Thursday, May 14, 2009

“วชช.”การศึกษาเพื่อชุมชนพัฒนาคนสร้างอาชีพเพิ่มรายได้

คมชัดลึก : “อดีตอำเภอต่างๆ ในเมืองสามหมอก หรือแม่ฮ่องสอน เช่น ขุนยวม แม่สะเรียง ปาย แม่ลาน้อย สบเมย และปางมะผ้า จะเคยเป็นแหล่งยาเสพติด ผู้ติดเชื้อเอดส์ แหล่งอาวุธสงคราม แต่เมื่อ “วิทยาลัยชุมชน (วชช.)” ก่อเกิดขึ้นบนพื้นที่เหล่านั้น กลับเปลี่ยนชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง” เสียงสะท้อนของชาวชุมชน 7 แห่ง ที่ วชช.แม่ฮ่องสอน 1 ใน 19 แห่งของวชช.ตั้งขึ้น โดยความร่วมมือจากคนในชุมชน และรัฐให้การสนับสนุน

วิทยาลัยชุมชน เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เปิดสอนระดับอนุปริญญา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ให้บริการการศึกษา และจัดอบรมระยะสั้นแก่ชุมชนที่วิทยาลัยตั้งอยู่ ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เน้นการสอนที่เปิดกว้าง และคำนึงถึงความต้องการประชาชน ตามความหลากหลายของท้องถิ่น

บุญหล่อ หล่ออริยวัฒน์ ผู้นำชุมชนหมู่บ้านสันติชล หรือชุมชนจีนยูนนาน อ.ปาย อีกหนึ่งชุมชนที่ วชช.แม่ฮ่องสอน เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2537-2546 หมู่บ้านมีปัญหาเรื่องการระบาดของยาเสพติดอย่างหนัก เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านเป็นเส้นทางลำเลียงยาบ้าระหว่างชายแดนพม่ากับไทย เป็นแหล่งพักของขบวนการค้ายา จนกระทั่งระบาดเข้าสู่คนในหมู่บ้านสันติชล สร้างปัญหาแก่หน่วยงานของรัฐและผู้ค้ายาเสพติด จนรัฐบาลประกาศว่าเป็นเขตพื้นที่สีแดง

“หมู่บ้านสันติชลเป็นหมู่บ้านในเขตบ้านน้ำฮู ห่างจากตัวอ.ปาย 4.5 กิโลเมตร ประชากร 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนยูนนาน มีทั้งหมด 193 หลังคาเรือน ประชากร 1,071 คน มีสัญชาติไทย 264 คน ส่วนที่เหลือยังไร้สัญชาติ สภาพโดยทั่วไปของหมู่บ้านสันติชล เป็นหมู่บ้านที่เข้าถึงได้ง่าย ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชล้มลุก สวนผลไม้ แต่เมื่อวิทยาลัยชุมชนพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มเติมทักษะอาชีพให้แก่คนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านมีรายได้มากขึ้น รู้จักแนวคิดในการทำธุรกิจการท่องเที่ยวดั่งเช่นปัจจุบัน คือ ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน”

ตอนนี้ “บ้านสันติชล” กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของ อ.ปาย ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ห้อมล้อมไปด้วยหุบเขาแล้ว ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่แบบจีนยูนนานอย่างแท้จริง

บุญหล่อ เล่าต่อว่า พวกเขาขาดความรู้ในการประกอบธุรกิจ ทักษะการผลิตสินค้า และการใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่เมื่อวิทยาลัยชุมชนเข้ามาเปิดหลักสูตร สร้างองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ออกแบบสินค้า เช่น อาหารจีนยูนนานที่รสชาติไม่ได้ดีมากมาย แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ทำให้เป็นที่นิยม วิทยาลัยชุมชนเข้า มาอบรมชาวบ้านให้รู้จักตกแต่งอาหารให้สวยงามทันสมัย ดึงให้นักท่องเที่ยวอยากลองรับประทาน เพิ่มมูลค่า ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี ห่างไกลยาเสพติด และสิ่งไม่ดีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

วิทยาลัยชุมชน เป็นรูปแบบการเรียนการสอน ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ผลิตหลักสูตรวิชาการปกครองท้องถิ่น การบัญชี การจัดการทั่วไป การศึกษาปฐมวัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่คนในชุมชนต้องการ เมื่อชาวบ้านรวมตัวได้ 20 คนขึ้นไป วิทยาลัยชุมชนจะ เข้าไปจัดหลักสูตรระยะสั้น ดึงปราชญ์ชาวบ้าน ตำรวจ นายอำเภอ นักธนาคาร มาเป็นครูผู้สอน อาทิ กลุ่มมัคคุเทศก์น้อย กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า แกะสลักจากเศษไม้ กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มนวดแผนโบราณ ทุกอาชีพ ทุกหลักสูตรที่จัดตรงความต้องการของชาวบ้านและสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง วันละ 300-500 บาท

หลักสูตรมีความยืดหยุ่น และพัฒนาศักยภาพของบุคคลในชุมชนได้อย่างเต็มที่ แถมยังเปิดห้องเรียนรวม ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนร่วมกันได้ เด็ก คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน หรือพระภิกษุสามเณร ชาวเขา ก็สามารถเรียนร่วมกันได้ เป็นการสร้างคนต้นแบบทางการศึกษาให้แก่ชุมชนอีกด้วย อย่างคุณลุงวัยเกือบ 60 ปี เรียนต่อในหลักสูตรการปกครองท้องถิ่น ที่ตอนเรียนถูกคำถามจากเด็กรุ่นหลัง ว่าแก่แล้วจะเรียนทำไม เรียนไปก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งวันนี้เขากลายเป็นผู้นำหมู่บ้าน และแสดงให้เห็นแล้วว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกบ้านให้รู้จักวางแผนเรียนต่อกับวิทยาลัยชุมชน ดูข้อมูลได้ที่ http://www.mcc.ac.th/

No comments: