Wednesday, April 1, 2009

ไอทีดีผนึกสอศ.ติวเข้มเด็กอาชีวะตั้งเป้าปั้นเป็นเถ้าแก่น้อย5 รุ่นรวม 200 คน Bookmark and Share

ไอทีดีผนึกสอศ.จัดโครงการติวเข้มความรู้ทำธุรกิจเอสเอ็มอีให้แก่ นศ.อาชีวะทั้งไทย-ต่างชาติ ปั้นเป็นเถ้าแก่น้อย ระบุปีงบประมาณ 2553 เน้นจัดอบรมสาขาเกษตร หวังจุดประกายผลิตเป็นสินค้าส่งออก ตั้งเป้า 5 รุ่นรวม 200 คน

ดร.สรจักรเกษมสุวรรณ ผอ.บริหารสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.)หรือไอทีดี เปิดเผย "คม ชัด ลึก" ว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถาบันร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการอบรมความรู้และทักษะการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น บริหารธุรกิจ บัญชี ทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร ลาว ซึ่งการอบรมมุ่งปลูกฝังให้นักศึกษามีความรู้ ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปีนี้จัดอบรมไปแล้ว 11 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นละ 40 คน แยกเป็นนักศึกษาไทย 30 คน และนักศึกษาต่างชาติ 10 คน รวมทั้งสิ้น 410 คน

"การอบรมได้นำวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคารเอสเอ็มอี ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จมาเล่าประสบการณ์ให้ความรู้แก่ นักศึกษา หลังจากอบรมแล้วก็มีการประกวดแผนธุรกิจและมีเงินรางวัลให้ด้วย พบว่านักศึกษาไทยคิดแผนธุรกิจได้น่าสนใจ เช่น คิดทำผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบให้น่าซื้อ เช่น รูปการ์ตูน รูปดาว ส่วนแหล่งเงินทุนนักศึกษาที่เข้าอบรมแล้วต้องการทำธุรกิจเอสเอ็มอี จะได้เงินรางวัลจากการประกวดแผนธุรกิจ หรือสามารถไปยื่นกู้กับธนาคารเอสเอ็มอีได้" ผอ.ไอทีดี กล่าว

ดร.สรจักรกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2553 การจัดอบรมนักศึกษาในโครงการนี้จะเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.ที่เรียนสาขาเกษตรเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจว่า การเกษตรสามารถพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ทั้งนี้ตั้งเป้าจะรับนักศึกษาเข้าอบรม 5 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นละ 40 คน แยกเป็นนักศึกษาไทย 30 คน และต่างชาติ 10 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน จะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552-ตุลาคม 2553

"เป้าหมายของโครงการนี้นอกจากจะให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาให้ รู้จักมองเห็นโอกาสในการนำความรู้จากสาขาที่เรียนไปต่อยอดทำธุรกิจแล้ว ยังช่วยสร้างเครือข่ายนักศึกษาไทยกับนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งช่วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ผอ.ไอทีดี กล่าว

No comments: