อาจารย์สถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มศว แนะพ่อ แม่ ครู ใช้สหวิทยาการพัฒนาจริยธรรมช่วงแรกเกิดถึง 7 ขวบ จัดการรียนรู้ที่พึงพอใจ แปลกใหม่และสนุกสนาน บนพื้นฐานของความรักความอบอุ่นและเน้นความแปลกใหม่และสนุกสนานเป็นหลัก
ผศ.ดร.ฉันทนา ภาคบงกช อาจารย์สถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า เด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยซึ่งอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาจริยธรรมในเด็กปฐมวัย ซึ่งการปลูกฝังในเรื่องจริยธรรมให้แก่เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายหรือที่เรียกกันว่าสหวิทยาการ ถึงจะทำให้เด็กเกิดพัฒนาจริยธรรมขึ้นในตัวเองได้ เป็นต้นทุนของชีวิตที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นผู้ให้ในอนาคต
ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงปฐมวัยซึ่งได้แก่พ่อแม่และผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็ก ตลอดถึงครูควรเริ่มต้นปูพื้นฐานจากการพัฒนาเชาวน์ปัญญาทางอารมณ์ (อีคิว) ต้องทำให้เด็กสามารถตระหนักรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น มีสติรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกนึกคิด สามารถประเมินและแยกแยะอารมณ์ สอนให้ยอมรับและแสดงอารมณ์อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและตรงตามความเป็นจริง สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้โดยใช้ปัญญาในการดำรง ชีวิต เชาวน์ปัญญาทางอารมณ์นี้จะปรากฏในเด็กปฐมวัยชัดเจนในบางด้าน และบางด้านต้องอาศัยเวลาในการพัฒนา และหากไม่มีอุปสรรคปัญหาใดๆ มาขัดขวางเชาวน์ปัญญาทางอารมณ์จะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง
“การจะทำให้เด็กในช่วงปฐมวัยได้รับการพัฒนาเชาวน์ปัญญาอย่างต่อเนื่อง นั้น พ่อแม่ผู้ปกครองและครู ต้องเรียนรู้การทำงานของสมองเพื่อการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า (Brain Based Learning) การเรียนรู้การทำงานของสมองจะทำให้เราเข้าใจเด็กมากขึ้น เด็กวัยนี้จะใช้สมองส่วนที่เรียกว่าระบบลิมบิกตลอดเวลา สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจของเด็ก" ผศ.ดร.ฉันทนากล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยจะใช้สมองส่วนลิมบิกได้มากที่สุด และสมองส่วนนี้จะถูกพัฒนาในช่วงปฐมวัยมากที่สุด เป็นหน้าต่างการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อพบสิ่งที่พึงพอใจ แปลกใหม่และสนุกสนาน จะชะงักเมื่อเด็กพบกับความเครียด ดังนั้นพ่อแม่ ครูจึงควรจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนหรือการเล่นในชีวิตประจำวันควรอยู่บนพื้น ฐานของความรักความอบอุ่นและเน้นความแปลกใหม่และสนุกสนานเป็นหลัก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment