Friday, May 22, 2009

สพฐ.คุมเข้มร.ร.เก็บเงินเพิ่มชงข้อมูลรายการงบไม่พอให้นายกฯ

สพฐ.กำชับ ร.ร.43 แห่งใน กทม.เก็บได้เฉพาะรายการที่อนุญาต ชงปัญหาและรายการที่ร.ร.ได้งบไม่พอให้นายกฯ ผู้บริหาร ร.ร.ยันไม่ได้เก็บเงินเพิ่ม รับปากเก็บลดลง

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังเรียก ผอ.โรงเรียน 43 แห่งใน กทม. ที่เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองเพิ่มขึ้น ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพจากรัฐบาลแล้วว่า หลังสอบถามผู้บริหารโรงเรียนแต่ละแห่งแล้วพบว่าไม่มีโรงเรียนใดเก็บเงินจาก ผู้ปกครองเพิ่มขึ้นจากภาคเรียนที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่าโรงเรียน 8 แห่งใน กทม. เก็บเงินเพิ่มขึ้น และมีโรงเรียนบางส่วนยังไม่ได้เก็บเงินจากผู้ปกครอง

"ได้กำชับทุกโรงเรียนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)อนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครองทุกคนได้มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาผู้เรียนเก็บจากเด็กทุกคนได้ไม่เกินภาคเรียนละ 1,000 บาท จ้างครูชาวต่างประเทศ ค่าตอบแทนวิทยากรภายนอก และค่าปรับพื้นฐานความรู้นักเรียน ทุกโรงเรียนรับปากจะไม่เก็บเกิน 1,000 บาท และพยายามเก็บลดลงจากภาคเรียนที่แล้ว" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

คุณหญิงกษมากล่าวอีกว่า ส่วน 2.ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนเรียกเก็บเพื่อจัดบริการทางการศึกษาพิเศษเพิ่มเติม จากหลักสูตร เช่น ห้องเรียนพิเศษ ซึ่งโรงเรียนจัดเก็บได้ตามความเหมาะสมจากผู้ปกครองที่สมัครใจ ทุกโรงเรียนรับปากว่าจะเรียกเก็บในอัตราเท่ากับปีที่แล้ว และจะไม่มีการบังคับผู้ปกครองและ 3.สพฐ.อนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บได้ตามความเหมาะสม คือ ค่าประกันชีวิตและค่าตรวจสุขภาพ ให้จัดเก็บในอัตราต่ำที่สุด และขอให้เรียกเก็บใกล้เคียงกัน

"โรงเรียนหล่านี้ยังต้องเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง เพราะขาดแคลนครูที่ชำนาญในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาอังกฤษ ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ รวมทั้งนักการภารโรงมีน้อย และยังต้องหาเงินค่าสาธารณูปโภคและไอซีทีซึ่งได้รับงบไม่พอ สพฐ.จะประมวลสภาพปัญหาทั้งหมดเพื่อจัดทำข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี จะจัดทำข้อมูลให้รัฐบาลเห็นว่ารายการต่างๆ ที่โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนงบไม่เพียงพอ และต้องเรียกเก็บจากผู้ปกครองแทนมีอะไรบ้าง เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาจะสนับสนุนเพิ่มเติมได้หรือไม่ เพื่อโรงเรียนจะไม่ไปเรียกเก็บจากผู้ปกครอง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างครู และโรงเรียนแต่ละขนาดควรได้เงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมเท่าใด โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ควรได้เงินค่าใช้จ่ายรายหัวมากกว่าโรงเรียนประเภทอื่นๆ“ เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

No comments: