ธุรกิจบัณฑิตย์โพลเผยคนกรุงอยากเห็นปฏิรูปรอบ 2 เน้นพัฒนาคุณภาพวิชาการโวยการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่พอ แต่ 95% หนุนเรียนฟรี 15 ปีทุกรัฐบาลควรสานต่อ ขณะที่ ร.ร.งงแจกตำราเก่า-ใหม่มั่ว แถมยังต้องหาเงินค่าถ่ายเอกสาร
เมื่อวันที่8 เมษายนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ธุรกิจบัณฑิตย์โพลศูนย์วิจัย มธบ. แถลงผลการวิจัยปฏิรูปการศึกษาโพล โดยศ.ดร.ไพฑูรย์สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เปิดเผยว่า จากผลวิจัยโพลล์ปฏิรูปการศึกษาของธุรกิจบัณฑิตย์โพล สำรวจชาวกรุงเทพมหานครจำนวน 1,358 คน พบว่า 46.38% อยากให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เน้นที่คุณภาพทางวิชาการของนักเรียนมากที่สุด ตามด้วยพัฒนาคุณภาพครู แต่มองว่าการกวดวิชาจำเป็น เพราะเรียนในโรงเรียนไม่เพียงพอ
ส่วนเรื่องของนโยบายเรียนฟรี15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้น พบว่า 95.92% อยากให้รัฐบาลทุกชุดใช้นโยบายเรียนฟรี15 ปีตลอดไป 18.12% อยากเห็นคุณภาพครูดีขึ้น12.44% การจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะลดลง 8.10% ลดการกวดวิชา
รศ.ดร.สรชัยพิศาลบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มธบ. กล่าวว่าผลการสำรวจความคิดเห็นของครูผู้สอนในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรใหม่ 2551 จำนวน245 คนจาก 65 โรงเรียนทั่วประเทศนั้นพบว่าครูในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาลรับทราบเรื่องการบังคับใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าในปี การศึกษา 2552 ถึง 88% และ77% ตามลำดับขณะที่ครูโรงเรียนสาธิตทราบทุกคน โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยทราบมากที่สุด 88.24% ส่วนครูกลุ่มการงานอาชีพฯทราบน้อยที่สุด
"ปัญหาที่ครูกังวลมากที่สุด คือ เรื่องวิธีการแจกหนังสือเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มภาษาอังกฤษ เนื่องจากกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษในหลักสูตรใหม่ แตกต่างจากตำราเรียนหลักสูตรเก่า ทำให้ครูไม่รู้ว่าจะแจกหนังสือเรียนเด็กได้อย่างไร ทั้งนี้ 84% ต้องการให้โรงเรียนมีอิสระในการเลือกใช้หลักสูตรและ 83% เห็นควรให้โรงเรียนที่ยังคงเปิดสอนหลักสูตรเก่ามีอิสระในการเลือกใช้หนังสือ เรียนได้เช่น วิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมากควรใช้ตำราเรียนหลักสูตรใหม่ ส่วนวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยควรใช้ตำราเรียนเก่า" รศ.ดร.สรชัย กล่าว
รศ.ดร.สรชัยกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่จะให้โรงเรียนที่ใช้ตำราเรียนเก่านั้น ถ่ายเอกสารตามเนื้อหาตำราเรียนใหม่ หรือเอาเนื้อหาขึ้นเว็บไซต์ ไม่สามารถแก้ปัญหาเพิ่มองค์ความรู้ตามหลักสูตรใหม่ของเด็กได้อย่างทั่วถึง เพราะนอกจากจะทำให้เด็กกลุ่มที่ใช้ตำราเรียนเก่าไม่สามารถคิดวิเคราะห์ มีคุณธรรมจริยธรรม ตามตำราเรียนใหม่ได้แล้ว ยังสร้างภาระให้แก่ครูผู้สอนมากมาย ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรีบตรวจตำราเรียนหลักสูตรใหม่ และกระจายให้แก่ทุกโรงเรียนได้ใช้ตำราเรียนใหม่เหมือนกันหมด
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment