Tuesday, March 3, 2009

นร.อ่อนคณิต-วิทย์ต้องแก้ทั้งระบบ

ชัยวุฒิ ฟันธงนักเรียนร.ร.ขยายโอกาสอ่อนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์มากสุดส่วนครูไม่ เพียงพอ รวมทั้งไม่จบสายตรง บางคนอ่อนภาษาไทยส่งผลให้ได้ไม่ดี เพราะอ่านเขียนไม่คล่องทำให้เด็กอ่านโจทย์ไม่แตก ชี้ต้องแก้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงการคัดเลือกคนเก่งมาเรียนครู ด้าน คุรุสภารับลูก เตรียมเสนอแนวทางจูงใจคนเก่งมาเป็นครู

นายชัยวุฒิบรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีนิสิตคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ติดโปรและติดเอฟจำนวนมากว่าภายในสัปดาห์นี้ จะได้เรียกประชุมคณะกรรมการหาวิธีทำให้เด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น ซึ่งมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกรรมการอย่างไรก็ตามการแก้ปัญหานักศึกษาระดับอุดมศึกษา อ่อนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แก้ที่ระดับอุดมศึกษา แต่ต้องแก้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และจากข้อมูลพบว่านักเรียนของร.ร.ขยายโอกาสมีปัญหาอ่อนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์มากกว่าร.ร.ประเภทอื่นสาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมีครูไม่เพียงพอ หรือ ไม่มีครูเอกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์โดยตรงรวมทั้ง การที่เด็กอ่อนภาษาไทยก็มีส่วนสำคัญทำให้เด็กเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ได้ไม่ดีด้วยเมื่อเด็กอ่านเขียนไม่คล่องทำให้เด็กอ่านโจทย์ไม่แตก

รมช.ศธ. กล่าวต่อว่านอกจากต้องปรับปรุงการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาแล้ว จะต้องปรับระบบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย เพราะปัญหาที่เกิดสะท้อนให้เห็นว่า ระบบแอดมิชชั่น หรือ แม้แต่ระบบสอบตรงของคณะแพทย์นั้น ก็ยังมีปัญหา ไม่สามารถคัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสมเข้าไปเรียนได้

"โดยปกติของนักศึกษาที่เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จะมีอัตราการดรอป ในรายวิชาต่างๆประมาณ 20 % สมัยที่ผมเรียนอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ก็เป็นเช่นนี้เช่นกัน เพราะต้องปรับตัวจากการเรียนแบบมัธยมมาเป็นการเรียนแบบมหาวิทยาลัย อาจทำให้เด็กเสียศูนย์ไปบ้าง" นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (ค.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้หารือร่วมกัน เพื่อหาวิธีจูงใจคนเก่งมาเป็นครูในสาขาขาดแคลน โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ซึ่งจะต้องเพิ่มฐานเงินเดือนเพื่อดึงคนเก่งจากหลากหลายสาขามาสมัครเป็นครู เนื่องจากปัจจุบันหากผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ หรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น วิศวกร ต้องการมาเป็นครูจะต้องเข้าอบรมวิชาการสอนอีก 1 ปีจึงจะมีสิทธิขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทำให้ไม่จูงใจ ปัจจุบันคุรุสภามีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนขอรับใบประกอบวิชาชีพ 8.5 แสนราย มีข้าราชการครูที่มีใบประกอบวิชาชีพแล้ว 6 แสนราย และมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอรับใบประกอบวิชาชีพ แต่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ 2 แสน ราย

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ