Thursday, April 2, 2009

สพฐ.มุ่งมั่นทำโรงเรียนนำร่องเรียนฟรี 100%

เริ่ม 3 โรงใน 3 เขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนเด็กอกหักเข้ามัธยมยังมีลุ้นโรงเรียนดัง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการรับนักเรียนชั้น ม.1 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2552 ว่า ทราบข้อมูลว่าขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สพท.กทม.) เขต 1, 2, 3 ยังมีโรงเรียนที่สามารถรองรับนักเรียนที่พลาดโอกาสจากการสอบคัดเลือกและการ จับสลากได้อีก ประกอบด้วย 1.สพท. กทม.เขต 1 โรงเรียนดังจะเพิ่มรับนักเรียนเป็น 50 คนต่อห้อง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนทั่วไปที่รองรับนักเรียนได้อีกมาก เช่น รร.มัธยมวัดธาตุทอง รร.นนทรี วิทยา รร.ไตรมิตรวิทยาลัย รร.พุทธจักรวิทยา รร.วัดน้อยนพคุณ รร.วัดบวรนิเวศ รร.วัดราชาธิวาส 2.สพท.กทม.เขต 2 โรงเรียนดังจะเพิ่มการรับนักเรียนเป็น 50 คนต่อห้องและยังมีโรงเรียนทั่วไปที่รองรับนักเรียนได้อีก เช่น รร.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ รร.ดอนเมืองจาตุรจินดา รร.เทพศิรินทร์ร่มเกล้า รร.ลาดปลาเค้าพิทยาคม 3.สพท.กทม.เขต 3 โรงเรียนดังจะเพิ่มการรับนักเรียนเป็น 50 คนต่อห้องและโรงเรียนทั่วไป เช่น รร.ทวีธาภิเษก รร.ทวีวัฒนา รร.มัธยมวัดดาวคะนอง รร.วัดน้อยใน รร.วัดบวรมงคล รร.วัดประดู่ในทรงธรรม เป็นต้น

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินโครงการโรงเรียนนำร่องจัดการศึกษาฟรี 100% ในปีการศึกษา 2552 นั้นจะดำเนินการในสพท.กทม.ทั้ง 3 เขต ๆ ละ 1 โรง โดยให้ไปคัดเลือกโรงเรียนคู่พัฒนา มานำร่อง ซึ่ง สพฐ.จะช่วยดูแลโรงเรียนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1.ข้าราชการครู 2.คอมพิวเตอร์ 3.วิทยากรพิเศษในวิชาที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น การสอนวิชาชีพ สอนภาษา และ 4.ค่าสาธารณูปโภค โดยในวันที่ 3 เม.ย. ตนจะประชุม เพื่อพิจารณาว่าจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเท่าใด ซึ่งหากใช้ไม่มากก็อาจจะนำร่องโรงเรียนในต่างจังหวัดที่มีโรงเรียนยอดนิยม เพียงแห่งเดียวอีกด้วย

“เรื่องนี้เป็นความพยายามที่จะให้เด็กมาเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย เชื่อว่าจะดึงดูดเด็กมาเรียนได้มากขึ้น ส่วนจะฟรีทั้งหมดหรือไม่นั้นยังต้องดู แต่โดยจุดประสงค์ของโครงการนั้น เด็กสามารถหิ้วกระเป๋าแล้วมาเรียนหนังสือได้เลย แต่ทั้งนี้ยังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่หนักใจอยู่เพราะ สพฐ.คงไม่สามารถหาเงินมาช่วยได้ อาทิ ค่าเบี้ยประกันชีวิตประมาณ 100-150 บาทต่อคนต่อปี ค่าตรวจสุขภาพพิเศษ ซึ่งส่วนนี้เด็กอาจจะต้องจ่ายเองแต่ก็ถือว่าไม่มาก” คุณหญิงกษมา กล่าวและว่า ทั้งนี้ตนได้สั่งการไปยังสพท.กทม.ทั้ง 3 เขตว่าโรงเรียนที่จะนำร่องในโครงการนี้ให้ชะลอการเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการระดมทรัพยากรด้วย.

No comments: