Friday, May 15, 2009

"มาร์ค"ชี้ไม่เลิกขัดแย้งปฏิรุปการศึกษาล่ม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและนโยบายของรัฐบาลต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสอง” เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่สโมสรทหารบก ว่า ขณะนี้สังคมตั้งคำถามว่า การปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว และคงคิดว่าการปฏิรูปในรอบใหม่นี้ จะนำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากหลายสิ่ง ซึ่งตนมองว่าการปฏิรูปการศึกษา เป็นปัญหาใหญ่พอ ๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถึงแม้จะ มีการปรับแก้แล้ว แต่ก็ยังจับไม่ถูกจุด ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความสำเร็จในหลายด้าน แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของสังคม และในบางด้านอาจจะยังหลงทาง หรือ เดินวนเวียนอยู่ อาทิ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เรื่องการเรียนฟรี ก็มีเสียงบ่นอยู่ว่า ยังไม่ฟรีจริง โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญ คือ คุณภาพการศึกษา ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้นยังคงเป็นที่น่าผิดหวัง ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ คือ สำรวจว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามีจุดใดบ้างที่ยังล้มเหลว ไม่ก้าวหน้า เพื่อนำมาแก้ไขให้ตรงจุด และทำให้การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนและแท้จริง

“ผมอยากให้ผู้เกี่ยวข้องนำบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา เป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ โดยเฉพาะปัญหาที่เมื่อมีการเดินหน้าการปฏิรูปกันจริง ๆ กลับไปเสียเวลาถกเถียง และขัดแย้งกัน ในเรื่องที่ไม่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา เช่น การปรับโครงสร้างหน่วยงาน เป็นต้น เพราะถึงแม้วันนี้โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ จะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่เนื้อหาหรือระบบการบริหารกลับไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ไม่ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านใด อาทิ การปรับโครงสร้าง หรือการตั้งหน่วยงานใหม่ แต่สิ่งจำเป็นที่สุดต้องมองถึงเป้าหมายสุดท้ายว่า ทั้งหมดคือเครื่องมือในการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นในวงการศึกษา เพราะตราบใดที่ยังก้าวไม่ พ้นจุดนี้ ต่อให้ปฏิรูปกันกี่รอบก็เสียดายเวลาเปล่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในสังคมการศึกษาจะต้องเอาชนะแรงเฉื่อย และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิม ๆ

ด้าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว. ศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฏิรูปรอบสองควรเป็นการปรับแต่งในสิ่งที่เป็นปัญหาในการปฏิรูปรอบแรกให้ ดี และทันสมัยขึ้น รวมถึงเติมเต็มสิ่งที่ขาดอยู่ โดยมุ่งพัฒนาปัจจัยคุณภาพทุกด้าน และให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ภายในระยะเวลา 8 ปี จากปัจจุบันการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 8.2 ปี รวม ถึงพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีความพร้อม ซึ่งควรดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และสิ่งสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนที่ถือว่าขาดไปมาก คือ เรื่องคุณธรรมที่ต้องเร่งปลูกฝังอย่างจริงจัง.

No comments: