Thursday, March 5, 2009

ชี้ นศ.คุณภาพตกต่ำอย่าโทษแต่แอดมิชชั่น

จากกรณีที่คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์มีงานวิจัยที่ระบุว่าการคัดเลือกบุคคล ผ่านระบบแอดมิชชั่น ทำให้ ได้เด็กที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่แน่น และสอบตก จำนวนมาก ทำให้หลายคณะหันมารับตรงมากขึ้นนั้น ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า หากมหาวิทยาลัยใดต้องการเปิดรับตรง ทปอ.ก็ได้ร้องขอว่าจะต้องไม่ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองเดือดร้อนวิ่งสอบหลาย แห่ง โดยขอให้ มหาวิทยาลัยนำคะแนนแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบทดสอบความถนัดด้านวิชาชีพ/ วิชาการหรือ PAT มาใช้เป็นคะแนนในการคัดเลือก สำหรับ จุฬาฯ หากคณะต้องการรับตรงก็จะให้รวมตัวกัน โดยให้นักเรียนนำคะแนน GAT, PAT ตามค่าน้ำหนักที่คณะ ต้องการ และไปยื่นในคณะที่ต้องการเข้า ทำให้นักเรียนสะดวกไม่ต้องวิ่งสอบหลายที่ อย่างไรก็ตาม การกำหนดสัดส่วนการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆให้ชัดเจนคงไม่สามารถกำหนดได้ เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสิทธิเลือกรับตรงได้ตามต้องการ ส่วนกรณีที่ระบุว่าการคัดเลือกในระบบแอดมิชชั่น ทำให้ไม่ได้เด็กที่คณะต้องการจนต้องหนีไปรับตรงมากขึ้นนั้น ปัญหาคุณภาพของนิสิตนักศึกษามีหลายสาเหตุ ไม่ควรโทษแอดมิชชั่น อย่างเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรม

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงาน ศึกษาแอดมิชชั่นฟอรั่มปี 53 กล่าวว่า การรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยมีตัวแปรแตกต่างกัน บางมหาวิทยาลัยอาจเน้นรับเด็กในพื้นที่เป็นหลัก ดังนั้น การที่จะกำหนด สัดส่วนรับตรงให้ชัดเจนนั้น คงไม่สามารถกำหนดได้ เพราะตัวแปรของแต่ละมหาวิทยาลัย เปลี่ยนทุกปี ซึ่งมหาวิทยาลัยจะรู้ตัวเองว่าแต่ละปีจะต้องเปิดรับในสัดส่วนเท่าไร

ด้าน นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวบรวมข้อมูลสัดส่วนรับตรงและแอดมิชชั่น กลางของมหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศ เพื่อจะได้มาวิเคราะห์สถานการณ์และกำหนดเป็นนโยบาย เพราะตนไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนระบบสอบตรง แม้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ก็อยากให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องไม่ลำบากด้วย.

No comments: