Thursday, May 7, 2009

ชี้ไทยเป็นเส้นทางการค้าโลกในอดีต

ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนสำรวจเส้นทางการค้าทางทะเลโลกข้ามคาบสมุทร ตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ว่า เส้นทางดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นจุดปะทะของเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเล อันดามันกับอ่าวไทยโดยข้ามจังหวัดชุมพร ระนอง พังงาและสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือว่ามีคุณค่าความสำคัญไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาคแต่สำคัญถึงระดับโลก เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้า โดยมีหลักฐานชัดเจนจากแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะลูกปัดซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกค้นพบจำนวนมาก รวมทั้งร่องรอยทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายชนชาติที่อาศัยเส้นทางสายนี้

ร.อ.บุณยฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางการค้าระดับโลกแสดงให้เห็นอารย ธรรมของมนุษยชาติ และยังสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจระยะยาวได้ด้วย เช่น การพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มการบูรณะแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง

ต่อข้อถามถึงปัญหาลักลอบ ขุดโบราณวัตถุ ร.อ.บุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจาก 3 องค์ประกอบคือ มีคนขุด มีคนซื้อและมีคนสะสม การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ทั้งระบบ แม้จะมีกฎหมายควบคุมแต่ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายเอาจริงมากขึ้น เช่น ตรวจจับร้านค้าที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด รวมถึงจับกุมผู้ลักลอบขุด ซึ่งในพื้นที่ที่ตนดูแลก็จับกุมส่ง ตำรวจไปหลายรายแล้ว ในขณะเดียวกันก็พยายามให้ความรู้ และสอนการทำลูกปัดขายเป็นของที่ระลึกด้วย เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ เพราะหากไม่มีเงิน ถึงรู้ว่าโบราณวัตถุมีคุณค่าในเชิงวิชาการก็คงไม่สนใจและลักลอบมาขุดอยู่ดี

“ผมอยากให้ทุกคนตระหนักว่าโบราณวัตถุไม่ว่าที่ใดล้วนเป็นสมบัติของชาติ เป็นหลักฐานทางวิชาการที่บ่งบอกความเป็นมาของชาติ หากข้อมูลหายไป ความรู้ก็หายไปด้วย ต่อให้มีเงินก็คงซื้อความรู้ที่หายไปกลับคืนมาไม่ได้” ร.อ.บุณยฤทธิ์ กล่าว

No comments: