Thursday, April 16, 2009

วิทย์จุฬาฯขอเพิ่มค่าน้ำหนักแอดมิชชั่น 54 อื้อ

ตาม ที่มหาวิทยาลัยของรัฐได้หารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงสัดส่วน ค่าน้ำหนัก องค์ประกอบแอดมิชชั่น ในการแก้ปัญหามหาวิทยาลัยหนีการรับแอดมิชชั่นไปใช้ระบบรับตรงมากขึ้น เพราะขาดความมั่นใจในระบบแอดมิชชั่น และนำข้อสรุปเข้าหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบแอดมิชชั่นปี 2554 ต่อไป นั้น


นาย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ทปอ.ได้ส่งแบบสอบถามให้คณะวิชาของมหาวิทยาลัยต่างๆ พิจารณาว่าต้องการสัดส่วน น้ำหนัก องค์ ประกอบแอดมิชชั่นเท่าไร ซึ่งคาดว่าปลายเดือน เม.ย.นี้ น่าจะได้รับคำตอบครบทุกมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ต้องเร่งรัดขอคำตอบจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้แอดมิชชั่นปี 2554 ได้ข้อสรุปโดยเร็ว จะได้แจ้งให้นักเรียนได้ทราบเพื่อเตรียมตัวต่อไป ทั้งนี้ ตนยังยืนยันที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยรับเด็กในระบบรับตรง และระบบแอดมิชชั่นกลาง ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ



ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของคณะวิชาของจุฬาฯ เกี่ยวกับสัดส่วน น้ำหนัก องค์ประกอบแอดมิชชั่นปี 2554 เพื่อเสนอต่อ ทปอ.นั้น ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้สรุปที่จะเสนอขอเพิ่มค่าน้ำหนัก ในส่วนของแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ หรือ PAT 2 จากเดิม กำหนดค่าน้ำหนัก 30% ขอเพิ่มเป็น 80-90% เพื่อให้ สามารถวัดเด็กที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เข้าเรียน หาก ทปอ.เห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยินดีกลับเข้าไปใช้ระบบแอดมิชชั่นกลางในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อ หากไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็จะใช้ระบบรับตรง


คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอในการแยกข้อสอบ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ออกเป็น 3 วิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยสอบวิชาละ 100 ข้อนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะแม้ว่าจะมีการแยกข้อสอบ แต่ หากยังกำหนดค่าน้ำหนักเท่าเดิม ก็ไม่ได้ทำให้เราได้คนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เข้าเรียนเช่นเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงาน จากข้อมูลการรับบุคคลเข้า ศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงปี 2553 พบว่า มีมหาวิทยาลัยที่รับตรงมากขึ้น อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้การสอบ แบบทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และแบบ ทดสอบความถนัดวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT เป็นองค์ประกอบในระบบรับตรง ได้แก่ ม.มหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วน ม.สงขลานครินทร์ ใช้เฉพาะ GAT.

No comments: