“อุทุมพร” ค้านเพิ่มสอบพีเอที 8 ภาษาไทย-สังคม ชี้ไม่ควรจะให้เด็กสอบเพิ่มอีก แต่ควรสอบให้น้อยลง แนะมหาวิทยาลัยศึกษาเหตุและผลของการสอบจีเอที-พีเอที ก่อนขอเพิ่ม ขณะราชบัณฑิตหนุนสอบไทย-สังคม แต่ขอให้สอบแยก หวั่นลดความสำคัญของเนื้อหา
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้เพิ่มการสอบแบบทดสอบศักยภาพวิชาชีพ/วิชาการ หรือ พีเอที 8 ด้านภาษาไทยและสังคมศึกษา ว่าเป็นหน้าที่ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องตัดสินใจร่วมกัน จากนั้นแจ้งมายัง สทศ.เป็นลายลักษณ์อักษร สทศ.จึงจะสามารถบอกได้ว่าจะออกข้อสอบได้ทันตามกำหนดหรือไม่
อย่างไร ก็ตาม โดยหลักการไม่ควรจะให้เด็กสอบเพิ่ม แต่ควรสอบให้น้อยลง เพราะข้อสอบพีเอทีเป็นข้อสอบที่เน้นความถนัดทางวิชาชีพเป็นหลัก หากเด็กตัดสินใจได้ว่าจะเรียนเพื่อออกมาทำอาชีพอะไรในอนาคตก็เลือกสอบในพรเอ ทีนั้น หากจะเพิ่มพีเอที 8 ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า มีเป้าหมายเพื่อคัดเด็กด้านวิชาชีพหรือวิชาการ เพราะเนื้อของในวิชาสังคมและภาษาไทยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับวิชาการเป็นหลัก แต่การสอบพีเอทีต้องการคัดคนให้เหมาะสมกับวิชาชีพ ส่วนวิชาการจะไปรวมอยู่ในจีเอที หรือการสอบความถนัดทั่วไปอยู่แล้ว อยากให้แต่ละคณะทำความเข้าใจเรื่องความหมายของจีเอที และพีเอที ให้ดีก่อน และที่สำคัญ ทปอ.ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ด้วยว่า หากเพิ่มวิชาขึ้นมาอีก จะเพิ่มขึ้นเพื่ออะไร อยากให้ ทปอ.เร่งหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวโดยเร็วและทำหนังสือจำนวนพีเอที หรือจีเอที ที่ต้องการให้ สทศ.จัดสอบเพิ่ม เพื่อ สทศ.จะได้วิเคราะห์ว่าสามารถจัดทำข้อสอบได้ทันตามกำหนดหรือไม่” ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว
ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทย ในฐานะนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และปูชนียาจารย์ด้านภาษาไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะทั้งสองวิชามีส่วนทำให้คนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะจัดให้สอบร่วมกัน เนื่องจากปรัชญาของทั้งสองวิชามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะหากนำทั้งสองวิชามาจัดสอบรวมกันก็เท่ากับว่ามองไม่เห็นความสำคัญของ ทั้งสองวิชา
ด้าน ผศ.กิตติมา สังข์เกษม คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเพิ่มพีเอที 8 ทางด้านภาษาไทยและสังคมขึ้นมา เพราะทั้งสองวิชามีความสำคัญ น่าจะทำให้สามารถคัดเด็กที่เข้ามาเรียนในสายนี้ได้ตรงตามความสามารถมากขึ้น หากมองอีกแง่หนึ่งอยากให้เห็นใจเด็กที่จะต้องสอบเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวิชา และจะเป็นการเพิ่มภาระให้เด็กจะต้องไปกวดวิชาเพิ่มขึ้นอีก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment