ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การรับนิสิตเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2553 จุฬาฯจะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 3 ส่วน คือ โครงการรับตรงแบบพิเศษ โครงการรับตรงแบบปกติ และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นกลาง ซึ่งโครงการรับตรงแบบพิเศษ และโครงการรับตรงแบบปกตินั้น นักเรียนจะต้องเข้าสอบวิชาเฉพาะที่จุฬาฯเป็นผู้จัดสอบเอง โดย เปิดรับสมัครในเดือน พ.ค.นี้ สำหรับองค์ประกอบที่จะใช้ในการคัดเลือก ในส่วนของคะแนนทดสอบ ความถนัดทั่วไปหรือ GAT และคะแนนทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ให้ใช้คะแนนที่ดีที่สุด โดยการรับตรงแบบพิเศษให้ใช้ผลคะแนน GAT และ PAT 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เดือน มี.ค. 2552 และครั้งที่ 2 เดือน ก.ค. 2552 ส่วนรับตรงแบบปกติใช้ผลคะแนน GAT และ PAT 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1, 2 และครั้งที่ 3 เดือน ต.ค. 2552 จากเดิมที่การรับตรงจุฬาฯ จะไม่ให้ใช้คะแนน สอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1 แต่เมื่อมาดูจำนวนผู้สมัครสอบ GAT และ PAT แล้วพบว่า การสอบครั้งที่ 1 มีผู้เข้าสอบถึง 2 แสนคน ดังนั้นจุฬาฯจึงเห็นว่าควรจะเพิ่มโอกาสให้นักเรียนมากที่สุด ส่วนการแอดมิชชั่นกลาง ให้ใช้คะแนน GAT และ PAT ได้ 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1, 2, 3 และครั้งที่ 4 เดือน มี.ค. 2553
ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ของ QS Asian Universities Ranking 2009 ที่ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยรัฐของไทย 4 แห่ง ติดอันดับ 1 ใน 100 โดย ม.มหิดลอยู่อันดับที่ 30 ของเอเชีย, จุฬาลงกรณ์มหาวิท ยาลัย อันดับที่ 35, ม.เชียงใหม่ อันดับที่ 81 และ ม.ธรรมศาสตร์ อันดับที่ 85 นั้น ในการจัดอันดับคงต้องดูด้วยว่านำอะไรมาเป็นตัวดัชนีชี้วัด และ มีคุณภาพจริงตามที่วัดหรือไม่ เพราะถ้าวิเคราะห์ข้อมูลการจัดอันดับครั้งนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้จุฬาฯอยู่ในอันดับรองจากม.มหิดล เช่น เรื่องอัตราส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ พบว่า ม.มหิดล มีนักศึกษาประมาณ 26,000 คน แต่จุฬาฯมี 34,000 คน ขณะที่จำนวนอาจารย์ไม่ต่างกัน
“อย่างไรก็ตามหากจะให้จุฬาฯไปสู้ เพื่อให้ผลการจัดอับดับสูงขึ้น โดยการลดจำนวนรับนิสิตต่ออาจารย์ลง และเพิ่มการรับนักศึกษาต่างชาติให้มากขึ้นนั้น จุฬาฯจะไม่ทำแน่นอน เพราะจุฬาฯมีนโยบายชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่จะให้โอกาสนิสิตเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น และเป็นมหาวิทยาลัยของโลก อย่างเช่นในการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกของนิตยสาร ไทม์ ซึ่งจุฬาฯ อยู่ในอันดับที่ 166 แต่เรื่องผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารต่อจำนวนอาจารย์นั้น จุฬาฯต้องเร่งทำ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ” ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment