Monday, December 29, 2008

ย้ำเรียนฟรีอย่าหลอก

ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลว่า เป็นเรื่องดี เพื่อ ให้การศึกษาเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง แต่อยากทราบว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหนมาดำเนินการ และการเรียนฟรีครอบคลุมเรื่องใดบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรี แต่ท้ายที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ฟรีอย่างที่ว่า และ ยังต้องจ่ายเหมือนเดิม จึงอยากให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่าเรียนฟรีครอบคลุมเรื่องใดบ้าง มิฉะนั้นประชาชนจะไม่เข้าใจ แทนที่จะเกิดประโยชน์กับรัฐบาล อาจทำให้ประชาชนสับสนและคิดว่ารัฐบาลหลอกลวง นอกจากนี้อาจจะหาแนวทางให้คนรวยเข้ามาช่วยสนับ-สนุนด้านการศึกษา รวมถึงด้านการรักษาพยาบาล.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Thursday, December 25, 2008

สพฐ.เล็งอุ้มค่าไฟ-น้ำโรงเรียน เร่งวิจัยข้อมูลตี กรอบอัตราใหม่

คุณ หญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ได้หารือถึงมาตรการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของโรงเรียน เพราะในแต่ละปี สพฐ.พยายามติดตามดูว่ามีโรงเรียนที่เป็นหนี้ค่าน้ำค่าไฟเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมาตรการให้ใช้เงินเหลือจ่าย เพื่อจ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟ แต่ปัญหาเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนเล็ก ที่ประหยัดกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เข้มงวดเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไปทำวิจัยเพิ่มเติมว่า ในสภาพปัจจุบัน ค่าน้ำ ค่าไฟที่เหมะสมกับโรงเรียนขนาดต่างๆควรเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อถกเถียงว่าการสนับสนุนค่าไฟจะคิดเป็นรายหัว หรือจะคิดตามจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่โรงเรียนมี โดยได้ข้อตกลงว่าจะต้องผสมผสานกันทั้ง 2 อย่าง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อความยุติธรรมจะมีการให้ ตามสัดส่วนที่เป็นมาตรฐานของ สพฐ. คือ คอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนในอัตรา 1:20 หากโรงเรียนใดใช้เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ก็ต้องให้โรงเรียนรับผิดชอบ ทั้งนี้ ตนได้เร่งให้ไปหาค่าน้ำค่าไฟในอัตราที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนแต่ละขนาด โดยให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งแจ้งมาตรการเรื่องการประหยัดค่าน้ำค่าไฟไปยังโรงเรียนต่างๆด้วย.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

สพฐ.ชงเรียนฟรีแนะรัฐเพิ่มเงินอุดหนุน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมตัวเลขที่จะเสนอรัฐบาลตามนโยบายที่กำหนดให้เรียนฟรี 14 ปี โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งปัจจุบันกำหนดอยู่บนพื้นฐานของโรงเรียนขนาดกลาง และเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดในโรงเรียนสามขนาด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงต้องไปเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก้ปัญหานี้ด้วยการจัดสรรเงินเพิ่มให้กับโรงเรียนในสังกัด เพื่อจะได้ไม่ต้องเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ปกครอง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่อยากให้ผู้ปกครองเดือดร้อน คงต้องเสนอตัวเลขให้ทราบว่านอกเหนือจากค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้ โรงเรียนแล้ว ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษที่มีกิจกรรมหลากหลาย จะจัดสรรเงินเพิ่มให้หรือจะรับบริจาคจากผู้ปกครอง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าหากจะจัดการศึกษาฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จะขอรับการสนับสนุนเพิ่มจากรัฐบาลเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอนั้น ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ลงตัว แต่จากการหารือเห็นว่าถ้าได้รับการสนับสนุน 5,000-6,000 บาทต่อคนต่อปีจะสามารถจัดการศึกษาได้โดยไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตามคงต้องรอฟังนโยบายจาก รมว.ศึกษาธิการก่อน นอกจากนี้โรงเรียนขนาดเล็กที่เคยเสนอว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มให้หัวละ 500 บาท ในปีนี้ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่ม เพราะสำนักงบประมาณรอผลงานวิจัยอยู่ นอกจากนี้ สพฐ.จะมีข้อเสนอด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็ก ม.1- 3 ได้รับงบอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ส่วนเรื่องของการเก็บแป๊ะเจี๊ยะนั้น ตนได้ทำหนังสือชี้แจงสังคม โดยระบุห้ามไม่ให้มีการกรอกตัวเลขเงินบริจาคล่วงหน้าในช่วงรับนักเรียน

นาย รังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า การเสนอปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวคงเป็นเรื่องที่ลำบาก ดังนั้น สพฐ.จะเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการว่า หากจะเรียนฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรจะจัดสรรงบฯเพิ่มเติมเพื่ออุดหนุนเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน อาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ซึ่งขณะนี้ กทม.ก็อุดหนุนอยู่ 20 รายการ และ สพฐ. ก็เคยมีแต่ถูกตัดไป.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

“จุรินทร์” ลั่นปีศึกษา 52 เริ่มต้นเรียนฟรี

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. ได้เดินทางเข้ามาทำงานที่ ศธ.เป็นวันแรก โดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ. ได้รายงานงบประมาณและโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2552 พร้อมการดำเนินงานที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐมนตรี 6 เรื่อง ดังนี้ 1. การยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ 2. ปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษา 3. พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค 4. ยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาสู่ความทันสมัย 5. ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม 6. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง

นาย จุรินทร์กล่าวว่า การทำงานจะเน้นนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพประสิทธิผลและรวดเร็ว โดยมีหลักใหญ่ที่บรรจุในนโยบายรัฐบาลคือ เรียนฟรี 15 ปี การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่เน้นคุณภาพ คุณธรรมจริยธรรมและความเป็นไทย การเติมเต็มการศึกษาทั้งระบบให้ครบวงจร โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยที่ต้องเป็นหลักควบคู่ไปกับการศึกษา ในระบบ และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องหารือกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตนักเรียน นักศึกษาให้ตรงตามความต้องการ ไม่ใช่ออกไปแล้วตกงาน จึงต้องร่วมกับองคาพยพในระบบเศรษฐกิจเพื่อผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ แม้ไม่ง่าย และคงไม่เสร็จใน 3 เดือน 5 เดือน แต่ตนจะนับหนึ่งให้การทำงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้นนายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการเรียนฟรี 15 ปี ต้องไปกำหนดเป็นหลักประกันพื้นฐานอีกครั้งว่าจะเรียนฟรีในเรื่องใดบ้าง อาทิ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน เป็นต้น ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้เข้ามาในช่วงที่ไม่ได้จัดสรรงบฯเอง จึงต้องพิจารณาดูว่ามีงบฯ ปี 2552 ส่วนไหนบ้างที่นำมาใช้ได้ รวมทั้งงบฯ กลางปีที่จะเสนออีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จะนำมาปรับใช้ในเรื่องเรียนฟรีได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ทีมเศรษฐกิจกำลังดูกันอยู่ ทั้งนี้ การเรียนฟรีจะต้องเริ่มต้นในปีการศึกษา 2552.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

แนะ ศธ.จัดเรียนฟรีต้องทำแบบ กทม.

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว. ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรีของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะดำเนินการอย่างจริงจังให้ได้ก็ถือเป็น เรื่องที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหา คือ ต้องเพิ่มงบประมาณ ซึ่งหากรัฐบาลจะจัดการศึกษาให้ฟรีจริง ๆ จะต้องทำให้ได้เหมือนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ไม่เก็บอะไรเลย และยังมีการประกันโอกาสให้แก่ผู้ยากไร้ ด้วยการขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเรียนไม่ได้ด้วย เช่น ดูแลเรื่องความยากจน เสื้อผ้าชุดนักเรียน และอาหาร เป็นต้น

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่ระบุชัดเจนว่า เรียนฟรีในความหมายของรัฐบาลนี้คืออะไร แต่ตนคิดว่า จริง ๆ แล้วสามารถบอกได้ว่า ต้องยึดตามแนวทางของ กทม.และอุดหนุนคนยากจน ยากไร้ที่อาจจะมีอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเรียนได้ ซึ่งสมัยที่ตนเป็น รมว.ศธ.ก็เคยคำนวณไว้แล้วว่า จะต้องใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท ในการจัดเรียนฟรี 12 ปีแรก ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะศธ.ได้งบฯกว่า 300,000 ล้านบาท และสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีนั้น งบฯที่ศธ.ได้รับก็เพิ่มถึง 25% โดยไม่ได้ไปเพิ่มที่เงินเดือน แต่ไปลงที่การอุดหนุนรายหัว โครงการ คุณธรรมนำความรู้ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นถ้ารัฐบาลแน่วแน่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ การลงเงินสำหรับการศึกษาคงไม่ใช่เรื่องใหญ่

“กรณีที่รมว.ศธ.จะให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยก็ เป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนยังคงได้รับโอกาสทุกเพศ ทุกวัย มิฉะนั้นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับทุกคนตามรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น” ศ.ดร.วิจิตรกล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

จี้ ศธ.ล้างคอร์รัปชั่นการศึกษา

จากการเสวนาระดมความคิดเห็น เรื่อง ทิศทางเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า จุดแตกหักของการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2552-2560 คือ เรื่องคุณภาพที่เราต้องเพิ่มในการศึกษาทุกประเภททุกระดับ เพื่อสร้างอุปนิสัยคนในชาติที่เราต้องการ โดยควรกำหนดว่าจะสร้างนิสัยพลเมืองไทยอย่างไร คุณลักษณะเก่ง ดี มีสุขเป็นอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าอุปนิสัยสำคัญที่เราต้องสร้างคือ นักเรียนที่มีความดี ยึดความถูกต้องชอบธรรมเพื่อให้เป็นนิสัยที่ติดตัวคนไทย

องคมนตรี กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องออกแบบการศึกษาให้ครูสอนได้ดีที่สุด และนักเรียนเรียนได้ดีที่สุด ไม่ใช่ให้ผู้บริหารได้เลื่อนระดับสูงขึ้น ที่สำคัญการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงความทั่วถึงในการรับการศึกษาของคนไทย ไม่ใช่จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เพราะทุกวันนี้รัฐถือว่าจัดการศึกษาให้แล้ว นอกจากนี้ตนอยากเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการไปดูเรื่องการศึกษาชายแดน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จย่าทรงออกแบบไว้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนไม่อยู่ในความคิดของผู้ บริหารการศึกษาเท่าใดนัก ขอให้เปลี่ยนจากการดูงานต่างประเทศไปเป็นดูงานพื้นที่ชายแดนไทย เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาปรับปรุงเรื่องการศึกษา ซึ่งจะช่วยเรื่องความมั่นคงของชาติได้ดีที่สุด

“ที่สำคัญงบประมาณด้านการศึกษามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงไปเท่าไหร่ เหลือสำหรับการพัฒนาการศึกษาเท่าไหร่ เพราะมีการกินกันทุกจุด ทำให้ระบบการศึกษาไปไม่รอด ดังนั้นต้องพัฒนาให้เป็นระบบธรรมาภิบาล ผมอยากให้มีป้ายทุกโรงเรียนว่าเขตปลอดการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยซ้ำ และฝากผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5 ของ ศธ.ให้เอาจริงกับการลงโทษครูที่ทุจริตคอร์รัปชั่น กำหนดบทลงโทษให้หนัก แล้วไปเพิ่มเรื่องคุณธรรม เพื่อให้งบฯลงไปถึงระบบการศึกษาอย่างแท้จริง” ศ.นพ.เกษมกล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

'จุรินทร์'ย้ำจัดเรียนฟรี 15 ปี-ปฏิรูปรอบสอง

เมื่อ เวลา 08.30 น. วันที่ 24 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และน.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. ได้เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยข้าราชการรอรับอย่างคับคั่ง โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนมาทำความรู้จัก และมอบแนวทางการทำงานร่วมกัน แต่ยังไม่มอบนโยบาย จนกว่ารัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทั้งนี้ในส่วนของ ศธ.จะเน้นพิเศษ อาทิ เรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่อนุบาล-ม.ปลาย ที่ต้องแปลงเป็นแผนปฏิบัติ เพราะมีเงื่อนเวลาบังคับไว้ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นระยะเวลาเตรียมการ เพื่อเริ่มปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในปีการศึกษา 2552 ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีปัญหาตามมา แต่ก็จะพยายามให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษารอบสองเป็นพิเศษ โดยจะดำเนินการอย่างจริงจัง และเติมเต็มการศึกษาทั้งระบบให้ครบวงจร เพราะที่ผ่านมาจะเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แต่ละเลยการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งไม่ได้ถือว่าผิด แต่ควรเติมเต็มให้มีความเข้มข้นเท่ากัน ที่สำคัญการจัดการศึกษาจะต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และในการผลิตนักศึกษาต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาเราผลิตนักศึกษาไปตกงาน ถือเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา ดังนั้นจะต้องมีการทบทวนขนานใหญ่

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ศธ.เป็นกระทรวงหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะประเด็นเรียนฟรี เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีแรก ส่วนการจัดซื้อคอมพิวเตอร์พกพานั้น รมว.ศธ.จะทบทวนในรายละเอียด

น.ส.นริศรา กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกหนักใจเพราะเป็นอาจารย์มาก่อน มีความรู้ทางด้านการสอน และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซึ่งไอทีมีความสำคัญในการจัดการเรียนการสอน โดยปัจจุบันเด็กก็เก่งในเรื่องของไอทีแต่เก่งไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค ดังนั้นจะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว (One Way) ก็จะทำให้เป็นการศึกษาสองทาง (Two Way)

วันเดียวกันเมื่อเวลา 09.59 น. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายธีระ สลักเพชร รมว.วธ. ได้เดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยมีผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ จากนั้นได้ขึ้นไปยังห้องทำงานชั้น 23 และกล่าวกับข้าราชการว่า สิ่งที่ตนจะต้องเร่งฟื้นฟูมี 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การสร้างความปรองดองกลับมาให้ได้ 3.ฟื้นฟู เศรษฐกิจ และ 4.พัฒนาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยใช้วัฒนธรรมเป็นฐานหลัก ซึ่งสิ่งสำคัญที่วธ.จะต้องดำเนินการควบคู่ก็คือ การใช้มิติทางวัฒนธรรมกู้ภาพลักษณ์ประเทศ แก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ติดมือถือ ติดเกม มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น และต้องร่วมมือกับภาคประชาชน สภาวัฒนธรรมทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ตนจะสานต่อโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนให้มีครบทุกอำเภอ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีทุกตำบล เพราะโครงการดังกล่าวจะเป็นการ ดึงบ้าน วัด และโรงเรียน กลับมามีบทบาทในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งวัฒนธรรมอำเภอให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ตนจะผลักดันให้วธ.ได้รับงบประมาณมากขึ้นจาก 5,000 ล้านบาทเป็น 10,000 ล้านบาทด้วย เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะรักษาวัฒนธรรม ของชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในครั้งที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ถ้าความเป็นไทยเราสูญ ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ ตนจึงจะยึดแนวพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการทำงานของกระทรวงในการรักษาความ เป็นไทย.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Friday, December 19, 2008

เตรียมเปิดร.ร.มัธยมสังกัดกทม.เพิ่ม 3 แห่ง รับปีการศึกษา 2553

ปีการศึกษา 2553 กทม.เตรียมเปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดอีก 3 แห่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก พร้อมตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนไม่ต้องลำบากในการเดินทาง

วันนี้(19 ธ.ค.) นายจำเริญ ศิริพงศ์ติกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งยุบ รวมโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีนางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกทม. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ม.1- ม. 6 สังกัดกทม.เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง เพื่อทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2553 ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดพระยาปลา เขตหนองจอก โดยสร้างห่างจากโรงเรียนเดิมประมาณ 200 เมตร บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ที่ได้รับบริจาคจากประชาชน 2.โรงเรียนวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา ซึ่งจะใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วประมาณ 15 ไร่ของโรงเรียนวัดปุรณาวาส แบ่งออกมาสร้างอาคารเรียนในส่วนของมัธยม 5 ไร่ และ 3.โรงเรียนวัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง ซึ่งโรงเรียนประถมของกทม.แห่งนี้มีองค์ประกอบทุกด้านครบถ้วนที่จะเปิดใน ระดับมัธยมศึกษาไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน บุคลากร แต่ยังความขาดข้อมูลความต้องการของประชาชนซึ่งตนได้มอบหมายให้ผู้ที่ เกี่ยวข้องไปดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ 2 โรงเรียนแรกที่ต้องเปิดในระดับมัธยมศึกษาขึ้นมานั้นก็เพื่ออำนวยความสะดวก กับคนในชุมชนเนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน อีกทั้งโรงเรียนวัดปุรณาวาสอยู่ห่างจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ถึง 10 กิโลเมตร ดังนั้นการเปิดโรงเรียนดังกล่าวจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณนั้นอาจไม่ต้องใช้งบจำนวนมากเพราะแค่ปรับปรุงอาคาร ที่มีอยู่แล้ว เพราะปีการศึกษาแรกเปิดเพียง 2 ห้องเรียนเท่านั้น ส่วนบุคลากรนั้นก็จะขออนุมัติเพิ่มเติมไม่มีปัญหาแน่นอน

นาย จำเริญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กทม.เปิดทำการเรียนการสอนโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาอย่างเดียว 5 แห่ง ขณะที่มีโรงเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว 88 แห่ง


ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลท์

ได้ข้อยุติหลอมรวม 2 กองทุนกู้ยืมเรียน

รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการ กยศ.และคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ประชุมได้หารือและเห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพ.ร.บ. กยศ. พ.ศ...ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การขยายวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม กยศ.จากเดิมให้กู้เฉพาะกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เท่านั้น เป็นให้กู้ครอบคลุมไปทุกกลุ่มสาขาวิชาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของ ประเทศ ส่วนจะมีการเพิ่มสาขาขาดแคลนจากที่ กยศ. ประกาศไปเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมาหรือไม่นั้น ยังไม่ได้มีการหารือ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะ กรรมการ กยศ.ต่อไป

“อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มีการพูดถึงชื่อของร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.ฉบับนี้ด้วย และเห็นว่าให้คงชื่อเดิมไว้ จะไม่มีคำว่า “กรอ.” จะมีแต่สาระสำคัญของ กรอ.มาบรรจุไว้เท่านั้น ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการกู้ยืมยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม แต่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ทำเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินการ และถือว่าหลักการในร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ยุติแล้ว จากนี้ผมจะนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนจะประกาศใช้ได้ทันในปีการศึกษา 2552 หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ครม.” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการ บดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การขยายสาขาการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะ ผู้กู้จะได้มีทางเลือกในการเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่เรียนไม่เก่งมากนักซึ่งมีจำนวนมากก็จะมีทุนเรียนต่อ แต่ที่สำคัญและเป็นหัวใจการกู้ยืม คือ การคืนเงิน เพื่อให้รุ่นน้องได้กู้ยืมต่อ ซึ่งผู้กู้ทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการคืนเงิน

ด้าน ดร.วีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขยายการกู้ กยศ. ในสาขาที่ขาดแคลน นอกจากพิจารณาที่การขาดแคลนทุนทรัพย์ และอยากให้ประกาศขยายสาขาขาดแคลนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงอยากให้รัฐบาลใช้กลไกของ กยศ.มากำหนดนโยบายเพื่อให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีวะมากขึ้น โดยอาจกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะผลิตแรงงานของประเทศให้เป็น วาระแห่งชาติ นอกจากนี้ กยศ.ควรประกาศรายชื่อเด็กที่จะได้กู้ยืมเร็วขึ้นด้วย เพื่อเด็กจะได้รู้ว่าตนเองจะได้กู้เงินเรียนหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเรียนไปจนจะจบภาคเรียนแล้วก็ยังกู้ไม่ได้ ซึ่งทำให้บางส่วนต้องลาออกกลางคันไป.

ข้อมูลจาก www.dailnews.co.th

คน มธ.ชี้ลดอำนาจอธิการบดี

จากการสัมมนาเรื่อง “ข้อเท็จจริง ประสบการณ์และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. รศ.นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่จุฬาฯ ออกนอกระบบพบว่าขณะนี้มีข้าราชการจุฬาฯ เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานราชการ 34% และคาดว่าในปี 2552 คงจะขอเปลี่ยนสถานภาพเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่สำหรับในกลุ่มลูกจ้างมหาวิทยาลัยจะไม่แนะนำให้ออกมาเป็นพนักงานราชการ เพราะจะมีปัญหาเรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเรามองว่าไม่คุ้ม

ด้าน ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ประธานสภาคณาจารย์ มธ. กล่าวว่า วันนี้บุคลากร คณาจารย์ ของมธ.บางส่วนยังสงสัยว่า เมื่อออกนอกระบบแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการรับฟังความคิดเห็นกันบ้าง แต่เป็นการทำกันเงียบ ๆ ทำให้บุคลากร คณาจารย์ ของ มธ.มีความตื่นตัวเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งไม่มีใครรู้ว่า การดำเนินการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ....กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตนจึงอยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ และมีการทบทวนกฎหมายลูกอีกครั้ง เพราะเท่าที่ทราบกฎหมายลูกยังไม่ครอบคลุม และไม่มีความชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น สวัสดิการ สวัสดิภาพของพนักงาน ผลตอบแทน รวมถึงหลักธรรมภิบาล นอกจากนี้อยากให้ออกกฎไม่ให้อธิการควบตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อ ความโปร่งใส และไม่ให้อธิการมีอำนาจในการตัดสินใจมากเกินไปด้วย.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

กพฐ.ห่วงเด็กได้สื่อไร้มาตรฐานฝาก สพฐ.ยกคุณภาพให้สมราคา

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับร่างนโยบายการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ตาม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในประเด็นคุณภาพของสื่อ และความคุ้มค่าของราคาที่ผู้ปกครองต้องจ่าย เพราะการมีสื่อที่มีคุณภาพ และ ราคาที่เหมาะสม จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพ ซึ่ง กพฐ.ได้ฝากให้ สพฐ.ไปดูผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับกลไกในการควบคุมคุณภาพของสื่อ รวมทั้งอาจจะมีการวิจัยปลายทางที่โรงเรียนว่า ปัจจุบันเด็กใช้สื่ออะไร และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพื่อหาช่องว่างที่ควรปรับปรุงดูแล ขณะเดียวกันควรทำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีความเข้มแข็ง ทั้งเรื่องของการพัฒนาสื่อ ผลิตสื่อและติดตามดูแลสื่อ และ สพฐ.เองควรผลิตสื่อที่มีคุณภาพเผยแพร่ให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่ง สพฐ.จะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปดูแล และจะหยิบยกบางประเด็นมาหารือในที่ประชุมครั้งต่อไปด้วย

“นอกจากนี้ กพฐ.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ ศึกษา (สมศ.) อาทิ ค่าใช้จ่ายรายหัว ที่ควรทำวิจัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ควรได้รับการสนับสนุนเท่าใดจึงจะเพียงพอ ควรมีจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กกันแน่ เพราะ สพฐ.กำหนดนักเรียน 120 คนลงมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะที่ สมศ. กำหนดให้ 300 คนลงมา ภาระของครูที่ต้องดูแลงานธุรการทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็ก รวมถึงการพัฒนาครูให้สอนคละชั้น นอกจากนี้ยังได้ฝากให้ดูเรื่องการประกันคุณภาพภายใน ด้วยเพราะมีเสียงสะท้อนว่ายังไม่มีความเข้มข้นเท่าที่ควร และบางโรงเรียนก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามหลักการของ สพฐ.เลย” คุณหญิงกษมา กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Thursday, December 18, 2008

สกอ.พร้อมรับสมัครA-NET52

นางศศิธร อหิงสโก ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สกอ.ได้เชิญหัวหน้าศูนย์สอบทั้ง 18 ศูนย์ มาหารือเพื่อเตรียมการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ A-NET ประจำปีการศึกษา 2552 โดย สกอ.ได้ยืนยันปฏิทินการทดสอบ A-NET ปี 2552 ที่จะประกาศระเบียบการสอบวันที่ 20 ธ.ค. 51-12 ม.ค. 52 ทางเว็บไซต์ www.cuas.or.th รับสมัครวันที่ 22 ธ.ค. 51-12 ม.ค. 52 ทาง www. cuas.or.th และชำระค่าสมัครผ่านธนาคาร หรือ ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ ให้ผู้สมัครตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องวันที่ 23 ธ.ค. 51-14 ม.ค. 52 ทาง www.cuas.or.th ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลวันที่ 23 ธ.ค. 51-16 ม.ค. 52 โดยโทรสาร 0-2354-5624, 0-2354-5598 ประกาศแผนผังที่นั่งสอบวันที่ 14 ก.พ. 52 ทาง www.cuas.or.th สอบข้อเขียนวันที่ 28 ก.พ.-มี.ค. 52 และประกาศผลสอบวันที่ 5 เม.ย. 52

“ขอให้นักเรียนที่จะสอบทุกคนศึกษาระเบียบการรับสมัคร และ การสมัครสอบให้ครบทุกวิชาตามที่คณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เช่น กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กำหนดให้ต้องสอบ A-NET 5 วิชา ถ้าใครสอบไม่ครบจะถือว่าขาดคุณสมบัติการเข้าศึกษาต่อทันที เป็นต้น” นางศศิธร กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ผลวิจัยยืนยันรร.ใต้ยังพัฒนาได้แม้ไม่สงบ

ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ประเมินคุณภาพสถานศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบแรกและพบว่ามีคุณภาพต่ำสุดจึงได้มอบหมายให้ทาง มูลนิธิทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขณะนี้คณะวิจัยของทางมูลนิธิซึ่งได้ทำโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่า การพัฒนาโรงเรียนสามารถทำได้โดยการช่วยกันเป็นเครือข่าย แม้จะยังมีเหตุความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ก็ตาม

ดร.รุ่ง กล่าวต่อไปว่า ในการวิจัยนั้นได้ออกแบบให้มีการทดลองนำร่องรวมกลุ่มโรงเรียนขึ้นในเขต พื้นที่การศึกษาละ 1 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยโรงเรียนที่แตกต่างกัน 4 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ รร.เอกชนสายสามัญ รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนของท้องถิ่น โดยแต่ละกลุ่มจะมีการเลือกประธานกลุ่มที่มาจากโรงเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวพบว่า เมื่อโรงเรียนมารวมตัวกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือกันมาก ขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น บางโรงเรียนไม่เคยสัมพันธ์กับคนภายนอกก็เริ่มมีคนรู้จัก เข้าไปพบปะเยี่ยมเยียน และที่สำคัญทำให้เกิดกระบวนการประกันคุณภาพภายในได้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งแต่เดิมจะทำกันน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยให้เน้นผู้ เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานกว่าร้อยละ 80 จะสามารถทำได้เหมือนกัน ส่วนการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น ยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ เพราะเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ทำให้มีความสัมพันธ์กับชุมชนไม่มากนัก อีกทั้งผู้บริหารก็ออกไปพบกับชุมชนได้ยาก ต้องมีทหารคอยให้การคุ้มกัน

“เรื่องของการบริหารอาจจะยังมีปัญหา แต่เรื่องของคุณภาพการศึกษา ยืนยันได้ชัดเจนว่าเมื่อมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย และคนในพื้นที่ช่วยเหลือกันก็ยังสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ และยั่งยืนกว่าให้ข้างบนสั่งการลงมา ซึ่งทางมูลนิธิจะทำรายงานสรุปเสนอให้สมศ.ก่อนการประเมินรอบ 2 ในภาคการศึกษาหน้า” ดร.รุ่ง กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ลุ้นฟังเสียง ปชป. เดินเครื่องเรียนฟรี 12 ปี

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมเจรจาความเหมาะสมของตัวชี้วัด เป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนนตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการและ ส่วนราชการในสังกัด ประจำปีงบประมาณ 2552 ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารราชการ ดังนั้น ข้อเสนอจะเป็นทิศทางระดับกระทรวง ยังไม่ลงตัวชี้วัดเป็นรายองค์กรหลัก เพื่อให้รัฐบาลและ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ได้มีโอกาสให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม โดยที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการของยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มี 7 ตัวชี้วัด ซึ่ง 5 ตัวชี้วัดแรกเป็นเรื่องของอัตราการเข้าเรียนแต่ละระดับ ที่ประชุมให้ทำปลายเปิดไว้ เพื่อปรับรายละเอียดหลังฟังนโยบายจากรัฐบาล เพราะเรื่องโอกาสทางการศึกษาเป็นจุดเน้นที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

สำหรับตัวชี้วัดที่ 6 และ 7 เป็นจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน กลุ่มอายุ 15-39 ปี ที่ต้องเร่งให้มีการศึกษาเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุ 40-59 ปี ที่ควรให้มีการศึกษาเฉลี่ย 7 ปีขึ้นไป ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มี 1 ตัวชี้วัด คือการจัดอันดับการศึกษาของไทยโดยสถาบันไอเอ็มดี ที่จะต้องสูงขึ้นดี ตั้งเป้าใน 3-5 ปีข้างหน้าไทยจะขยับไปอยู่ใน 15 อันดับแรกของโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยใช้ความรู้เป็นฐาน โดยต้องเพิ่มตัวชี้วัด ไม่ใช่ยึดแค่เพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงของรัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการ มีตัวชี้วัดเป็นสัดส่วนผู้เรียนระหว่างรัฐ เอกชน และอื่นๆ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กพร. แจ้งให้ทราบว่าผลการประเมินอยู่ในระดับ 3 ถือว่าเป็นระดับที่ทำได้ตามเป้าหมาย ถ้าทำได้สูงกว่านั้นถือว่าดีกว่าที่ตั้งไว้ และการจัดสรรโบนัสจะไม่ขึ้นอยู่กับคะแนนที่สูงตามลำดับ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องดีเพราะที่ผ่านมาทุกคนจะเลือกตัวชี้วัดที่ มั่นใจว่าทำได้ ทำให้หลายๆเรื่องที่น่าจะทำ ไม่ได้รับการบรรจุใน กพร.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

Wednesday, December 17, 2008

จี้ ทปอ.ทบทวนแอดมิชชั่น 53 ชี้ยิ่งวุ่นวาย

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดทางเลือกให้สถานศึกษาในสังกัดใช้ผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET พิจารณารับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2552 ได้นั้น นายสงบ มณีพรหม ผอ.รร.หาดใหญ่วิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนพิจารณารับเด็ก ม.1 จากคะแนนการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือ National Test (NT) แต่ก็พบว่าเด็กบางคนได้คะแนน NT สูง แต่เข้ามาแล้วเรียนไม่ได้ เมื่อไปตรวจสอบก็พบว่ามีการช่วยเหลือกันขณะที่เด็กสอบ ดังนั้นหากกระบวนการสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 มีความเข้มข้น เที่ยงธรรม และโปร่งใส ปราศจากการช่วยเหลือของครู เช่นเดียวกับการสอบ O-NET ชั้น ม.6 ก็จะทำให้ทาง โรงเรียนมีความมั่นใจในการนำคะแนน O-NET มาใช้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้แก้ปัญหา โดยใช้คะแนนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมรายวิชา (GPA) ชั้น ป.6 และ ม.3 มาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาด้วย

นายสงบ กล่าวต่อไปว่า ตนเห็นว่าการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือ แอดมิชชั่นทำให้เด็กเรียนวิชาความรู้ในชั้น ม.ปลายได้ไม่เต็มหลักสูตร เพราะเทอมที่ 2 ของชั้น ม.6 ต้องวิ่งไปสอบในที่ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสร้างความสับสนวุ่นวายให้แก่เด็กและผู้ปกครองมาก ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้นักเรียนจึงเห็นว่าถ้าเราให้การ ศึกษาครบตามโครงสร้างของหลักสูตรก่อน แล้วจึงนำผลการเรียนจากโรงเรียน คือผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) กับผลสอบ O-NET มาใช้ในการคัดเลือกก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งสามารถคัดเด็กเข้าเรียนคณะต่าง ๆ ได้ โดยนำผลมาตรฐานรายวิชาของคะแนน O-NET ที่เด็กทั่วประเทศสมัครมาจัดเรียงลำดับ เช่น ถ้าเด็กจะเข้าคณะแพทยศาสตร์ ก็ดูคะแนนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นหลัก เป็นต้น

“แอดมิชชั่นปี 2553 ที่จะใช้คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ (PAT) เพิ่มเติมอีก ผมจึงเห็นว่านอกจากไม่ได้สร้างความเสมอภาคแล้ว ยังสร้างความสับสนวุ่นวายมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกอะไรแต่วิชาที่สอบก็จะซ้ำ ๆ อย่างไม่จำเป็น เด็กมีเงินมีโอกาสวิ่งเลือกสอบตามที่ต่าง ๆ ได้ แต่เด็กที่ไม่มีเงินแม้จะเรียนเก่งก็ไปวิ่งรอกสอบตรงในคณะดี ๆ มหาวิทยาลัยดัง ๆ ไม่ได้ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) น่าจะทบทวนเรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยเราควรจัดการศึกษาให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ไม่ใช่แข่งขันกันตลอด และที่สำคัญผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับโรงเรียนกวดวิชา” นายสงบ กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ประธานทปอ.ขอ"อภิสิทธิ์"ไม่นั่งควบศึกษาเหตุกระทรวงใหญ่

ประธานทปอ. ขอ "อภิสิทธิ์" ไม่นั่งควบ รมว.ศึกษาธิการ ชี้เป็นกระทรวงใหญ่ มีภาระงาน มีคน และงบประมาณจำนวนมาก เชื่อพรรคประชาธิปัตย์น่าจะหาคนมาดูแล ศธ.ได้ ฝากอันดับแรกที่ต้องพัฒนาคือคุณภาพการศึกษา

รศ. ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กล่าวถึงกรณีการจัดวางตัวผู้เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ(ศธ.) ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีมุมมองด้านการศึกษาดี แต่หากควบตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ด้วย อาจทำให้มีภาระงานที่มาก เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่มาก มีคน และงบประมาณจำนวนมาก น่าจะหาบุคคลที่เหมาะสมมาดูแลงานกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะอาจจะเป็นคนนอก หรือภายในก็ได้ แต่เท่าที่ดูบุคลากรในพรรคประชาธิปัตย์ที่สนใจการศึกษา และมีความเหมาะสมก็มีจำนวนมาก เชื่อว่าพรรคน่าจะหาคนมาดูแลได้ ส่วนนายอภิสิทธิ์ก็ควรไปดูแลงานเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ มากกว่า

ประธานทปอ. กล่าวอีกว่า สำหรับงานการศึกษาในภาพรวมที่รัฐบาลนี้ควรจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรกคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของนักเรียนซึ่งค่อนข้างต่ำ ดูได้จากคะแนนการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันต้องเร่งพัฒนาคุณภาพครู สร้างสวัสดิการครูให้ดี เมื่อครูดีมีคุณภาพ มีงบสนับสนุนพอเหมาะ ก็จะทำให้การเรียนการสอนดี เด็กไทยก็จะมีคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาด้วย

"ปัญหา เร่งด่วนของอุดมศึกษาคือ การดูแลการจัดสรรงบประมาณ สวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลายหมื่นคนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่งบที่จะได้จากรัฐบาลยังไม่ชัดเจน และยังต้องดูแลเรื่องการมีงานทำของบัณฑิต การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การแข่งขันของมหาวิทยาลัยภายในกับต่างชาติ" รศ.ดร.มณฑลกล่าว

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ส่งหนังสือจี้ สพฐ.คุมเข้มครูทำโทษเด็ก

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรณีการลงโทษนักเรียนที่รุนแรงในสถานศึกษาโดยได้เสนอข้อคิดเห็นดังนี้ 1. ควรสั่งการให้ทุกสถานศึกษาถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 โดยเคร่งครัด และกำชับด้วยว่า หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะได้รับโทษทางอาญา เพราะพฤติการณ์ดังกล่าว ผู้กระทำผิดอาจต้องรับโทษทางอาญาในความผิดต่อร่างกาย ที่เป็นการทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รวมไปถึงความผิดต่อเสรีภาพ ที่เป็นการกระทำให้ ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพด้วย อีกทั้งพฤติการณ์เป็นความผิดวินัยที่อาจเข้าข่ายความผิดกรณีไม่ปฏิบัติตนตาม มาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ กรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ กรณีกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ข่มเหงผู้เรียน และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว 2. การ จัดทำประมวลกรณีการลงโทษของครู อาจารย์ต่อนักเรียน นักศึกษาไม่เหมาะสมและเผยแพร่ให้ครู อาจารย์ได้รับทราบและเข้าใจถึงการลงโทษอย่างถูกต้องและเหมาะสม และการกำหนดให้อธิบายความหมายเกี่ยวกับการลงโทษนั้น เห็นว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องทำทั้งหมด เพียงกำชับให้ครู อาจารย์ถือปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ ก็เพียงพอแล้ว


3. การดำเนินการตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ ข้อ 5 (4) ที่ระบุว่า “ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ถ้า ครู อาจารย์จะลงโทษนักเรียน นักศึกษาด้วยการทำกิจกรรมใดๆ ควรต้องนำเสนอต่อ ผอ.สถานศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนทุกครั้ง กรณีหากลงโทษนักเรียน นักศึกษารุนแรงเกินกว่าเหตุ ควรพิจารณาโทษ ผอ.สถานศึกษาด้วยนั้น เป็นกรณีที่ควรมีการกำชับ เพื่อให้ ผอ.สถานศึกษาได้ ระมัดระวังมิให้ครู อาจารย์ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม 4. การ พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่ครู ต้องเป็นคนที่มีความเมตตาต่อเด็ก ไม่ทำลายเด็ก คิดวิธีการที่จะสร้างเด็กให้รู้จักวิธีคิด พูด ทำ มากกว่าใช้ความรุนแรง ซึ่งเห็นควรกำชับผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ครู ได้ตระหนักในการพิจารณาดังกล่าว.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

Tuesday, December 16, 2008

เผยเด็ก60%ไม่ชอบมาโรงเรียนเหตุความรู้สึกไม่ปลอดภัยมีสูง

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ เปิดเผยผลการสำรวจความพึงพอใจของนักเรียนในการมาโรงเรียน ว่า จากการสอบถามนักเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา จำนวน 150,000 คน จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 2,000 คน ซึ่งได้มีการสอบถามเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบมาโรงเรียนของนักเรียน ผลปรากฏว่า นักเรียนชอบมาโรงเรียนมากเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนที่อยู่ในเมืองไม่ชอบมาโรงเรียนมากกว่านักเรียน ที่อยู่นอกเมืองหรือต่างจังหวัด ขณะที่นักเรียนระดับประถมศึกษาชอบไปโรงเรียนมากกว่านักเรียนระดับ มัธยมศึกษา

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ยังพบว่าแนวโน้มเด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยสูง ขึ้น เพราะจะพบเห็นภาพความรุนแรงในโรงเรียนมาก โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีการชกต่อยกันในโรงเรียน มีแก๊งรีดไถ นอกจากนี้นิสัยการอ่านหนังสือก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนตัวเอง ตั้งแต่เรื่องวิธีสอนของครูที่ต้องให้ความสำคัญกับเด็กมากกว่าการทำผลงาน วิชาการ รวมถึงช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนด้วย

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผลสำรวจของสถาบันรามจิตติ สอดคล้องกับผลงานวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน Child Watch ในกรุงเทพมหานคร ที่พบว่าเด็กขาดความสุข ความกระตือรือร้น และแรงบันดาลใจในการมาโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กในระดับมัธยมศึกษา โดยมีการตั้งสมมุติฐานสาเหตุที่ทำให้เด็กรู้สึกเช่นนั้น เกิดจากเด็กรู้สึกว่าการมาโรงเรียนไม่น่าสนุก และน่าเบื่อ เพราะครูมุ่งแต่จะทำผลงาน จนไม่มีเวลาดูแลเด็กทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้เนื้อหาของหลักสูตรยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กต้องการจะเรียน รู้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ต้องเร่งแก้ไข.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

สพฐ.วอนอภิสิทธิ์หนุนเรียนฟรี 12 ปี

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาดูแลกระทรวงศึกษาธิการตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้

ก็ น่าจะสามารถพัฒนาการศึกษาโดยรวมให้ดีขึ้นได้ รวมถึงเรื่องการเรียนฟรี เพราะที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และ รมว.ศึกษาธิการเงา เคยทำหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาฟรี พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะมาด้วย ดังนั้นหากมาเป็น รมว.ศึกษาธิการก็น่าจะสานต่องานนี้ได้

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

แจงยิบข้อต่าง “แป๊ะเจี๊ยะ” - เงินบริจาค

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้จัดทำร่างหนังสือชี้แจงสังคมกรณีเกี่ยวกับปัญหาเงินแป๊ะเจี๊ยะ การรับเงินบริจาคของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสร็จแล้ว และเสนอให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ. พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งเนื้อหาหลักจะระบุว่าปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ดำเนินการตามกรอบหลักสูตร แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว โดยมีโรงเรียนถึงร้อยละ 93 ที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เรียน ส่วนกรณีที่เป็นปัญหาอยู่จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง ต้องการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้อยู่ระดับที่แข่งขันกับนานาชาติตาม ความต้องการของผู้เรียน และผู้ปกครอง ดังนั้น จึงจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบเพิ่มเติมจากมาตรฐานทั่วไป เช่น จ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีชั่วโมงสอนเพิ่มขึ้น มีการฝึกปฏิบัติของนักเรียนรายบุคคล มีการเรียนการสอนตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ สอนเสริมนอกเวลาเรียนในวันหยุด จ้างบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิมาสอน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของโรงเรียนบางแห่งที่ต้องติดตั้งเครื่องปรับ อากาศในห้องปฏิบัติการทางภาษา วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ หรือห้องเรียนที่ติดถนนที่มีเสียงรบกวนมาก

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า สพฐ.ยังกำหนดกรอบและแนวทางของการจัดการศึกษาในส่วนที่อยู่นอกเหนือจาก หลักสูตรขั้นพื้นฐานซึ่งเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถเก็บค่าใช้จ่ายได้ 6 รายการ อาทิ ค่าใช้จ่ายสำหรับห้องเรียนพิเศษซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจเข้าร่วม โครงการโดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น หลักสูตรภาษาต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น โครงการพัฒนาทักษะตามความถนัดของนักเรียนนอกเวลาเรียน เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจว่าระบบของเงินที่เป็นค่าใช้จ่าย ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษามีหลายลักษณะ ได้แก่ เงินบริจาค เงินจากการระดมทรัพยากร เงินที่เก็บจากผู้เรียนในหลักสูตรที่นอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้น ฐาน ส่วนเงินแป๊ะเจี๊ยะนั้นเป็นส่วนที่นอกเหนือจากประเภทของเงินทั้ง 3 ประเภทนี้.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

สพฐ.ชี้ยกเลิกรับเด็กรอบ 2-3 ทำไม่ได้

นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อสังเกตว่าการรับนักเรียนรอบ 2 และ 3 เป็นช่องทางให้เกิดปัญหาการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลก กับที่นั่งนักเรียน ตลอดจนการวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ว่า การยกเลิกการรับนักเรียนรอบ 2 และ 3 ทำไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นความต้องการของหลายฝ่ายโดยเฉพาะของโรงเรียนก็ตาม เพราะที่นั่งของโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ฯ กรุงเทพฯ เขต 2 มีเด็กมากกว่าที่นั่งหรือเด็กล้นหลายพันคน จึงเป็นเหตุที่โรงเรียนต่างๆ ต้องรับนักเรียนในรอบ 2 และ 3 ตลอดจนเพื่อช่วยรับการเกลี่ยเด็กจากโรงเรียนที่มีเด็กล้นมาด้วย ส่วนการแก้ไขประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายและมาตรการในการรับนักเรียนนักศึกษาปีการศึกษา 2552 เพื่อให้การรับนักเรียนรัดกุมนั้น คงไม่ต้องไปแก้ไข เนื่องจากเป็นเพียงการกำหนดหลักการกว้างๆ ซึ่งโดยหลักการแล้วคณะกรรมการสถานศึกษาสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่ารอบ 2 และ 3 จะรับอย่างไรให้เป็นธรรม โปร่งใส อย่างบางโรงเรียนในรอบ 2 เลือกใช้วิธีสอบคัดเลือก 100% การเรียกเด็กเข้าเรียน ก็ต้องไล่เรียงตามลำดับคะแนนที่เด็กทำคะแนนได้ จะแซงลำดับไม่ได้โดยเด็ดขาด บางโรงเรียนเลือกใช้เกณฑ์จับสลาก ก็ต้อง ให้สิทธิ์กับเด็กในพื้นที่บริการก่อน

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า เร็วๆนี้ สพฐ.จะออกหนังสือเวียนกำชับให้สถานศึกษาต่างๆ ระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ และโดยความเป็นจริงแล้วจะเปิดรับนักเรียนกี่รอบก็ตาม การรับนักเรียนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส จะออกนอกลู่นอกทางไม่ได้โดยเด็ดขาด ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ และได้ประกาศให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้า หากดำเนินการนอกเหนือหลักเกณฑ์ที่วางไว้ สพฐ.ก็จะเข้าไปจัดการ แม้ว่าดีเอสไอจะไม่เจอก็ตาม ทั้งนี้ การระดมทรัพยากรสามารถทำได้ แต่ต้องทำหลังจากช่วงรับนักเรียนไปแล้ว และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.วางไว้ ไม่เช่นนั้นจะล่อแหลมต่อการเข้าใจผิดของผู้ปกครองได้.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

ประสานเสียงเชียร์ “อภิสิทธิ์” นั่งเสมา 1

ตามที่โผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายอภิสิทธิ์จะควบตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ และมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียน ปชป. เป็น รมช.ศึกษาธิการนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องขอคุยกับทางพรรคก่อน แต่ยืนยันว่าพรรค ปชป.ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์จะมาดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็น่าจะพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้ รวมถึงเรื่องเรียนฟรี เพราะที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์เคยทำหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะมา หากมาเป็น รมว.ศึกษาธิการก็น่าจะสานต่องานนี้ได้

รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้านายอภิสิทธิ์ควบ รมว. ศึกษาธิการ จะทำให้การศึกษาได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะ ในช่วงการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพราะนายอภิสิทธิ์ เคยประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเอาเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นตัว ตั้ง เพียงแต่ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน เพราะตนเชื่อว่ารัฐบาลจะมีเวลาไม่เกิน 1 ปี จึงต้องเร่งวางรากฐานการศึกษา เข้าใจว่าจะเน้นเรื่องการศึกษาฟรี 14 ปี ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 อย่าฟังข้าราชการให้มาก แต่ขอให้ฟังคนภายนอกและพื้นที่มากกว่านี้

รศ.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า ปชป.แสดงความสนใจเรื่องการศึกษามาตลอด เมื่อมีโอกาสก็ควรพิสูจน์ฝีมือ และ ควรจะมี รมช.ศึกษาธิการที่อยู่พรรคเดียวกัน เพื่อจะกำหนดแนวนโยบายในเรื่องการ ศึกษาไปในทางเดียวกัน ทั้งนี้ ตนอยากให้เข้ามาดูเรื่องคุณภาพและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา การพัฒนาครู และเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่ทำไปครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้ผล

นายสนอง ทาหอม ประธานสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนมีความรู้ความสามารถ หากจะเข้ามาดูเรื่องการศึกษาคงเป็นเรื่องที่ดี ตนอยากให้รัฐบาลใหม่เน้นนโยบายการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากการศึกษามี ปัญหาและเสียหายมากจึงควรเริ่มต้นกันใหม่.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

Thursday, December 4, 2008

รับม.1ปี52เปิดช่องใช้โอเน็ตป.6 ห้ามแป๊ะเจี๊ยะ-ลดภาระพ่อแม่

รับ ม.1 ปี 2552 สพฐ.เปิดช่องใช้โอเน็ต ป.6 ได้ ห้ามเรียกแป๊ะเจี๊ยะ งดโครงการใหญ่-กิจกรรมเพิ่มภาระผู้ปกครอง

เมื่อ วันที่ 3 ธันวาคม คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใน โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงประมาณ 370 แห่ง เข้าร่วมว่า นโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนชั้น ม.1 ประจำปีการศึกษา 2552 ให้ใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้น ป.6 มาใช้ประกอบในการรับเด็กชั้น ม.1 ได้ และดำเนินการอย่างโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้แก่เด็กและผู้ปกครอง ห้องเรียนพิเศษเปิดได้ไม่เกิน 4 ห้อง หรือคิดเป็น 20% จากจำนวนรับเด็กทั้งหมด

ส่วนการเรียกรับเงิน บริจาคจะต้องทำอย่างโปร่งใส โรงเรียนควรหยุดสร้างอะไรใหญ่ๆ ตลอดจนการจัดทำกิจกรรม หรือให้นักเรียนซื้อชุดต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นภาระต่อผู้ปกครอง เด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่ได้รับทุน โรงเรียนควรยกเว้นหรือลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้แก่เด็ก ส่วนปัญหาแป๊ะเจี๊ยะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้เข้ามาตรวจสอบนั้น สพฐ.ได้ย้ำมาตลอดว่าการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะนั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว ขอให้โรงเรียนดึงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ดูแล แก้ไขปัญหาเด็กติดเกม ติดบุหรี่ รวมถึงดูแลเด็กช่วงที่เด็กเรียนจบ ม.ปลาย และกำลังจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะบางคนไม่มีเงินเรียน ต้องการความช่วยเหลือ

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ย้ำ ร.ร.หยุดคิดการใหญ่สร้างภาระเด็ก

คุณ หญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการประชุมส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียน ที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูง 370 แห่งเข้าร่วมว่า ขอเน้นย้ำโรงเรียนพิจารณาให้รอบคอบว่าจะใช้วิธีใดในการคัดเลือกเด็ก ซึ่งการสอบคัดเลือก 100% มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนการนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้น ป.6 มาใช้ประกอบการ พิจารณาในการรับเด็กชั้น ม.1 นั้น ไม่ใช่นโยบาย แต่ให้ เป็นทางเลือก สำหรับการเปิดห้องเรียนพิเศษปีนี้ สพฐ. มีนโยบายให้เปิดได้ไม่เกิน 4 ห้อง หรือ 20% ของการ รับเด็กในห้องเรียนปกติ และเมื่อมีการเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงแล้วต้องทำให้มีคุณภาพด้วย


เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า นโยบายการรับนักเรียน ชั้น ม.3 เรียนต่อ ม.4 ในโรงเรียนเดิม ขอเน้นย้ำโรงเรียนแจ้งเงื่อนไขให้เด็กและผู้ปกครองทราบ และโรงเรียนต้อง ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงหากมีแนวโน้มว่าจะเรียนไม่ได้ต้องช่วยเหลือให้เรียนต่อ ไปได้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่จบไม่พร้อมรุ่นกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนดัง 19 โรงที่นักเรียนเกินกว่า 20% จบไม่พร้อมรุ่น และเกินกว่า 10% อีก 81 โรง ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง แม้บางโรงเรียนจะพยายามดึงเด็กกลับมาแต่ก็เรียนจบในปีถัดไปเพียง 40% ดังนั้น โรงเรียนต้องมีรูปแบบการศึกษาทางเลือกให้แก่เด็ก นอกจากนี้ผลคะแนนโอเน็ตชั้น ม.3 ยังพบว่าโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงยังมีนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ ปรับปรุง ขอให้ช่วยดูแล โดยต้องปรับปรุงเกิน 20% ในวิชาภาษาไทย 3 โรง คณิตศาสตร์ 314 โรง วิทยาศาสตร์ 356 โรง สังคมศึกษา 266 โรง และภาษาอังกฤษ 369 โรง บางวิชาต้องปรับปรุงถึง 80%


คุณ หญิงกษมากล่าวด้วยว่า ที่อยากเน้นย้ำคือ การเรียกรับเงินบริจาค และการกำหนดค่าใช้จ่าย เนื่องจากปีหน้าคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานเป็นล้าน ผู้ปกครองจะเดือดร้อนมาก ดังนั้น การรับเงินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างแท้จริง ที่สำคัญปี 2552 โรงเรียนควรหยุดสร้างอะไรใหญ่ๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรม หรือให้นักเรียนซื้อชุดต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อน ส่วนปัญหาแป๊ะเจี๊ยะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบถือเป็น สิ่งดี แต่ผู้ที่ตรวจสอบมากกว่าดีเอสไอคือผู้ปกครอง ซึ่ง สพฐ.ย้ำมาตลอดว่าการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะทำไม่ได้อยู่แล้ว.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

ตั้ง “กองทุนฉุกเฉิน” ช่วย นร.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า คณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินการทุนดังกล่าวรุ่น 3 ต้องชะลอไปก่อนจนกว่าจะสามารถนำเรื่องเสนอของบประมาณจาก ครม.ได้ ทั้งนี้สำหรับงบฯ ดำเนินการส่วนแรกจะของบฯกลาง 180 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรับสมัคร และเตรียมตัวนักเรียน ส่วนที่ 2 จะของบฯ ผูกพันจนกว่านักเรียนในรุ่นนี้จะศึกษาจบหลักสูตร เป็นงบประมาณ 4,900 ล้านบาท คณะกรรมการยังพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนทุนในรุ่นที่ 2 ที่ไปเรียนที่ประเทศสวีเดนแล้วเกิดอุบัติเหตุทำไฟไหม้ห้องพัก มูลค่าความเสียหายประมาณ 1 ล้านบาท เบื้องต้นคณะกรรมการได้ระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือแล้ว ขณะเดียวกันทางกระทรวงการต่างประเทศจะนำเงินจากเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน ต่างประเทศช่วยเหลือไปก่อน และจะหักเงินที่ต้องให้กับเด็กคนดังกล่าวเดือนละ 5,000 บาท ใช้คืนกระทรวงต่างประเทศ และเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นมาอีกคณะกรรมการมีมติว่าให้ตั้งกองทุน ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอีกได้.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

Wednesday, December 3, 2008

อนุ กก.เสนอ 3 รูปแบบตั้งเขตพื้นที่มัธยม

ดร. สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการสภาการศึกษาในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาตั้งเขตพื้นที่การ มัธยมศึกษาที่แต่งตั้งโดยสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการประชุมอนุกรรมการฯได้พิจารณาการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาจนได้ ข้อสรุปที่จะเสนอรูปแบบต่อที่ประชุมสภาการศึกษาตัดสินในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 จัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาทุกจังหวัด หรือ 76 เขต จะมีขนาดเล็กใหญ่ตามปริมาณงานและขนาดพื้นที่ของจังหวัด รูปแบบที่ 2 มีเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาทุกจังหวัด แต่จะมีการตั้งเครือข่ายงานวิชาการระหว่างเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาช่วยดูแล งานวิชาการให้มีความเข้มแข็ง และรูปแบบที่ 3 จัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา 46 เขต โดยจะมีการยุบรวมจังหวัดที่พื้นที่ใกล้เคียงกันมาอยู่ในเขตเดียวกัน


ดร. สุวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างบุคลากรจะจัดกรอบตามขนาดและปริมาณงานของเขตพื้นที่การ มัธยมศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งเขตใหญ่ก็จะมีบุคลากรมากกว่าเขตที่ขนาดเล็กกว่า โดยจะมีการโอนบุคลากรในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ.มาสังกัดกับเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนมัธยมศึกษาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและบริหารของเขตพื้นที่การ มัธยมศึกษาด้วย ส่วนโรงเรียนระดับประถมศึกษาก็ให้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติว่าโรงเรียนเอกชนระดับมัธยมศึกษาควรจะให้สังกัด สพท. หรือเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา จึงต้องเสนอที่ประชุมสภาการศึกษาพิจารณา


ดร. สุวัฒน์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะต้องเสนอให้ที่ประชุมสภาการศึกษาตัดสินด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, พ. ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการให้สอดรับกับการจัดตั้งเขตพื้นที่ การมัธยมศึกษาหรือไม่ หากเรื่องนี้ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภาการศึกษาแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเรื่องให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณาตัดสินเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะไม่ต้องเสนอปรับแก้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้ แต่รัฐมนตรีอาจใช้อำนาจประกาศตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาก็ได้โดยทั้งหมด นี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รมว.ศึกษาธิการ.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

เริ่มเห็นรูปร่างเขตพื้นที่มัธยมฯ

ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการสภาการศึกษาในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา จัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปทางเลือกการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาการศึกษา เป็น 3 ทางเลือก ได้แก่ 1. จัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมฯ ทุกจังหวัด หรือ 76 เขต โดยจะมีขนาดเล็กใหญ่ตามปริมาณงานซึ่งยึดจำนวนประชากรและสถานศึกษาเป็นหลัก 2. จัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมฯ 76 เขต แต่จะมีการรวมกลุ่มตั้งเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันในด้านวิชาการให้มีความ เข้มแข็ง และ 3. จัดตั้ง 46 เขต โดยรวมจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันมาอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะทำให้ได้เขตพื้นที่ที่มีโครงสร้าง ขนาด และปริมาณงานใกล้เคียงกัน

ดร.สุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงสร้างบุคลากรจะจัดกรอบตามขนาดและปริมาณงานของแต่ละเขต โดยจะมีการโอนบุคลากรมาจากโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษาก็ต้องมาอยู่ภายใต้เขตพื้นที่การมัธยมฯด้วย ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาก็ให้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตามเดิม ขณะที่โรงเรียนเอกชนยังไม่ได้ข้อยุติว่าระดับมัธยมศึกษาควรจะให้สังกัด สพท.หรือ เขตพื้นที่การมัธยมฯ ซึ่งเรื่องนี้จะเสนอให้สภาการศึกษาพิจารณาต่อไป

ดร.สุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการปรับแก้กฎหมายนั้นเนื่องจากเรื่องนี้เป็นความต้องการเร่งด่วน จึงจะพิจารณากฎหมาย 3 ฉบับก่อนว่าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธ ยมฯ หรือไม่ ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเสนอให้สภาการศึกษาตัดสิน ทั้งนี้อาจจะไม่ต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้ เพราะ รมว.ศึกษาธิการสามารถใช้อำนาจประกาศตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาก็ได้

“สำหรับการประชุมสภาการศึกษาที่เกรงว่าจะมีครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมฯมา รอฟังการประชุมเป็นจำนวนมากนั้น ผมพยายามบอกทุกครั้งว่าเวลาประชุมไม่ต้องมา เพราะคณะอนุกรรมการฯก็มีทั้งฝ่ายประถม ฝ่ายมัธยมฯและฝ่ายที่เป็นกลาง ซึ่งพยายามทำดีที่สุดแล้วไม่อยากให้มากดดันกัน เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพที่ไม่ดีได้” ดร.สุวัฒน์กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

สกอ.ทยอยขึ้นเว็บไซต์ข้อมูลแอดมิชชั่น 53

นางศศิธร อหิงสโก ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบและค่าน้ำหนักที่จะ นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับ นิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น ปี 2553 เพื่อนำขึ้นเว็บไซต์ ของ สกอ. ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังส่งข้อมูลมาไม่ครบ ถึงแม้จะมีการกำหนดว่าต้องส่งให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อที่ สกอ.จะได้นำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ ให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เข้ามาดูได้ อย่างไรก็ตาม สกอ.จะต้องทยอยนำข้อมูลที่ส่งมาแล้วขึ้นเว็บไซต์ไปก่อน เพราะที่ผ่านมามีนักเรียนและผู้ปกครองสอบถามเป็นจำนวนมากว่า มหาวิทยาลัยจะใช้องค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชั่น 2553 อะไรบ้าง ทั้งนี้ข้อมูลที่จะนำขึ้นเว็บไซด์ในช่วงแรกจะเป็นข้อมูลแอดมิชชั่นกลางก่อน ส่วนแอดมิชชั่นรับตรงนั้น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเป็นผู้รวบรวมต่อไป

ด้าน รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากต้องการทราบองค์ ประกอบและค่าน้ำหนักของแอดมิชชั่นทั้งการรับตรง และแอดมิชชั่นกลางของปี 2553 ว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะใช้อะไรบ้าง ซึ่ง ทปอ. และ สกอ. ก็กำลังเร่งให้มหาวิทยาลัย ส่งข้อมูลมาให้ครบ แต่เมื่อยังมาไม่ครบก็ต้องทยอย นำส่วนที่เสร็จเรียบร้อยแล้วขึ้นไปก่อน อย่างไรก็ตามในการประชุม ทปอ. วิชาการ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 8-9 ธ.ค. นี้ ตนจะติดตามเรื่องนี้จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ด้วย ว่า มีผลกระทบกับมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง รวมทั้งบัณฑิตที่อาจจะต้องตกงาน เพื่อเตรียมมาตรการแก้ปัญหาร่วมกัน.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Tuesday, December 2, 2008

ร.ร.2.6 พันแห่งขอใช้หลักสูตรใหม่

สพฐ.เดินหน้านำร่องหลักสูตรใหม่ในร.ร. 550แห่งในปีการศึกษา 2552 ระบุอบรมครู-ศึกษานิเทศก์ในโครงการกว่า 1.8 พันคนเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ พร้อมเปิดให้โรงเรียนทั่วไปใช้หลักสูตรใหม่สอนเผยมีร.ร.2.6 พันแห่งทั่วประเทศยื่นเรื่อง

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยความคืบหน้าในการนำ ร่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปรับปรุงปีพ.ศ.2551ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดโครงการนำร่องโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐานที่ปรับปรุงใหม่ในเขตพื้นที่การศึกษา 185 เขตแบ่งเป็นเขตพื้นที่ละ 3 โรงเรียนแยกเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ กลางและเล็ก รวมทั้งสิ้น 550 โรงเรียน ขณะนี้สพฐ.ได้เริ่มจัดอบรมครูและศึกษานิเทศก์ที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละ ภูมิภาคที่มี 1,850 คนแล้วคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ จะจัดอบรมแล้วเสร็จและเริ่มโครงการนำร่องหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ในปีการ ศึกษา 2552

รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันสพฐ.ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนในแต่ละเขตพื้นที่สามารถจัดการเรียน การสอนโดยใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่คู่ขนานไปกับโครงการนำร่องจัดการเรียน การสอนหลักสูตรใหม่ของสพฐ. โดยมีโรงเรียนทั่วประเทศยื่นเรื่องเข้ามาแล้วประมาณ 2,600 โรงเรียน เช่น โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา กทม. เขต 1 ประมาณ40 โรงเรียนขอจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่คู่ขนานไปกับ โครงการนำร่องของสพฐ. โรงเรียนในเขตพื้นที่กทม.เขต 2 ที่มี 37 โรงเรียน ก็ขอจัดการเรียนการสอน โดยใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่เช่นกัน ส่วนหนังสือเรียนและสื่อการสอนยังใช้ของเดิมได้ต่อไป เพราะเนื้อหาหลักสูตรไม่แตกต่างกันมาก

” หลังจากนั้นในปีการศึกษา 2553 จะใช้หนังสือ สิ่อการสอนใหม่ทั้งหมดโดยในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ สพฐ.จะเชิญบริษัทเอกชนที่ผลิตหนังสือเรียน สื่อการสอนมาประชุมทั้งหมด และในเดือนธันวาคม ปี 2552 จะประกาศรายชื่อหนังสือสื่อการสอนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้โรงเรียนเลือกใช้ในการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2553 ทั้งนี้โรงเรียนทั่วประเทศจะใช้หลักสูตรใหม่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมตั้ง แต่ชั้นป.1-ม.6 ในปีการศึกษา 2555 “นายวินัย กล่าว

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ก.ค.ศ.สัมมนาพัฒนาครูทั้งระบบ 4 ธ.ค.

ก.ค.ศ. ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคุรุสภา สถาบันพัฒนาครูฯจัดสัมมนาพัฒนาครูทั้งระบบในวันที่ 4 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 2ธ.ค.2551 นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า คุณภาพการศึกษาจะก้าวหน้าได้ปัจจัยสำคัญก็คือครู ดังนั้นมีความจำเป็นต้องพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ ให้มีความสอดคล้องกันตั้งแต่กระบวนการผลิตครู การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การพัฒนาครู การประเมินเพื่อให้ครูมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตลอดจนการจัดสวัสดิภาพครู ซึ่ง นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เชิญผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ก.ค.ศ. คุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) สำนักงานสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมสัมมนาในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ณ โรงแรมสวนดุสิต เพลส กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาแนวทางในการเชื่อมโยงและประสานการพัฒนาวิชาชีพครูร่วมกัน

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวอีกว่า หลังจากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้แล้ว คาดว่าผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่าง ๆ จะได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่คุณภาพการศึกษาของชาติต่อไป

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

เลื่อนประชุมครูโลก-สัมมนาสภาครูอาเซียน

สพฐ.เลื่อนประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติครั้งที่ 4 ในโอกาสวันครูโลกที่กำหนดจัดในวันที่ 8-11 ธ.ค.นี้ ขณะที่คุรุสภาเลื่อนสัมนาสภาครูอาเซียนครั้งที่ 24 ที่กำหนดจัด 12-16 ธ.ค.นี้ ระบุยังไม่มีกำหนดชัดเจน จัดเมื่อใด เหตุสถานการณ์ในไทยไม่ปกติ

นาย วินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ สพฐ. ได้ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 ในโอกาสวันครูโลก และการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 12 เรื่อง นวัตกรรมคุณภาพเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8-11 ธันวาคม 2551 ณ อิมแพค เมืองทองธานีโดยมีชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วม 2,500 คนนั้น จากการประสานงานไปยังยูเนสโก พบว่า วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ รวมประมาณ 350 คน ไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ เนื่องจากบางประเทศไม่อนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทย เพราะสถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่ปกติ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการจัดงานดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้ประมาณ 2 เดือน จะสามารถกำหนดการจัดงานดังกล่าวใหม่ได้

นาย องค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ตามที่คุรุสภาเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสัมมนาสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 24 เรื่อง Sustainable Environment Education for Quality of Life โดยได้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 12 - 16 ธันวาคม 2551 ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาจากองค์กรสมาชิกสภาครู อาเซียน 9 ประเทศ จำนวนประมาณ 1,300 คน เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ไม่ปกติ คุรุสภาจึงได้เลื่อนการประชุมสัมมนาสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 24 ออกไปโดยไม่มีกำหนดเช่นกัน ส่วนจะจัดเมื่อใดนั้นจะแจ้งให้ทราบต่อไป


ข้อมูลจาก คมชัดลึก

สทศ.อึ้งเด็กมึนวัดความถนัด GAT-PAT

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เวลา 10.30 น. ที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่องการศึกษาไทย “ของใคร โดยใคร เพื่อใคร” โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณ-พิทักษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร ศ.ดร.อุทุมพรกล่าวว่า การรับสมัครสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT ที่ผ่านมา สทศ.พยายามประชาสัมพันธ์ว่าไม่จำเป็นต้องสอบทุกครั้งทุกวิชา แต่ ให้เลือกสอบครั้งที่มั่นใจที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าสมัคร แต่พบพฤติกรรมการสมัคร มี 29 คน ที่สมัครสอบทุกครั้ง ทุกวิชา นอกจากนี้ สทศ.ได้มอบ ซีดีแนะนำการสอบ GAT และ PAT ให้กับ ร.ร. จำนวน 3,000 แผ่น แต่กลับพบว่าหลายโรงผู้บริหาร ร.ร.ไม่ให้ความสำคัญ เก็บซีดีไว้ไม่ยอมอธิบายให้ ครู หรือเด็กฟัง จึงทำให้การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร

คุณหญิงกษมากล่าวว่า มีหลายฝ่ายถามว่า GAT, PAT จะเป็นการเพิ่มภาระในการสอบมากขึ้นหรือไม่ ตนมองว่าการสอบ GAT, PAT เป็นสิ่งที่ตกผลึกความสามารถที่เด็กมีอยู่ในตัวเอง ซึ่งไม่ผูกพันกับเนื้อหา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องติว หรือไปเรียนกวดวิชา อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้บริหาร ร.ร.ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ธ.ค.นี้ สพฐ.จะเชิญ ศ.ดร.อุทุมพร มาคุยกับ ผอ.ร.ร.ยอดนิยม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริหารและครูแนะแนว ว่าการสอบ GAT, PAT คืออะไร

น.ส.นฤมล ทิพย์รักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร.ร.ศึกษานารี กล่าวว่า ตอนนี้เด็กมีความเข้าใจเรื่องแอดมิชชั่น GAT และ PAT น้อยมาก ส่วนมากเป็นการรับรู้ว่าต้องสอบมากกว่า ดังนั้น การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการสร้างความเข้าใจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้จะเป็นการเสวนา สอบถามความคิดเห็นเด็กหลังจากที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจไปแล้ว อีกทั้งเมื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กก็ไม่เคยนำไปปฏิบัติ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นการดีที่ทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ตนมองว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไปเรียนกวดวิชา เพื่อมีความรู้เยอะๆ เห็นแก่ตัว เพราะต้องการแข่งขันให้ชนะผู้อื่น และเด็กมีเวลาทำกิจกรรมน้อยลงเรื่อยๆ.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

Monday, December 1, 2008

วอนรัฐ.ส่งเสริมคนตาบอดเรียนหนังสือ

มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ วอนรัฐหนุนงบประมาณช่วยส่งเสริมคนตาบอดให้ได้เรียนหนังสือ ฝึกอาชีพ ชี้ที่ผ่านมารัฐหนุนเพียง 3 ล้าน ขณะที่รายจ่ายกว่า 30-40 ล้านบาท แจงถึงเป็นร.ร.เอกชนแต่เป็นเอกชนพิเศษ พร้อมเผย 12 ธ.ค.นี้ เตรียมฉลอง “ครบรอบ 70 ปี การศึกษาคนตาบอดไทย” ด้าน “ไปรษณีย์” สร้างแสตมป์4 คอลเลคชั่น หารายได้ช่วยคนตาบอด แจ้งมีจำนวนจำกัด

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวครบรอบ 70 ปีการศึกษาคนตาบอดไทย และครบรอบ 200 ปี หลุยส์ เบรลล์ ผู้ให้กำเนิดอักษรเบรลล์ โดยมีคุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมด้วยนายวิรัช ศรีตุลานนท์ ประธานสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมแห่งประเทศไทย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภท และนายเมธินทร์ ลียากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)

คุณหญิงอุไรวรรณ กล่าวว่ามูลนิธิฯสงเคราะห์ผู้พิการทางสายตาทั้งชายและหญิง โดยดำเนินงานในแขนงต่างๆ ที่สอดคล้องกับความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.ร.ร.สอนคนตาบอดกรุงเทพ เป็นร.ร.เอกชนพิเศษ ที่เกิดขึ้นโดยมิสเยเนวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ที่เปิดรับนักเรียนทั้งประจำและไปกลับ อายุ 6-18 ปี ใช้ระบบการสอนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อนักเรียนจบชั้นประถมศึกษา ได้ขยายการศึกษาโดยจัดการเรียนรวม ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 260 คน 2.ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดนนทบุรี รับผู้พิการตาบอดชายอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ฝึกอบรมวิชาชีพ 3.ศูนย์ฝึกอาชีพตาบอดสามพราน รับผู้การตาบอดหญิงฝึกอาชีพ 4.ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านการศึกษาและสาระบันเทิงต่างๆ สำหรับคนตาบอด เช่นการผลิตหนังสือเบรลล์ ให้บริการด้านห้องสมุด และ5 ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด เป็นสถานที่ทำงานชั่วคราว ซึ่ง

“ทั้ง 5 ศูนย์ มีผู้พิการทางสายตาที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯประมาณ 400 คน ซึ่งมูลนิธิต้องหางบประมาณปีละประมาณ 30-40 ล้านในการดูแลคนทั้งหมด แต่มูลนิธิฯ ได้รับงบประมาณ จากรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรัฐให้งบฯสนับสนุนเพียง 3 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนของมูลนิธิฯเดือนละ 3-5 ล้าน ที่ผ่านมาพยายามขอการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะต่อให้ร.ร. ศูนย์ต่างๆ เป็นของเอกชน แต่เป็นเอกชนพิเศษ ที่ต้องดูแล ให้การศึกษาแก่ผู้พิการทางสายตา จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการการเรียนการสอน และการฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการได้มีงานทำ มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัวได้” คุณหญิงอุไรวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดงานวันรำลึกอ.เจนีวีฟ คอลฟีลด์ ครบรอบ 70 ปี การศึกษาคนตาบอดไทย และครบรอบ 200 ปี หลุยส์ เบรลล์ ผู้ให้กำเนิดอักษรเบรลล์ จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค. สำหรับถือเป็นพิเศษ โดยในงานจะมีการเสวนาเพื่อการศึกษาของผู้พิการทางสายตา และสดุดีเกียรติคุณอาจารย์เจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ให้กำเนิดการศึกษา พร้อมจัดนิทรรศการ ที่ ร.ร.สอนคนตาบอด เพื่อให้คนสายตาดีได้เข้าใจคนตาบอดได้ดียิ่งขึ้น

นายเมธินทร์ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยเห็นความสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยสร้างโอกาส หารายได้ ให้แก่ผู้พิการ ในวาระครบรอบ 70 ปีการศึกษาคนตาบอดไทย และครบ 200 ปีหลุยส์ เบรลล์ ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์ ไปรษณีย์ไทยจึงจัดสร้างตราไปรษณียากรส่วนตัวทั้งแบบที่ระลึก และแบบใช้งาน รวม 4 คอลเลคชั่นในจำนวนจำกัด และไปรษณียบัตรส่วนตัวที่ระลึก 5,000 ชุด โดยใช้อักษรเบรลล์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้มีคุณูปการต่อผู้พิการทางสายตา ของโลกและของไทย ทั้งนี้ในปี2552 จะมีการผลิตแสตมป์ดวงแรกที่สามารถสื่อข้อความตรงถึงผู้พิการทางสายตาได้ด้วย

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานในวันที่ 12 ธ.ค.2551 ที่ร.ร.สอนคนตาบอด ติดต่อได้ที่ โทร02-247-6031 และ02-264-8365-71 ในวันและเวลาทำการ ส่วนสนใจซื้อแสตมป์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการนั้น สามารถซื้อได้ภายในงานวันที่ 12 ธ.ค.2551 เช่นเดียวกัน

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

สพฐ.แจงห้ามเด็กต่ำกว่า15ปีชกมวยอาชีพ

เลขาธิการกพฐ.แจงกมธ.กีฬา สพฐ.ห้ามเด็กต่ำกว่า 15 ปีชกมวยอาชีพ เพราะหวั่นกระทบต่อสมองเด็ก ย้ำไฟเขียวมวยสมัคร เพื่อส่งเสริมการเรียนมวยไทย ชี้ตั้งแต่ออกหนังสือสั่งการปี 50 ยังไม่มีร.ร.และเด็กต้าน เตรียมเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเสวนาใหญ่เพื่อหาข้อยุติธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในช่วงปี 2550 ให้สอดส่องกวดขันอย่างใกล้ชิด และ ได้มีหนังสือสั่งการให้สถานศึกษาถือปฏิบัติ 3 ประการ ได้แก่ ห้ามใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่จัดการแข่งขันชกมวย กำชับไม่ให้ครูนำนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไปชกมวยอาชีพ และให้สถานศึกษาแนะนำเด็กและผู้ปกครองว่า การขึ้นชกมวยจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น ระบบสมอง ความจำ และสายตา โดยอาจขอความร่วมมือจากแพทย์มาช่วยให้ความรู้ถึงผลกระทบเพิ่มด้วยนั้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การท่องเที่ยวและกีฬา วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่าหนังสือสั่งการดังกล่าวเข้มงวดเกินไป และไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จึงควรยกเลิกหรือปรับ

ดังนั้นตน จึงขอให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ ปัญหาเรื่องความเหมาะสมที่จะอนุญาตหรือส่งเสริมให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นเวทีชกมวยอาชีพ เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่มีการโต้แย้งมาช้านาน เช่น มีการสำรวจของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (ส.ย.ช.)เมื่อปี 2542 ที่เก็บข้อมูลจากค่ายมวย 50 แห่ง พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สูงถึงร้อยละ 47 โดยกว่าครึ่งยอมรับว่าต้องทานยาขับเลือดช้ำออกจากร่างกาย ยิ่งกว่านั้นเมื่อปี 2550 ได้มีรายงานเพิ่มเติมจาก Child Watch Project สถาบันรามจิตติ พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นชกมวยไทย บนเวทีอาชีพ กว่า 8,000 คน และคาดว่าทั่วประเทศจะมีนับหมื่นคน รายได้ที่ได้มาต้องแบ่งหลายส่วน และยังต้องเจ็บตัวทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมองไม่เห็น

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สมาคมกุมารแพทย์ ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันของกุมารแพทย์ว่า จะต่อต้านการชกมวยในหมู่เด็กและเยาวชน และจะช่วยกันให้การศึกษาแก่กลุ่มเสี่ยงถึงภัยที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬาที่ไม่เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บที่ ศีรษะ ส่วนในประเทศอังกฤษมีการวิจัยที่พบว่า จะส่งผลกระทบต่อสมอง หู ตา คอ และจมูก ซึ่งสมาคมแพทย์ ได้จัดพิมพ์แผ่นพับเผยแพร่ไปยังโรงเรียนให้ระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น 3. อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้เถียงว่าผลงานวิจัยจากมวยสากล อาจนำมาใช้กับมวยไทยไม่ได้ เพราะมวยไทยไม่ได้เน้นการต่อยศีรษะเช่นมวยสากล ดังนั้นนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงกำลังติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อเด็กที่ชกมวยจากค่ายมวยต่างๆ 40 กว่าแห่ง และจะมีผลนำเสนอได้ภายในเดือนมีนาคม 2552

“ขอ ย้ำว่า สพฐ. ไม่ได้ห้าม ทั้งยังส่งเสริมการเรียนมวยไทยโดยบรรจุเรื่องนี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการ สอน และสถานศึกษายังสามารถจัดแสดงสาธิตมวยสมัครเล่นได้ แต่สพฐ.ถือเป็นนโยบายที่จะไม่ให้โรงเรียนและครูนำเด็กหรือส่งเสริมให้เด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นเวทีชกมวยอาชีพ หากจะทำ ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดและต้องดูแลไม่ให้มีเรื่องการพนันโดยเด็ด ขาด อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีหนังสือสั่งการไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ก็ยังไม่เคยมีครู โรงเรียน หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ แจ้งถึงความเดือดร้อนหรือขอต่อรองให้ยกเว้น ลดหย่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา สพฐ. จะจัดเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา กมธ.เด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประชุมได้ราวต้นเดือนธันวาคมนี้” คุณหญิงกษมา กล่าว


ข้อมูลจาก คมชัดลึก

คณะวิทย์จุฬาฯแยกสอบเอง ปีละครั้งเก็บไว้ปีเริ่มปี

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมจัดสอบวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาเอง ปีละ 2-4 ครั้งเก็บคะแนนไว้ได้ 2 ปีเริ่มเปิดสอบปี 2552 เชื่อช่วยขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยให้ดีขึ้นได้

ศ.ดร.สุพจน์หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหานิสิตนักศึกษาสาย วิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพตกต่ำ เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณบดีคณะ วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) มีมติจะขอแยกข้อสอบวิทยาศาสตร์ เป็นวิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อใน สถาบันอุดมศึกษา ด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นส์ เพราะการ รวมข้อสอบนั้นไม่สามารถวัดความสามารถของเด็กแต่ละคนที่จะเข้าเรียนในสาย วิทยาศาสตร์ได้ และการรวมข้อสอบมีผลให้นักเรียนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ต้อง ออกกลางคันเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียง พอ แต่ให้เริ่มแยกข้อสอบตั้งแต่ปี 2554 จากเดิมเคยเสนอแยกข้อสอบปี2553 เป็น เรื่องที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วโดยการทดสอบมาตรฐานวิทยาศาสตร์ จะเหมือนการ ทดสอบโทเฟล ที่เด็กพร้อมเมื่อไหร่ก็มาสอบ และเมื่อต้องการจะเข้าเรียนอะไรก็ นำคะแนนนั้นไปใช้ได้ทันที โดย ทวท.เป็นผู้ออกข้อสอบเองและขอให้สถาบันทดสอบ ทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบให้

ทั้งนี้ การจัดสอบดังกล่าวใครจะมาสอบก็ได้จัดสอบปีละ 2-4 ครั้งสอบ 4 วิชาคือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา จัดสอบปีละ 2-4 ครั้งเก็บคะแนนไว้ ได้ 2 ปีเริ่มเปิดสอบตั้งแต่ปี 2552 แต่คะแนนดังกล่าวจะนำมาใช้ในการเข้า ศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ รวมถึงคณะอื่นๆ ของจุฬาฯ ที่ต้องการนำคะแนน นี้ไปใช้ ในปี 2554 เพราะในการคัดเลือก2553 คณะได้ประกาศให้เด็กทราบแล้วว่า จะต้องใช้อะไรบ้างและหากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต้องการจะนำคะแนนนี้ไป ใช้ ก็ได้ เพราะเด็กจะได้ไม่ต้องไปวิ่งรอกสอบ เชื่อว่าการจัดทดสอบนี้จะช่วย ขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยให้ดีขึ้นได้ จะทำให้รู้ว่าเด็ก แต่ละคนมีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร และโรงเรียน ต่างๆ จะได้ปรับการเรียนการสอนด้วย

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

แม่ฟ้าหลวงส่งมอบไวแม็กซ์1 ธ.ค.ขยายโอกาสการศึกษา21ร.ร.

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงส่งมอบโครงการไวแม็กซ์ พร้อมการใช้งานจริงตามโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษาโดยการสนับสนุนโครงการจาก กทช. เพื่อสร้างเครือข่ายและขยายโอกาสการศึกษาไปสู่21โรงเรียนในจ.เชียงราย

นาวาอากาศเอกดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี สารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) เปิดเผยว่า โครงการต้นแบบศูนย์ทาง ไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนม์มา ยุ 80 พรรษาโดยการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ(กทช) เป็นโครงการเพื่อต้องการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพของครู อาจารย์และนักเรียน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชนใน พื้นที่ บริเวณรัศมีโดยรอบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวนทั้ง สิ้น 21 โรงเรียน

สำหรับ ใช้เป็นองค์ความรู้และประยุกต์ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์เช่น การ ใช้งานระบบห้องสมุดดิจิตอล(E-libraries)ระบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom)จะเป็นการจำลองห้องเรียนบทเรียนในหนังสือ ผ่านหน้าจอ คอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารไวแม็กซ์ ทำให้ลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถาน ที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาช่วยให้ครูผู้สนอเข้าถึงองค์ ความรู้ต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

"โครงการนี้กทช.เปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยีไวแม็กซ์มาประยุกต์ ใช้งานจริงเป็นแห่งแรกของประเทศไทยไวแม็กซ์บรอดแบรนด์ ใช้สายความเร็วสูง นี้ จะช่วยพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ให้กับผู้คนในชุมชนได้หลาก หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต วิทยุ เสียงตามสาย โดยมฟ.เป็นฝ่าย ผลิตเผยแพร่ โดยจุดในการส่งสัญญาณหลักจะตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า หลวง กระจายครอบคลุมพื้นที่รัศมีโดยรอบ ศูนย์ทางไกลฯนี้จะเป็นช่องทางการ พัฒนาเกษตรกรในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย "คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. กล่าว

นอกจากนี้ยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการสร้างเครือ ข่าย ความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานการ ปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตลอดจนสถาบันการ ศึกษาทั่วประเทศเป็นการเพิ่มศักยภาพของการศึกษาของโรงเรียนในเขตชนบทให้ก้าว ไกลและมีคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองต่อไปได้ในอนาคตอีกด้วย

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ก.ค.ศ.ช่วยครูไม่ผ่านประเมินชำนาญการพิเศษ

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดอบรมและพัฒนาครูที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ ว่า ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอแนวทางการอบรมและพัฒนาผู้ไม่ผ่านการประเมินต่อที่ประชุม ก.ค.ศ. ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดทำแนวทางดังกล่าวเสร็จแล้ว รอเพียงให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะให้ความเห็นชอบก่อน โดยแนวทางหลักของการอบรมและพัฒนานี้ ได้แก่ 1.กลุ่มครูที่ไม่ผ่านการประเมินแต่คณะกรรมการอ่านผลงาน 2 ใน 3 คน มีความเห็นว่าให้ผ่านการประเมิน ซึ่งมีจำนวน 2,418 รายนั้น จะได้เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 3 วัน โดยการอบรมจะเน้นการวิจัยในชั้นเรียน เทคนิควิธีการสอนเนื้อหาสาระแต่ละกลุ่มสาระวิชา จากนั้นจะให้กลับไปพัฒนาการเรียนการสอน และปรับปรุงผลงานวิชาการเพื่อนำกลับมาเสนอต่อคณะกรรมการอ่านอีกครั้งผลงาน ภายในเวลา 6 เดือน และ 2.กลุ่มครูที่มีคณะกรรมการอ่านผลงาน 1 คน หรือ ไม่มีกรรมการอ่านผลงานให้ผ่านการประเมิน ซึ่งมีจำนวน 19,932 คน จะให้เข้ารับการอบรมพัฒนาประมาณ 5 วัน จากนั้นให้กลับไปพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนและเสนอผลงานวิชาการภายใน 1 ปี

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า การอบรมจะแบ่งเป็นภาคซึ่งอาจต้องใช้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้าน การฝึกอบรมและพัฒนาเข้ามาช่วยดำเนินการในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนโดยผู้เข้าอบรมจะต้องออกค่าใช้จ่ายบาง ส่วนเอง เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปตรวจสอบจำนวนผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษอีกครั้งเพื่อ ความชัดเจนจากนั้นจึงจะเปิดให้ผู้ไม่ผ่านประเมินยื่นสมัครเข้ารับการอบรม แต่หากใครไม่ต้องการเข้ารับการอบรมก็สามารถยื่นขอประเมินเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ทั้งหมดได้ ทั้งนี้คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการอบรมทั้งสองกลุ่มได้พร้อมกันภายในเดือน ธันวาคมนี้ นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ หรือ ว.2 ซึ่งได้ชะลอการใช้ออกไปนั้น ก็คงต้องรอให้การประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ที่คาดว่าจะมีผู้ยื่นขอรับการประเมินประมาณ 100,000 รายแล้วเสร็จก่อน.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ก.ค.ศ.ช่วยครูไม่ผ่านประเมินชำนาญการพิเศษ

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดอบรมและพัฒนาครูที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ ว่า ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอแนวทางการอบรมและพัฒนาผู้ไม่ผ่านการประเมินต่อที่ประชุม ก.ค.ศ. ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดทำแนวทางดังกล่าวเสร็จแล้ว รอเพียงให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะให้ความเห็นชอบก่อน โดยแนวทางหลักของการอบรมและพัฒนานี้ ได้แก่ 1.กลุ่มครูที่ไม่ผ่านการประเมินแต่คณะกรรมการอ่านผลงาน 2 ใน 3 คน มีความเห็นว่าให้ผ่านการประเมิน ซึ่งมีจำนวน 2,418 รายนั้น จะได้เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 3 วัน โดยการอบรมจะเน้นการวิจัยในชั้นเรียน เทคนิควิธีการสอนเนื้อหาสาระแต่ละกลุ่มสาระวิชา จากนั้นจะให้กลับไปพัฒนาการเรียนการสอน และปรับปรุงผลงานวิชาการเพื่อนำกลับมาเสนอต่อคณะกรรมการอ่านอีกครั้งผลงาน ภายในเวลา 6 เดือน และ 2.กลุ่มครูที่มีคณะกรรมการอ่านผลงาน 1 คน หรือ ไม่มีกรรมการอ่านผลงานให้ผ่านการประเมิน ซึ่งมีจำนวน 19,932 คน จะให้เข้ารับการอบรมพัฒนาประมาณ 5 วัน จากนั้นให้กลับไปพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนและเสนอผลงานวิชาการภายใน 1 ปี

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า การอบรมจะแบ่งเป็นภาคซึ่งอาจต้องใช้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้าน การฝึกอบรมและพัฒนาเข้ามาช่วยดำเนินการในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนโดยผู้เข้าอบรมจะต้องออกค่าใช้จ่ายบาง ส่วนเอง เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปตรวจสอบจำนวนผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษอีกครั้งเพื่อ ความชัดเจนจากนั้นจึงจะเปิดให้ผู้ไม่ผ่านประเมินยื่นสมัครเข้ารับการอบรม แต่หากใครไม่ต้องการเข้ารับการอบรมก็สามารถยื่นขอประเมินเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ทั้งหมดได้ ทั้งนี้คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการอบรมทั้งสองกลุ่มได้พร้อมกันภายในเดือน ธันวาคมนี้ นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ หรือ ว.2 ซึ่งได้ชะลอการใช้ออกไปนั้น ก็คงต้องรอให้การประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ที่คาดว่าจะมีผู้ยื่นขอรับการประเมินประมาณ 100,000 รายแล้วเสร็จก่อน.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Friday, November 28, 2008

ของบฯ 4 พันล้านบาท พัฒนาโรงเรียนเล็ก

ศ. ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ. ว่า สมศ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการนำร่องพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ. โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 จำนวน 220 แห่ง และได้หารือกับ สพฐ.จะขยายผลโครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มนี้ให้ได้ประมาณ 4,000 แห่ง ภายในปี 2553 โดยใช้งบประมาณพัฒนาโรงเรียนแห่งละ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้เสนอโครงการนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ของ ศธ. และงบฯที่จะใช้ในโครงการดังกล่าวประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ทราบว่า ศธ.ได้ของบฯโครงการเมกะโปรเจกต์จากรัฐบาลไปแล้ว


ผอ. สมศ. กล่าวต่อว่า จากการประเมินของ สมศ. พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาขาดแคลนครู และมีปัญหาเรื่องคุณภาพครู อีกทั้งครูต้องทำงานธุรการมากกว่าสอน และยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาโรงเรียนจะพิจารณาถึงปัญหาของโรงเรียนเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ สพฐ.จะเปิดตัวโรงเรียนขนาดเล็กในโครงการที่อยู่ใน 5 จังหวัด เช่น โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ นครสวรรค์ ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนที่ สพฐ.มีนโยบายจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาขาดแคลนครูอย่างมากและมีจำนวน นักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ของ สพฐ.นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ หากพูดคุยกับชาวบ้านแล้วไม่มีปัญหา โดยใช้วิธีจัดการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนที่ถูกยุบรวมในลักษณะของกลุ่ม โรงเรียน.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

ชงรื้อโครงสร้าง สพฐ.ยกฐานะ 4 กรมใหญ่

ตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 303 กำหนดให้มีการแก้ไขกฎหมายการศึกษาภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ โดยอาจต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบการ ศึกษาทุกระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้น คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เพื่อขอจัดตั้งสำนักหรือกรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ และ กรมวิชาการ ให้มีฐานะเป็นกรมภายใต้ สพฐ. ไปแล้ว โดยขณะนี้เข้าใจว่าเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งขึ้น แต่คิดว่ากระทรวงคงจะรอดูแนวโน้มการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรหลักอื่น ๆ ด้วย

“เหตุผลที่ สพฐ.เสนอขอจัดตั้ง 4 หน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีขอบเขตเนื้อหาและภาระงานมาก เช่นงานการศึกษาพิเศษก็มีโรงเรียนในสังกัดค่อนข้างมาก และวันนี้การบริหารจัดการก็ขึ้นตรง กับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษจึงควรมี กรมของตัวเอง ส่วนการประถมศึกษา และการมัธยมศึกษา ก็มีเจตนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารและสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเอง และเมื่อมีกรมที่ดูแลเฉพาะด้านแล้ว งานวิชาการก็ควรมีกรมที่ดูแลเป็นการเฉพาะเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละหน่วยงานมีพลังในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็จะมีสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ก็คงต้องผ่านอีกหลายด่าน แต่ถ้าสามารถตั้งเป็นกรมที่อยู่ภายใต้ สพฐ.ได้ตามที่เสนอไป ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ด้าน ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการสภาการศึกษา อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สพฐ. ซึ่งถ้าสามารถทำได้เชื่อว่าจะทำให้งานของ สพฐ. มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะผลจากการ ปฏิรูป การศึกษาที่ผ่านมาจะเห็นว่า เรายังมีปัญหา อยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดตั้งกรมตามที่สพฐ.เสนอได้ขอเพียงต้องเป็นกรมที่เล็ก แต่ทำงานด้านวิชาการ ศึกษาวิเคราะห์ วิจัย ติดตามประเมินผล และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่สถานศึกษา ไม่ใช่ไปดึงงานที่กระจายอำนาจไปแล้วกลับมาทำเองทั้งหมด.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Wednesday, November 26, 2008

ก.ค.ศ.อนุมัติวิทยฐานะเชี่ยวชาญเปิดทางบรรจุครูผู้ช่วย1.6พันคน

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งและวิทยฐานะ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีมติ ให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายพิศิษฐ์ วรรณศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบรบือวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มหาสารคาม เขต 1 นายทรงวุฒิ ผสมทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะโพธิ์(วันครู 2500) สพท.ชลบุรี เขต 2 และนายธวัช บุทธรักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี สพท.ชลบุรี เขต 1

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ 1 รายคือ นายสมมาต สังขพันธ์ สพท.ปทุมธานี เขต 2 และอนุมัติให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญ 1 ราย คือ นางดวงรัตน์ ปัญญาโกษา ครูโรงเรียนบ้านแป้นพิทยาคม สพท.ลำพูน เขต 1 นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ใช้อัตราข้าราชการครูที่ได้รับการจัดสรรคืน จากอัตราข้าราชการที่ยุบเลิกจากการเกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2550 มาบรรจุเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วยในโรงเรียนต่าง ๆ ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศูนย์การศึกษาพิเศษ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดรวมทั้งสิ้น 1,658 อัตราด้วย.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

สพฐ.จูงดีเอสไอถกรับเด็กรร.ดังชี้ข้อต่างแป๊ะเจี๊ยะกับเงินบริจาค

นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรวจสอบโรงเรียนดังที่เข้าข่ายเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือเงินกินเปล่า ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว และขณะนี้ยังไม่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องโรงเรียนเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ เข้ามายัง สพฐ. เพราะไม่ได้อยู่ในช่วงของการรับนักเรียน คาดว่าหลังจากการรับนักเรียนปีการศึกษา 2552 เสร็จสิ้นลง อาจจะมีการร้องเรียนเข้ามาก็ได้ อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องดี ที่ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่ง สพฐ.ก็จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้เข้มข้นเช่นกัน ทั้งนี้ในการประชุมผู้บริหารโรงเรียนดังทั่วประเทศ ในวันที่3-4 ธ.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ สพฐ.จะเชิญดีเอสไอเข้าร่วมชี้แจงและรับฟังข้อมูลการรับนักเรียนด้วย

“การขอรับเงินบริจาคจากผู้ปกครอง ต่างจากการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ เพราะเงินแป๊ะเจี๊ยะเป็นการเรียกรับเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ขณะที่การขอรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองทำเพื่อนำเงินมาพัฒนาโรงเรียน และมีกฎเกณฑ์รองรับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอให้โรงเรียนดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา มีการออกใบเสร็จให้แก่ผู้ปกครองอย่างถูกต้อง ที่สำคัญการรับเงินบริจาคจากผู้ปกครอง ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองเอง และหากโรงเรียนขอรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็จะมีการ ลงโทษทางวินัย อย่างไรก็ตามผมขอให้ผู้บริหารโรงเรียนช่วยทำความเข้าใจในเรื่องการรับบริจาค จากผู้ปกครองด้วย เพราะผู้ปกครองบางคนอาจไม่เข้าใจ และคิดว่าโรงเรียนขอรับเงินบริจาค เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ไฟเขียวอัตราบรรจุครูผู้ช่วยกว่า 1.6 พัน

ก.ค.ศ.อนุมัติวิทยฐานะเชี่ยวชาญให้ผอ.โรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครู รวม 5 รายพร้อมให้ใช้อัตราครูที่ได้รับคืนจากอัตราเกษียณบรรจุครูผู้ช่วยใน โรงเรียน-ศูนย์การศึกษาพิเศษกว่า 1.6 พันอัตรา

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เปิดเผยผล ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)วิสามัญ เกี่ยวกับตำแหน่งและวิทยฐานะซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนก.ค.ศ.เมื่อเร็วๆนี้ว่า ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้อำนวยเชี่ยวชาญ จำนวน 3 รายได้แก่ นายพิศิษฐ์ วรรณศรี ผอ.โรงเรียนบรบือวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)มหาสารคามเขต 1 นายทรงวุฒิ ผสมทรัพย์ ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะโพธิ์(วันครู 2500) สพท.ชลบุรี เขต2 และนายธวัช บุทธรักษา ผอ.โรงเรียนอนุบาลชลบุรี สพท.ชลบุรี เขต 1 และมีมติให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ 1 รายคือ นายสมมาต สังขพันธ์ สพท.ปทุมธานีเขต 2 และอนุมัติให้เลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญ 1 รายคื นางดวงรัตน์ ปัญญาโกษา ครูโรงเรียนบ้านแป้นพิทยาคม สพท.ลำพูน เขต 1

เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ใช้อัตราข้าราชการครูที่ได้รับจัดสรรคืนจากอัตรา ข้าราชการที่ยุบเลิกจากผลการเกษียณอายุราชการ ปีงบประมาณ 2550 เป็นตำแหน่งครูผู้ช่วยในโรงเรียนต่างๆในสพท.และศูนย์การศึกษาพิเศษตาม เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)กำหนดรวม 1,658 อัตราอีกด้วย

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

Friday, November 21, 2008

พระเทพฯเปิด “ไอซีทีพระราชดำริ”

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการ “12 ปี รัตนราชสุดา สารสนเทศ : ประสบการณ์จากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ” ที่โรงแรมมิราเคิล และทรงมีพระราชดำรัสว่า เทคโนโลยีสารสนเทศหากนำมาใช้ให้ ถูกวิธี จะสามารถช่วยพัฒนาภูมิปัญญา สร้างพลังและความเข้มแข็งให้แก่บุคคล ชุมชน และสังคมได้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแพร่หลาย ควรจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องคน เพื่อจะสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขีดความสามารถ รวมถึงด้านเทคนิค วิธีการ การคิด การวิเคราะห์ การกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสร้างจิตสำนึกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อันจะส่งผลให้คนและสังคมได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี การจัดงานนี้เป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์ และร่วมกันหาแนวทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสาสนเทศอย่างเหมาะสม เพื่อความเจริญมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ในสังคม” ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นฐานรวบรวมข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่มีความสามารถในการติดต่อระหว่างคนกับคน หรือคนกับเครื่อง ซึ่งการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือโทษขึ้นอยู่กับคน ที่ผ่านมาเคยมีคนตีความว่า รัฐที่ควบคุมเบ็ดเสร็จต้องใช้ข้อมูลไอซีที แต่บางคนก็ระบุว่าไม่ใช่ เพราะผู้ที่ควบคุมจริงๆ อาจเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการควบคุมประชาชน อย่างไร-ก็ตาม ความมั่นคงของประเทศและบุคคลต้องอาศัย 3 สิ่ง ประกอบด้วย สิทธิที่จะมีสถานะทางสังคมที่ใครละเมิดไม่ได้ สิทธิในการแสดงอิสรภาพทางความเห็น และสิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งเทคโนโลยี�สารสนเทศสามารถช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เหล่านี้ได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสดีขึ้นหลายอย่าง เช่น เรื่องการผลิตอาหาร และการแพทย์ เป็นต้น.

ข้อมูลจาก www.thairath.co.th

'ดีเอสไอ'เผย4รร.ในกทม.รับแป๊ะเจี๊ยะ

"ดีเอสไอ"วิ่งโร่พบ"สพฐ."หลังพบแป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียนเมืองกรุง 4 โรง ชี้เข้าข่ายมีการเรียกรับเงิน มาตั้งแต่ปี 47-49 พบทำเป็นขบวนการ ยันไม่พบผู้บริหาร และข้าราชการ มีเอี่ยว ปรามมีความผิดอาญา โทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต รวมถึงความผิดกฎหมายฟอกเงิน อธิบดีฯ เตรียมตั้งทีม ตรวจสอบเส้นทางการเงิน

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เข้าหารือร่วมกับนายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ. และผู้บริหาร สพฐ. เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขและป้องปรามปัญหาการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ เพื่อแลกกับการเข้าเรียน โดย พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า จากการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่าโรงเรียนชื่อดังสังกัด สพฐ. ในกรุงเทพมหานคร 4 โรง เข้าข่ายมีการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ โดยเป็นการดำเนินการในปี 47-49 ซึ่งพบทั้งเจ้าหน้าที่โรงเรียนเรียกรับเงินเอง และโรงเรียนเรียกรับผ่านนายหน้า ซึ่งขณะนี้ได้พยานหลักฐานเพื่อสอบสวนในทางลึกแล้ว พบว่าการเรียกรับเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินบริจาคเนื่องจาก มีพันธะผูกพันว่าต้องรับเด็กเข้าเรียน โดยทำกันเป็นขบวนการ แต่จากการตรวจสอบไม่พบว่ามี ผู้บริหารและข้าราชการในส่วนกลางเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า ความผิดของกรณีนี้ เข้าข่ายความผิดอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต และยังเข้าข่ายความผิดกฎหมายฟอกเงินด้วย โดยผู้เป็นนายหน้าวิ่งเต้นจะต้องได้รับโทษเท่ากับตัวการ ผมจึงอยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขอให้หยุดเรื่องนี้ เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ และอย่าสร้างมลทินให้แก่เด็ก ซึ่งดีเอสไอจะสืบสวนสอบสวนถึงที่สุด ยืนยันว่าไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง และปลัดกระทรวงยุติ ธรรมก็มอบนโยบายมาแล้วว่าให้ยกปัญหานี้เป็นเรื่องระดับกระทรวงฯ ส่วนคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานของรัฐจะต้องถูกดำเนินคดีโดยพนักงาน ป.ป.ช. แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ป.ป.ช.ยินดีที่จะโอนสำนวน หรือตั้งดีเอสไอ เป็นอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องนี้ ซึ่งดีเอสไอจะเร่งตรวจสอบเร่งนี้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ อธิบดีดีเอสไอได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาเป็นหน่วยตรวจสอบร่องรอยทางการเงิน และบัญชี ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ปปง.สรรพากร เป็นต้น.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

สพท.กทม.3 แต่งตั้งโยกย้าย 9 ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด

จากการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3 ซึ่งมีนายสมบัติ ขวัญดี ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยได้มีมติอนุมัติการย้ายข้าราชการ จำนวน 9 ราย ได้แก่ น.ส.จรีย์พร โน้ตชัยยา ผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.รร.) วัดสังข์กระจาย (แจ่มวิชาสอน) เป็น ผอ.รร.โฆสิตสโมสร, น.ส.อมราพร โพธิ์แดง ผอ.รร.บ้านปากคลองบางกระดาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ปราจีนบุรี เขต 1 เป็น ผอ.รร.วัดสังข์กระจาย (แจ่มวิชาสอน), นางเมตตา ศิริรัตน์ ผอ.รร.วัดช่างเหล็ก เป็น ผอ.รร.ประถมทวีธาภิเศก, นายเฉลิมพงษ์ ถนอมรัตน์ ผอ.รร.บ้านหนองบอน (นัยนานนท์อนุสรณ์) สังกัดสพท.กทม. 2 เป็น ผอ.รร.วัดช่างเหล็ก, นางสุมนมาศ วุฒิสง่าธรรม ผอ.รร.สตรีวัดระฆัง เป็น ผอ.รร.ทวีธาภิเศก, นางสุรณี ทศิธร ผอ.รร.มหรรณพาราม เป็น ผอ.รร.สตรีวัดระฆัง, นายประเสริฐ ผุดผ่อง ผอ.รร.ไชยฉิมพลีวิทยาคม เป็น ผอ.รร.ธนบุรีวรเทพีพลารักษ์, นางฉัฐชุลี เรืองศิริ ผอ.รร.พันท้ายนรสิงห์ สพท.สมุทรสาคร เป็น ผอ.รร.ไชยฉิมพลีวิทยาคม และ น.ส.ณิชาภา ประกายเกียรติ ผอ.รร.สตรีนนทบุรี บางใหญ่ สพท.นนทบุรี เขต 2 เป็น ผอ.รร.สวนอนันต์

นายสุรศักดิ์ ศรีสว่างรัตน์ ผอ.สพท.กทม.3 ในฐานะเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3 เปิดเผยว่า ในการดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัด สพท.กทม.3 ดังกล่าว ทางสพท.กทม.3 ได้พิจารณาคำร้องขอย้ายของผู้ที่ได้ยื่นคำร้องขอย้าย ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายได้พิจารณา หลังจากนั้นจึงได้นำเข้าสู่การประชุมของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา กทม.เขต 3 เพื่อพิจารณาอนุมัติย้ายและแต่งตั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั้งนี้ปัจจุบัน สพท.กทม.3 ได้ออกคำสั่งย้าย และแต่งตั้งข้าราชการดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ได้รับคำสั่งจะต้องมอบหมายงานในหน้าที่ และเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2551.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

'ศรีเมือง'จี้ กศน.สอนชาวบ้านใช้ไอที

นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการ ศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัด และ ศูนย์ กศน. อำเภอ ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก วันที่ 20 พ.ย. ที่โรงแรมอู่ทองอินน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์คือการทำให้คนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างทั่ว ถึง ซึ่ง กศน.คือ กลไกที่จะเติมเต็มการจัดการศึกษาของประเทศให้สมบูรณ์ได้ วันนี้ประเทศไทยยังมีคนระดับรากหญ้าในชนบทที่ยังไม่รู้หนังสืออีกมาก ดังนั้น กศน.จึงต้องเป็นแกนหลักในการนำความรู้ลงไปสู่คนกลุ่มนี้ โดยขอให้ผู้บริหาร กศน.นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สอนให้คนรู้จักใช้เทคโนโลยีในการหาความรู้ และสอนให้รู้จักรับและกลั่นกรองข้อมูลด้วย

'รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำแผนจัดระบบเครือข่ายวิทยุและเครือข่ายโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1 เดือน โดยมีเป้าหมายว่าในช่วงที่ตนเป็น รมว.ศึกษาธิการ จะต้องมีการจัดวางระบบการสอนผ่านเทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารสองทางได้ โดยมีเครือข่ายโยงใยในทุกหมู่บ้าน และให้ทุกคนสามารถเรียนรู้อยู่ที่บ้านได้

ด้าน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า กศน.ได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นในการดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียนประจำปี 2552 เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดนำไปใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนิน งาน 10 ด้าน ดังนี้ ด้านการศึกษานอกระบบ ด้านการศึกษาตามอัธยาศัย ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการสนับสนุนภาคีเครือข่าย ด้านการบริหาร ด้านการสนับสนุนโครงการพิเศษ และด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Thursday, November 20, 2008

สพฐ.สอบเอ็นทีป.3 ก.พ.ปีหน้า 8.6 แสนคน

สพฐ.เตรียมจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือเอ็นที ประจำปีการ ศึกษา 2551 สำหรับนักเรียนชั้น ป.3 ทั้งหมด8.6 แสนคนจาก 3.2 หมื่นโรงเรียน ทั่วประเทศ ระบุสอบวันที่ 19 กุมภาพันธ์2552 เผยข้อสอบปรนัยสุด หิน ! ทั้ง 3 วิชา "คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาไทย" เฉพาะวิชาภาษาไทยและ คณิตศาสตร์กำหนดให้นักเรียนต้องสอบอ่านออกเสียง เขียนเรียงความ และคิดเลข จริงด้วย

นางจิตตรียากล่าวต่อว่าการจัดสอบในปีนี้จะแตกต่างจากทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ใช้เฉพาะข้อสอบปรนัยเท่านั้น นักเรียนจึงมีโอกาสเดาคำตอบได้ถูกต้อง ทั้งที่ จริงแล้วเด็กทำข้อสอบไม่ได้ ส่งผลให้การทดสอบดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนได้ ความสามารถจริงของนักเรียน ประกอบกับในปีนี้ สพฐ.ต้องการข้อมูลการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนเพราะฉะนั้นจึงได้เพิ่มการทดสอบภาคปฏิบัติให้นักเรียน อ่านออกเสียงต่อหน้ากรรมการ ให้เขียนเรียงความและคิดเลขด้วย ซึ่งการเพิ่ม การทดสอบทั้ง 3 ส่วนเข้าไปจะช่วยให้วัดความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ และ คิดเลขจริงของนักเรียนแต่ละคน

นางจิตตรียากล่าวต่อว่านอกจากการจัดสอบเอ็นทีระดับชั้น ป.3 แล้วสพฐ.มี โครงการวิจัยในยุทธศาสตร์ปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วยเพราะ ฉะนั้น สพฐ.จะจัดสุ่มสอบระดับชั้นป.6 จำนวน25% รวมทั้งหมด2.5 แสนคน ในวิชา ภาษาอังกฤษ และวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้มอบให้สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งจัดสอบนักเรียนชั้นป.2, ป.5 และม.2 ทุกคนใน พื้นที่อย่างน้อย 2 วิชาคือ ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูล นักเรียนรายบุคคลทุกคน แล้วนำมาวางแผนพัฒนานักเรียนให้มีผลการเรียนดีขึ้นใน ปีต่อไปซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น อนึ่ง นักเรียนแต่ละระดับชั้น มีประมาณ 8 แสนคน

"การจัดสอบเอ็นทีระดับ ป.3 และสุ่มสอบนักเรียนป.6 ในโครงการวิจัย ยุทธศาสตร์ปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้นจะจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์2552 และใช้ข้อสอบจากส่วนกลางส่วนการจัดสอบ ระดับ ป.2, ป.5 และม.2 โดยาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) นั้น จะมีการ ประชุมกันอีกครั้งเพื่อวางปฏิบัติการดำเนินงานต่อไป นางจิตตรียากล่าว

อนึ่งการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในอดีตที่ผ่าน มา พบว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากคะแนนเฉลี่ยสอบตกทุกวิชา ยกเว้นวิชาภาษาไทย ที่ค่าเฉลี่ยสอบผ่านแต่ร่อแร่

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ครม.ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.การศึกษา7มาตรา

ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งหมด7 มาตราให้ สอดคล้องตามมาตรา49 และ80 ของรัฐธรรมนูญหวังให้คนไทยได้รับโอกาสการศึกษามาก ขึ้น รู้รักสามัคคี มีจิตสำนึกความเป็นไทย

นายศรีเมืองเจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภาย หลังร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าครม.ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.การ ศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 ของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้แก้ไขทั้งหมด 7 มาตรา เพื่อให้บทบัญญัติต่างๆ ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติสอดคล้องต่อ รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการ ศึกษาไม่น้อยกว่า12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่ เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ฯลฯ

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่านอกจากนั้นยังได้แก้ไขมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน ฯลฯ มีสิทธิ์จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็น ไปตามที่กำหนดในกระทรวงนั้น ให้แก้ไขโดยตัดคำว่า ขั้นพื้นฐานออกเช่นกัน และ เติมข้อความว่า โดยได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐตามที่ กฎหมายกำหนด เข้าไปรวมทั้งตัดคำว่า องค์กรวิชาชีพ"ออกไปด้วย เพราะได้เพิ่ม เติมมาตรา 12/1 กำหนดให้การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนการ ศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอด ชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้ มาตรา 12/1 นี้ล้อตามวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญมาตรา49

นายศรีเมืองกล่าวด้วยว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ชุมชนมาตรา 13 และ มาตรา 14 ก็ให้แก้ไขโดยตัดคำว่าขั้นพื้นฐานออก รวมทั้งมาตรา 23 การจัดการ ศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องให้ความรู้เรื่องเกี่ยว กับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคมนั้น ให้เติมคำเป็น ความรู้เกี่ยว กับตนเอง ความสัมพันธ์และหน้าที่ของตนเองกับสังคม เพื่อให้สอดคล้องตาม มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญสุดท้ายให้แก้ไขมาตรา 7 เดิมกำหนดไว้ว่าในกระบวนการ เรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ ให้เติมข้อความ " รู้รักสามัคคี ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจน ค่านิยมอันดีงาม" เข้าไปด้วย

ข้อมูลจาก คมชัดลึก

ก.ค.ศ.ปรับเกณฑ์ย้ายผู้บริหาร-ครู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ และ วิธีการในการบริหารงานบุคคลกรณีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูสายงานการสอนและการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อเตรียมแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและครูในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2551 ให้เกิดความเป็นธรรมและสามารถย้ายข้าม สพท.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา การพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่มีขนาดเดียวกันและสถานศึกษาที่มีขนาด เล็กกว่าหรือใหญ่กว่าไม่เกินหนึ่งขนาดพร้อมในคราวเดียวกัน และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีผลงานดีเด่นสามารถย้ายข้ามขนาดสถาน ศึกษาได้เป็นพิเศษ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูสายงานการสอนในโรงเรียน มัธยมศึกษาให้พิจารณาผู้ขอย้ายที่มีวุฒิและวิชาเอกตรงตามความต้องการของสถาน ศึกษาเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาที่สังกัด สพท. ควรแยกเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีผู้บริหารโรงเรียนประถมและมัธยม เพื่อให้สถานศึกษาได้ผู้บริหารที่มีความรู้ความสารมารถและประสบการณ์ตรงตาม ประเภทของการจัดการศึกษา โดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพิ่มเติม อาทิ ในบัญชีผู้บริหารโรงเรียนมัธยม ตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติว่าต้องดำรงตำแหน่งครูหรือเคยดำรงตำแหน่ง ครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่สายงานการสอนในโรงเรียนมัธยมมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปีและต้องมีประสบการณ์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ในโรงเรียน มัธยมมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี.

ข้อมูลจาก www.thairath.co.th

ไม่เชื่อน้ำยาดีเอสไอแก้แป๊ะเจี๊ยะ

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ออกมาแฉข้อมูลช่องทางผู้บริหารโรงเรียนดังเรียกเก็บเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ และเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีว่า เห็นด้วยกับความตั้งใจที่ดีเอสไอจะเข้ามาตรวจสอบการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างจริงจังหรือไม่ รวมทั้งหากมีหลักฐานแล้ว จะใช้กฎหมายฉบับใดเอาผิดกับผู้ปกครอง เพราะเป็นความยินยอมของผู้ปกครองที่ต้องการหาสิ่งดีๆให้กับลูก ดังนั้น ดีเอสไอจึงต้องถามตัวเองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นความผิดทางกฎหมาย หรือความผิดทางสังคม ซึ่งไม่ได้เข้าข้างใคร แต่อยากให้ดูเจตนารมณ์ของผู้ปกครอง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาจนรับรู้กันทั่วอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะทำกันทุกที่โดยเฉพาะโรงเรียนดีเด่นดัง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเรียกรับบริจาคกันล่วงหน้าก่อนที่จะรับสมัคร ซึ่งต้องเสียเงินขั้นต่ำ 3 ล้านบาทต่อคน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนดัง 2 คน เข้าให้ รายละเอียดขั้นตอนการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะต่อดีเอสไอว่า ทั้ง 2 คนเคยร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วเมื่อปี 2550 และมีการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนได้ออกใบเสร็จถูกต้อง อีกทั้งผู้ปกครองเต็มใจ ที่สำคัญเงินบริจาคดังกล่าวนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียน ไม่ได้ เข้ากระเป๋าใคร ซึ่ง 1 ใน 2 คนนี้ก็ได้ทำหนังสือขอถอนเรื่องนี้ออกไปแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การที่ดีเอสไอจะเข้ามาตรวจสอบการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียนนั้นเป็น เรื่องดี และ สพฐ.พร้อมที่จะให้ ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส.

ข้อมูลจาก www.thairath.co.th

ชะลอแยกบัญชีย้ายผู้บริหารรร.

นายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือ ให้ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในระดับช่วงชั้นเดียวกันไปแต่งตั้งในสถานศึกษาที่ มีขนาดเดียวกัน หรือสถานศึกษาที่มีขนาดเล็กกว่า หรือใหญ่กว่าไม่เกิน 1 ขนาดพร้อมในคราวเดียวกัน และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีผลงานดีเด่นสามารถย้ายข้ามสถานศึกษา ได้ ส่วนการย้ายข้าราชการครูสายงานสอนไปแต่งตั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษาให้พิจารณา ผู้ขอย้ายที่มีวุฒิและวิชาเอกตรงตามความต้องการของสถานศึกษาเท่านั้น และต้องไม่เกินจำนวนครูในวิชาเอกนั้น ๆ ทั้งนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. จะจัดทำคำอธิบายรายละเอียดในหลักเกณฑ์เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ปฏิบัติตรงกันต่อไป

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ควรดำเนินการเมื่อสิ้นอายุบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกตามประกาศ สพฐ. ที่ประกาศ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2550 ซึ่งบัญชีนี้จะหมดอายุในวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ส่วนกรณีการขอแยกบัญชีผู้บริหารสถานศึกษาเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา และบัญชีผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษานั้น ให้ชะลอไว้ก่อน.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

ผอ.รร.โอดประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ไม่สอดคล้องกับงาน

นายจีระศักดิ์ จันทุดม ผอ.โรงเรียนราชดำริ เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษที่เสนอผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีและ เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ กำลังหารือเพื่อเสนอแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของกลุ่ม ผู้อำนวยการสถานศึกษาต่อนายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมิน เนื่องจากหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษเป็นผู้อำนวย การเชี่ยวชาญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสม ผู้อำนวยการสถานศึกษามีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารสถานศึกษา และบุคลากร ไม่เชี่ยวชาญการเขียนผลงานวิจัย ทำให้เขียนผลงานวิจัยตรงตามหลักเกณฑ์เป็นไปได้ยาก ซึ่งตนคิดว่าหลักเกณฑ์การประเมินที่ดีควรจะสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง

“ผอ.สถานศึกษาบางคนส่งผลงานเข้ารับการประเมินหลายครั้งก็ไม่ผ่าน ทำให้เสียกำลังใจและส่งผลกระทบต่อการบริหารสถานศึกษา โดยในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร 1-3 ในรอบ 4 ปีนี้ มีผอ.สถานศึกษาเสนอผลงานเข้ารับการประเมินกว่า 100 คน แต่ผ่านเพียง 3-4 คนเท่านั้น จึงอยากให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ให้เป็นหลักเกณฑ์ที่สม ประโยชน์ทั้งกับราชการและบุคลากรด้วย” นายจีระศักดิ์ กล่าว.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

อ.จุฬาฯเอาด้วยกำจัดแป๊ะเจี๊ยะแต่หวั่นทำไม่ได้

อาจารย์จุฬาฯ ออกโรงเห็นด้วยกับแนวคิดล้างบางระบบ “แป๊ะเจี๊ยะ” ฝากเด็กเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมดัง แต่ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริง แล้วจะใช้กฎหมายฉบับไหนเอาผิด เพราะทำกันมานานจนเป็นเรื่องปกติ แนะ "ดีเอสไอ" ศึกษาให้ดีว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือผิดทางสังคม ย้อนถาม “รมต.ศรีเมือง” เอางบฯ ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือทุ่ม “เมกะโปรเจคท์” ด้านกมธ.การศึกษา วุฒิสภา ชี้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการเกลี่ยโรงเรียนดังออกนอกเมือง

กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดประเด็นใหม่ของสังคม เตรียมกวาดล้างขบวนการผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังหลายแห่ง เรียกเงินกินเปล่าจากผู้ปกครองแลกกับการให้บุตรหลานได้เข้าเรียน ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 พ.ย. รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตนเห็นด้วยในหลักการกับความตั้งใจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเข้ามาตรวจสอบ แต่ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างจริงจัง และยั่งยืนหรือไม่ รวมทั้งหากมีหลักฐานแล้ว จะใช้กฎหมายฉบับใดเอาผิดกับผู้ปกครอง เพราะเป็นความยินยอมของผู้ปกครองที่ต้องการหา สิ่งดี ๆ ให้กับลูก ดังนั้นทางดีเอสไอจึงต้องถามตัวเองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นความผิดทาง กฎหมาย หรือเป็นความผิดทางสังคม ซึ่งตนไม่ได้เข้าข้างใคร แต่อยากให้ดูเจตนารมณ์ของผู้ปกครอง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาจนรับรู้กันทั่วอยู่แล้ว

“ทุกวันนี้คุณภาพและมาตรฐานของแต่ละโรงเรียนยังไม่เท่ากัน งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับก็กลับเอาไปทุ่มเรื่อง เมกะโปรเจคท์ จึงอยากถามนายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ ว่าได้นำงบประมาณเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษามากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าถ้าทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกันได้ ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะก็คงไม่มี และอยากถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะปกป้องสถานะทางสังคมให้แก่เด็กที่คน อื่นรู้ว่าเด็กคนนั้นจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้ามาได้อย่างไร เราจึงควรคิดกันใหม่ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า การเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะทำกันทุกที่โดยเฉพาะโรงเรียนดีเด่นดัง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเรียกรับบริจาคกันล่วงหน้าก่อนที่จะรับสมัคร ซึ่งต้องเสียเงินขั้นต่ำถึง 3 ล้านบาท ต่อคน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนดัง 2 คน เข้าให้รายละเอียดขั้นตอนการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะต่อดีเอสไอว่า ทั้ง 2 คนเคยร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วเมื่อปี 2550 และ สพฐ. ก็ได้ส่งเรื่อง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบ แต่ก็พบว่ามีหลักฐานยืนยันการรับเงินชัดเจน โดยพบว่าทางโรงเรียนได้ออกใบเสร็จถูกต้อง และเป็นช่วงเวลาหลังการรับนักเรียนไปแล้ว อีกทั้งผู้ปกครองก็เต็มใจ ที่สำคัญเงินบริจาคดังกล่าวนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียน ไม่ได้เข้ากระเป๋าใคร ซึ่ง 1 ใน 2 คนดังกล่าวก็ได้ทำหนังสือขอถอนเรื่องออกไปแล้วด้วย แต่อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการที่ดีเอสไอจะเข้ามาตรวจสอบเป็นเรื่องดี และ สพฐ.ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

“การตรวจสอบการทุจริตคงต้องดูเหตุผล ในการรับเงินด้วย หากรับเงินเพื่อเข้ากระเป๋าผู้บริหารก็เป็นการทุจริตแน่นอน แต่หากรับเงินเพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียน ผู้มีหน้าที่ดูแลสนับสนุนงบประมาณแก่สถานศึกษา ก็คงต้องทบทวนด้วยว่างบประมาณที่สนับสนุนโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต่างเรียกร้องคุณภาพการศึกษา แต่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด และแม้ว่ารัฐบาลนี้จะเพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้แล้ว แต่ก็ยังเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับโรงเรียนขนาดกลาง ดังนั้นหากจะให้โรงเรียนมีการพัฒนาคุณภาพจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัว” คุณหญิงกษมา กล่าว

ด้านนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า แป๊ะเจี๊ยะเป็นระบบที่เกิดขึ้นนานแล้ว เกิดขึ้นบนความสมประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ และระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ควรต้องแก้ที่ระบบการศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ให้มีโรงเรียนดัง หรือมีคุณภาพสูงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว จะต้องกระจายออกไปยังต่างจังหวัดด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ปกครองจะยังคงมุ่งส่งลูกเรียนโรงเรียนดังเหมือนเดิม การที่ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้จริง อย่างไรก็ตามขณะนี้ กมธ.การศึกษา วุฒิสภา กำลังทำวิจัยเรื่องโอกาสและความเป็นธรรมทางการศึกษาอยู่ หลังจากนี้จะจัดเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแนวทางแก้ปัญหาและเสนอ รัฐบาลต่อไป ซึ่งจะไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

Tuesday, November 18, 2008

สกู๊ปพิเศษ..."โพธิสาร"ขับขายเพลง น้อมรำลึกสมเด็จพระพี่นาง

"หนูและพ่อ แม่ดีใจ ภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสร้องเพลงถวายอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯเพราะน้อยคนที่จะมีโอกาสเช่นนี้ ....

น้องอัญ-ด.ญ.อัญชิสา แซ่เต๋ง นักเรียนชั้นม.2 และสมาชิกคณะนักร้องประสานเสียงโรงเรียนโพธิสารพิทยากรบอกด้วยความปลื้มปิติ

ภายหลังเข้าร่วมขับร้องบทเพลง"พระกรุณาธิคุณ" และ"แก้วกัลยา" ซึ่งคณะนักร้องประสานเสียงจากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร โรงเรียนราชีนี โรงเรียนเซนต์ฟรังส์ ซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ วิทยาลัยนาฎศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักเรียนผู้พิการทางร่างกาย สายตาร่วมกับวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากรขับร้องในช่วงค่ำห้าทุ่มถึงตีหนึ่งของวันที่ 15-16 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ เวที 2 หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานแสดงมหรสพสมโภชงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นาง เธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อถวายอาลัยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

เช่นเดียวกับ น้องสร้อย-ด.ญ.นฤมล วรรณรังศรี นักเรียนชั้นม.3 และสมาชิกคณะนักร้องประสานเสียงร.ร.โพธิสารพิทยากร ที่เธอและครอบครัวภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเพราะไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน

"เพลงพระกรุณาธิคุณพวกหนูช่วยร้องประสานเสียง เพลงแก้วกัลยาทุกคนร้องร่วมกันโดยใช้เสียงสูง ใช้ลมหายใจเยอะ เวลาร้องก็ใช้วิธีจำโน้ตแล้วเทียบเสียงจากโน้ต อาศัยหูฟังโน้ตด้วย เพื่อไม่ให้ร้องเพี้ยนจากเสียงคนอื่น" น้องสร้อย บอกถึงเทคนิคการร้อง

"คณะนักร้องประสานเสียงโพธิสารคอรัส" ของร.ร.โพธิสารพิทยากรก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพ.ย.2549 โดยครูทวีศักดิ์ สังขเวช ได้ คัดเลือกนักเรียนม.ต้นตั้งคณะนักร้องประสานเสียง 20 คนเพื่อไปแข่งขันขับร้องประสานเสียงระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรุงเทพมหานคร(สพท.กทม.)เขต 3 และคว้ารางวัลชนะเลิศได้เป็นตัวแทนเขตพื้นที่ระดับม.ต้นไปแข่งขันระดับภาค กลางและตะวันออก

จากนั้นครูทวีศักดิ์ ได้เชิญอาจารย์ปิยะ เลิศไกร นัก ดนตรีสากลมืออาชีพ มาเสริมทัพเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีสากลและขับร้องประสานเสียง และพัฒนาทักษะการร้องเพลงจนได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ 1 ประเภทขับร้องประสานเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ระดับม.ต้นของภาคกลางและตะวันออก ในปีการศึกษา 2550 อีกทั้งไปร่วมแสดงในงานระดับประเทศ เช่น งานมหัศจรรย์เด็กไทยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โครงการทูบีนัมเบอร์วันทางช่อง 9 งานร่วมด้วยช่วยร้องเพลงพ่อแห่งแผ่นดิน

ครูฉวีวรรณ เทพย์ทอง หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ศิลปะ ร.ร.โพธิสารพิทยากรในฐานะผู้ดูแลคณะนักร้องประสานเสียงโพธิสารคอรัส เล่าเบื้องหลังความสำเร็จว่า นอกจากความร่วมแรงร่วมใจของครูทวีศักดิ์ อาจารย์ปิยะ นักเรียนและผู้ปกครองแล้ว ยังได้รับกำลังใจ การสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมและจัดซื้อเครื่องดนตรีสากลเป็นอย่างดี จากนายสมเกียรติ เจริญฉิม ผอ.ร.ร.คนก่อน และนายธวัช หมื่นศรีชัย ผอ.ร.ร.คนปัจจุบัน อีกทั้งคณะนักร้องประสานเสียงได้รับความชื่นชมจากคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ด้วย

ปัจจุบันคณะนักร้องประสานเสียงโพธิสารคอรัสมีนักเรียนชั้น ม.1-3 เป็นสมาชิกของคณะทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทั้งสิ้น 50 คน หลายคนนอกจากร้องเพลงได้แล้ว ยังเล่นดนตรีเช่น ไวโอลิน เชลโล วิโอล่าได้ด้วย โรงเรียนจึงตั้งวงเครื่องสายออเคสตร้าขึ้น อีกทั้งมีการนำสมาชิกวงโยธวาทิตที่เล่นเครื่องเป่าได้มารวมกับวงเครื่องสาย ออเคสตร้าแล้วตั้งเป็นวงซิมโฟนีออเคสตร้ามีสมาชิกทั้งหมด 35 คน

"โรงเรียนได้รับการติดต่อจากอาจารย์สถาพร นิยมทอง ผู้อำนวยเพลงของสำนักการสังคีต กรมศิลปากรให้ไปร่วมร้องเพลงถวายอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯเพราะเคยไป ร่วมร้องเพลงกับท่าน คิดว่าท่านคงประทับใจความสามารถของนักเรียน นับเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนเพราะไม่ได้มีโอกาสง่ายๆ" ครูฉวีวรรณบอกอย่างปลื้มใจ

อาจารย์ปิยะเล่าถึงการสอนและฝึกซ้อมว่า การสอนนักเรียนร้องเพลงเน้นอ่านโน้ตเพลงได้ ออกเสียงอักขระชัดเจน ใช้เสียง ลมหายใจร้องเพลงให้ถูกต้องและร้องให้เข้าถึงอารมณ์เพลง ส่วนใหญ่ให้ฝึกร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เช่น แผ่นดินของเรา OH I SAY เนื่องจากเหมาะแก่การร้องประสานเสียง และอยากให้เด็กๆ รู้ว่าพระมหากษัตริย์ของเราทรงมีความรู้ความสามารถด้านดนตรีอย่างยิ่ง อีกทั้งยังฝึกให้เด็กเล่นดนตรีเช่น ไวโอลิน เชลโลด้วยเพราะคนเล่นดนตรีได้จะเข้าใจโน้ตเพลงอย่างดี โอกาสร้องเพลงเพี้ยนน้อยมาก

"ครั้งแรกที่รู้ว่าเด็กๆจะไปร้องเพลงถวายอาลัยแด่สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอฯ รู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น ดีใจที่ได้ตอบแทนพระองค์ บอกกับเด็กว่าตั้งใจร้องทั้ง 2 เพลงให้เต็มที่และให้ได้อารมณ์มากที่สุด เพราะเป็นงานระดับชาติและเป็นมงคลแก่ตัวเด็กเอง เราฝึกซ้อมกันเยอะตั้งแต่ปิดเทอมเดือนต.ค. การร้องเพลงแก้วกัลยาเน้นอารมณ์เพลงและความไพเราะ เพลงพระกรุณาธิคุณมีการประสานเสียงเยอะเน้นประสานเสียงให้ชัดเจน" อาจารย์ปิยะแจกแจง

ผอ.ธวัช บอกว่า โรงเรียนมีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมด้านดนตรีและศิลปะเพราะช่วย ขัดเกลาให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน อ่อนน้อม ที่สำคัญได้ปลูกฝังให้นักเรียนรักชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างใหญ่หลวง และทรงอยู่ในดวงใจของคนไทยทุกคน

"สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อ ประโยชน์ของชาวไทยมากมาย ชาวโรงเรียนโพธิสารพิทยากรกว่า 2 พันคนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งที่นักเรียนได้ไปร่วมร้องเพลงถวายความ จงรักภักดีแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย" ผอ.ธวัชกล่าวทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจ

ข้อมูลจาก คมชัดลึก