Thursday, November 20, 2008

อ.จุฬาฯเอาด้วยกำจัดแป๊ะเจี๊ยะแต่หวั่นทำไม่ได้

อาจารย์จุฬาฯ ออกโรงเห็นด้วยกับแนวคิดล้างบางระบบ “แป๊ะเจี๊ยะ” ฝากเด็กเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมดัง แต่ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริง แล้วจะใช้กฎหมายฉบับไหนเอาผิด เพราะทำกันมานานจนเป็นเรื่องปกติ แนะ "ดีเอสไอ" ศึกษาให้ดีว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือผิดทางสังคม ย้อนถาม “รมต.ศรีเมือง” เอางบฯ ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือทุ่ม “เมกะโปรเจคท์” ด้านกมธ.การศึกษา วุฒิสภา ชี้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการเกลี่ยโรงเรียนดังออกนอกเมือง

กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดประเด็นใหม่ของสังคม เตรียมกวาดล้างขบวนการผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังหลายแห่ง เรียกเงินกินเปล่าจากผู้ปกครองแลกกับการให้บุตรหลานได้เข้าเรียน ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 พ.ย. รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตนเห็นด้วยในหลักการกับความตั้งใจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเข้ามาตรวจสอบ แต่ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างจริงจัง และยั่งยืนหรือไม่ รวมทั้งหากมีหลักฐานแล้ว จะใช้กฎหมายฉบับใดเอาผิดกับผู้ปกครอง เพราะเป็นความยินยอมของผู้ปกครองที่ต้องการหา สิ่งดี ๆ ให้กับลูก ดังนั้นทางดีเอสไอจึงต้องถามตัวเองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นความผิดทาง กฎหมาย หรือเป็นความผิดทางสังคม ซึ่งตนไม่ได้เข้าข้างใคร แต่อยากให้ดูเจตนารมณ์ของผู้ปกครอง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาจนรับรู้กันทั่วอยู่แล้ว

“ทุกวันนี้คุณภาพและมาตรฐานของแต่ละโรงเรียนยังไม่เท่ากัน งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับก็กลับเอาไปทุ่มเรื่อง เมกะโปรเจคท์ จึงอยากถามนายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ ว่าได้นำงบประมาณเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษามากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าถ้าทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกันได้ ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะก็คงไม่มี และอยากถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะปกป้องสถานะทางสังคมให้แก่เด็กที่คน อื่นรู้ว่าเด็กคนนั้นจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้ามาได้อย่างไร เราจึงควรคิดกันใหม่ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า การเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะทำกันทุกที่โดยเฉพาะโรงเรียนดีเด่นดัง ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเรียกรับบริจาคกันล่วงหน้าก่อนที่จะรับสมัคร ซึ่งต้องเสียเงินขั้นต่ำถึง 3 ล้านบาท ต่อคน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนดัง 2 คน เข้าให้รายละเอียดขั้นตอนการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะต่อดีเอสไอว่า ทั้ง 2 คนเคยร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วเมื่อปี 2550 และ สพฐ. ก็ได้ส่งเรื่อง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบ แต่ก็พบว่ามีหลักฐานยืนยันการรับเงินชัดเจน โดยพบว่าทางโรงเรียนได้ออกใบเสร็จถูกต้อง และเป็นช่วงเวลาหลังการรับนักเรียนไปแล้ว อีกทั้งผู้ปกครองก็เต็มใจ ที่สำคัญเงินบริจาคดังกล่าวนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียน ไม่ได้เข้ากระเป๋าใคร ซึ่ง 1 ใน 2 คนดังกล่าวก็ได้ทำหนังสือขอถอนเรื่องออกไปแล้วด้วย แต่อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการที่ดีเอสไอจะเข้ามาตรวจสอบเป็นเรื่องดี และ สพฐ.ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

“การตรวจสอบการทุจริตคงต้องดูเหตุผล ในการรับเงินด้วย หากรับเงินเพื่อเข้ากระเป๋าผู้บริหารก็เป็นการทุจริตแน่นอน แต่หากรับเงินเพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียน ผู้มีหน้าที่ดูแลสนับสนุนงบประมาณแก่สถานศึกษา ก็คงต้องทบทวนด้วยว่างบประมาณที่สนับสนุนโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต่างเรียกร้องคุณภาพการศึกษา แต่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด และแม้ว่ารัฐบาลนี้จะเพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้แล้ว แต่ก็ยังเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับโรงเรียนขนาดกลาง ดังนั้นหากจะให้โรงเรียนมีการพัฒนาคุณภาพจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัว” คุณหญิงกษมา กล่าว

ด้านนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า แป๊ะเจี๊ยะเป็นระบบที่เกิดขึ้นนานแล้ว เกิดขึ้นบนความสมประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ และระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ควรต้องแก้ที่ระบบการศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ให้มีโรงเรียนดัง หรือมีคุณภาพสูงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว จะต้องกระจายออกไปยังต่างจังหวัดด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ปกครองจะยังคงมุ่งส่งลูกเรียนโรงเรียนดังเหมือนเดิม การที่ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้จริง อย่างไรก็ตามขณะนี้ กมธ.การศึกษา วุฒิสภา กำลังทำวิจัยเรื่องโอกาสและความเป็นธรรมทางการศึกษาอยู่ หลังจากนี้จะจัดเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแนวทางแก้ปัญหาและเสนอ รัฐบาลต่อไป ซึ่งจะไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย.

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

No comments: