Friday, March 6, 2009

สพฐ.ชี้แยกวิชาวิทย์หรือไม่ไม่แตกต่าง

ดร.สุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการวิจัย จุฬาฯ ระบุปัญหาผลการเรียนของนิสิต นักศึกษา ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ ตกต่ำไม่ได้เกิดจากระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วย ระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น อย่างเดียว การจัดการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รวม วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา เข้าด้วยกันก็มีส่วนทำให้เกิดผลดังกล่าวด้วยว่า เด็กทุกคนต้องเรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐาน แต่สำหรับเด็กที่เรียนสายวิทย์จะต้องเรียนเพิ่มเติมใน วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งโรงเรียนจะกำหนดว่าต้องเรียนกี่รายวิชา และจากการวิเคราะห์หลักสูตรก็ยังไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างรวมหรือ แยกรายวิชา ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร แต่อยู่ที่เครื่องมือคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ควรหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อปรับปรุงเครื่องมือ การคัดกรองเด็กมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการให้ สพฐ.ปรับปรุงส่วนใดก็ยินดีที่จะดำเนินการ

ด้าน รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2553 กล่าวถึงองค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2553-2554 ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนมหาวิทยาลัยยอดนิยมจะไปรับตรง และกำหนดค่าน้ำหนักองค์ประกอบใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ตนอยากให้นำข้อสอบกลาง คือ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการหรือวิชาชีพ หรือ PAT มาใช้ด้วย เพื่อลดภาระเด็กจะได้ไม่ต้องสอบหลายที่ และอยากให้มหาวิทยาลัยที่คิดว่าจะรับตรง 100% ให้พื้นที่รับแอดมิชชั่นกลางสัก 30% เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยยอดนิยม ด้วย.

No comments: