Monday, March 2, 2009

หวั่นรัฐแบกภาระจี้แนวร่วมจัดเรียนฟรีรุกอุ้มรร.พระปริยัติฯ

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะรัฐบาลเข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ารัฐต้องจัดการศึกษาให้ฟรี โดยผู้เรียนไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เพียงแต่กำหนดว่ารัฐต้องให้สิทธิ์ในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างทั่วถึง ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีอาจทำให้ผู้ปกครองเกิดความสับสนว่าอะไรฟรี และอะไรไม่ฟรี และหากโรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจะสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนมองว่านโยบายเรียนฟรีเป็นเพียงการประกันโอกาสขั้นต่ำทางการศึกษาเท่านั้น เพราะหากจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมกับการจัดสรรเครื่องแบบ อุปกรณ์ ตำราเรียน และกิจกรรมอื่นๆด้วย ต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรมองว่าการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐทั้งหมด เพราะชุมชน ผู้ปกครอง ตลอดจนองค์กรท้องถิ่นควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย ไม่เช่นนั้นคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้

ที่ปรึกษา กมธ.ศึกษา กล่าวอีกว่า ตนไม่เป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการในการจัดซื้อเครื่องแบบ อุปกรณ์ หรือตำราเรียน เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะทำอย่างดีที่สุด แต่เป็นห่วงว่าการที่รัฐจัดเรียนฟรีนั้น จะเป็นการตัดโอกาสการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคส่วนอื่นๆ อีกทั้งคนจะเข้าใจผิดว่าหน้าที่จัดการศึกษาเป็นของรัฐ ทำให้ไม่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะมีปัญหากับการพัฒนาด้านคุณภาพมาก นอกจากนี้ การที่คนละเลยในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทำให้รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

พระครูสุนทรพิมลศีล ประธานศูนย์โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าจะนำโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ เข้าไปอยู่ ในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ก็ควรอุดหนุนในส่วนของงบฯในการจัดกิจกรรม ทัศนศึกษา นอกจากนี้ อยากให้เพิ่มเงินรายหัวในส่วนที่จะนำมาให้เป็นเงินเดือนครู เพราะขณะนี้ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรี ตามเกณฑ์เก่าคือ 7,260 บาท ซึ่งป’จจุบันมีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 7,900 บาทต่อเดือน.

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ