Monday, November 10, 2008

สมศ.ชี้ ร.ร.ปั้นเด็กดีลดลง 30%

สมศ.ประเมิน ร.ร.รอบ 2 ครึ่งทางห่วงจำนวน ร.ร.ปั้นเด็กดี-มีสุขลดลงถึง 30% เหตุ ร.ร.มุ่งปั้นเด็กเก่ง จี้รัฐทุ่มงบเมกะโปรเจกท์พัฒนาคุณภาพ ร.ร.มาตรฐานต่ำ

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รายงานผลดำเนินการครบรอบ 8 ปี ของ สมศ. ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สมศ.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทุ่มงบโครงการเมกะโปรเจกท์รอบใหม่ทั้งหมดของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงไปฟื้นฟูคุณภาพโรงเรียนประถม มัธยมที่มาตรฐานอยู่ในระดับโคม่า เพื่อยกระดับเป็นโรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ สมศ.ภายใน 3 ปี ซึ่ง สมศ.ประเมินคุณภาพโรงเรียนประถม มัธยม ทั่วประเทศในรอบสอง (2549-2553 ) พบว่า ช่วง 3 ปีแรกที่ประเมิน (2549-2551) มีโรงเรียน 20% ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยโรงเรียนกว่า 4,000 แห่ง มีมาตรฐานขั้นต่ำ คาดว่าเมื่อประเมินครบทุกโรงเรียนภายในปี 2553 จะมีมากกว่านี้ และพัฒนาโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกแห่ง

"สมศ.นำร่อง พัฒนาคุณภาพโรงเรียน 220 แห่ง ใน 22 เขตพื้นที่ ใช้เงินโรงเรียนละ 6.6 แสนบาทโดยระดมทุนจากเอกชน ศธ.ไม่ได้สนับสนุนงบ ศธ.ควรหันมาเน้นเรื่องนี้ให้มากขึ้น“ ศ.ดร.สมหวังกล่าว

ผอ.สมศ.กล่าว อีกว่า ผลประเมินรอบสองพบประเด็นน่าห่วงคือโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จทำให้ นักเรียนมีความสุขและความดีนั้นลดลงเมื่อเทียบกับรอบแรก โดยรอบแรกโรงเรียนที่ทำให้เด็กเป็นคนดี มีความสุขมี 80% แต่รอบสองเหลือแค่ 50% โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จทำให้เด็กเป็นคนเก่งกลับเพิ่มขึ้นในการประเมิน รอบสอง โดยเพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับรอบแรก ซึ่งโรงเรียนประสบความสำเร็จสร้างคนดี มีความสุขลดลง น่าจะมาจากโรงเรียนตื่นตัวพัฒนาแต่ความเก่งเพื่อให้ผ่านประเมินจนละเลยความ ดี ความสุขของเด็กและปัญหาจริยธรรมในบ้านเมือง ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ศ. ดร.สมหวังกล่าวด้วยว่า ระดับอุดมศึกษาพบว่าการวิจัยยังคงต่ำอยู่ ควรส่งเสริมคุณภาพอุดมศึกษามากขึ้น โดยให้อาจารย์หันมาสนใจพัฒนาวิชาการมากกว่าเน้นขยายโอกาสให้คนเรียนปริญญา หรือผลิตบัณฑิตมากเกินจำเป็น ปัจจุบันการผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ และไม่ตรงความต้องการตลาด มีปัญหาเชิงคุณภาพ ถ้าผลิตให้มีคุณภาพจริงจะพ้นวิกฤติว่างงานได้ การแก้ปัญหาขาดแคลนครูไม่ควรซื้อคอมพิวเตอร์มาเป็นสื่อช่วยสอนและเน้นเพิ่ม อัตรากำลัง อีกทั้งรัฐต้องลดบทบาทจัดการศึกษาจากที่รัฐจัด 80% ให้เหลือ 40% อีก 60% ควรหันมากระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน


ข้อมูลจาก คมชัดลึก

No comments: