ตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 303 กำหนดให้มีการแก้ไขกฎหมายการศึกษาภายใน 1 ปี นับจากรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ โดยอาจต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบการ ศึกษาทุกระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้น คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เพื่อขอจัดตั้งสำนักหรือกรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ และ กรมวิชาการ ให้มีฐานะเป็นกรมภายใต้ สพฐ. ไปแล้ว โดยขณะนี้เข้าใจว่าเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งขึ้น แต่คิดว่ากระทรวงคงจะรอดูแนวโน้มการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรหลักอื่น ๆ ด้วย
“เหตุผลที่ สพฐ.เสนอขอจัดตั้ง 4 หน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีขอบเขตเนื้อหาและภาระงานมาก เช่นงานการศึกษาพิเศษก็มีโรงเรียนในสังกัดค่อนข้างมาก และวันนี้การบริหารจัดการก็ขึ้นตรง กับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษจึงควรมี กรมของตัวเอง ส่วนการประถมศึกษา และการมัธยมศึกษา ก็มีเจตนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารและสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเอง และเมื่อมีกรมที่ดูแลเฉพาะด้านแล้ว งานวิชาการก็ควรมีกรมที่ดูแลเป็นการเฉพาะเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละหน่วยงานมีพลังในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็จะมีสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ก็คงต้องผ่านอีกหลายด่าน แต่ถ้าสามารถตั้งเป็นกรมที่อยู่ภายใต้ สพฐ.ได้ตามที่เสนอไป ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้าน ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการสภาการศึกษา อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สพฐ. ซึ่งถ้าสามารถทำได้เชื่อว่าจะทำให้งานของ สพฐ. มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะผลจากการ ปฏิรูป การศึกษาที่ผ่านมาจะเห็นว่า เรายังมีปัญหา อยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดตั้งกรมตามที่สพฐ.เสนอได้ขอเพียงต้องเป็นกรมที่เล็ก แต่ทำงานด้านวิชาการ ศึกษาวิเคราะห์ วิจัย ติดตามประเมินผล และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่สถานศึกษา ไม่ใช่ไปดึงงานที่กระจายอำนาจไปแล้วกลับมาทำเองทั้งหมด.
ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th
Friday, November 28, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment