าหากมีการรับน้องโหด ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรก็จะมีการลงโทษตามกฎหมายเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยทันที อย่างไรก็ตามหากมีการกระทำดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดตั้งนิสิตนักศึกษา เป็นหน่วยรับแจ้งปัญหาการรับน้องได้ทันที