Wednesday, April 1, 2009

เผยนักเล่นเกม86.9%หนุนการจัดเรตติ้งเกม

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒน ธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เกี่ยวกับผลสำรวจทัศนคติของผู้เล่นเกม 1,200 คน ต่อการจัดเรตติ้งเกมของภาครัฐ โดยเป็นเพศชาย ร้อยละ 75.3 เพศหญิง ร้อยละ 24.7 พบว่ากลุ่มอายุที่เล่นเกมออนไลน์มากอันดับ 1 ได้แก่ 15-19 ปี รองลงมา 19-20 ปี และอายุ 11-14 ปี ส่วนอาชีพของผู้เล่นเกมออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ร้อยละ 84.3 นอกจากนี้ ขณะที่การสำรวจรายได้ของผู้เล่นเกมพบว่า โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2,000 บาทหรือน้อยกว่า

น.ส.ลัดดา กล่าวต่อไปว่า ในการรับรู้ต่อการจัดเรตติ้งเกม พบว่า มีผู้รับรู้ถึงร้อยละ 66.6 ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวร้อยละ 86.9 เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งเกม อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าการจัดเรตติ้งเกมจะมีประโยชน์ปาน กลาง ขณะที่กลุ่มอายุ 10-14 ปี เห็นว่าการจัดเรตติ้งเกมมีประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากจะสามารถทำให้กำหนดอายุของผู้เล่นให้เหมาะสมกับเกมได้ ทั้งนี้ตนคิดว่าการสำรวจดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อวธ.อย่างมาก เพราะทำให้เห็นว่า เด็กและเยาวชน เห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน รวมถึงได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดเรตติ้งเกมหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อกลุ่มพวกเขาโดยตรง

“ดิฉันยังได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเกม และนักวิชาการ ต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการนำเรตติ้งเกมมากำหนดใช้ในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วธ. ได้ร่วมกับนักวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำเกณฑ์ที่จะใช้จัดระดับเรตติ้งเกมขึ้นมาแล้วในเบื้องต้น ได้แก่ ป3+ คือ เกมสำหรับประถมวัย อายุ 3-5 ปี ด6+ คือ เกมสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี ท คือ เกมที่เหมาะกับผู้เล่นทุกวัย น13+ คือ เกมที่เหมาะกับผู้เล่นที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป น้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับการแนะนำ น 15+ คือ เกมที่เหมาะกับผู้เล่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป น้อยกว่า 15 ปี ควรได้รับการแนะนำ น18+ คือ เกมที่เหมาะกับผู้เล่นที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป น้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับการแนะนำ และ ฉ คือ เฉพาะผู้ใหญ่ ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าว.

No comments: