โครงการตลาดวิชาวิทย์-คณิต คณะวิทย์ จุฬาฯ วิดีทัศน์การสอนลงระบบออนไลน์ เสร็จ พ.ค.นี้ เชื่อแก้เด็กไทยเรียนอ่อน ครูขาดโอกาสอบรมและเรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ได้แน่นอน
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์ (Science for All) คณิตศาสตร์ ได้ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายอุดมศึกษา จัดทำเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ โดยแต่ละวิชาจะมีคณะทำงานเพื่อจำแนกและกำหนดเนื้อหาแต่ละหัวข้อย่อยวิชาละ 100 หัวข้อ โดยครอบคลุมเนื้อหา ม.ปลาย และปี 1
จากนั้นจะเสาะหาครู อาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่ มีทักษะการสอนวิทยาศาสตร์เข้าใจ เนื้อหาวิชามากกว่าการทำข้อสอบได้ มาจัดทำเป็นวิดีทัศน์การสอนลงระบบ ออนไลน์ ขึ้นเว็บไซต์ให้ครู นักเรียน นักศึกษา ใช้เป็นช่องทางหาความรู้เพิ่มเติมให้เสร็จทันภายในการเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยครูที่ไม่มีโอกาสไปอบรมองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่นอกสถานที่ รวมทั้งนักเรียนที่เรียนในห้องเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่ทันเพื่อน ก็สามารถมาเรียนเพิ่มเติมผ่านโครงการตลาดวิชานี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์ได้
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า คณะทำงานจัดกลุ่มเนื้อหาในแต่ละวิชาจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ในส่วนของการจัดเนื้อหาลงไปในเว็บไซต์จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายเทคโนโลยี สารสนเทศของจุฬาฯ ส่วนการผลิตและถ่ายทำอยู่ระหว่างการประสานงาน ทั้งนี้ หากไม่สามารถจัดทำโครงการฯ ให้เสร็จสิ้นทั้ง 100% อย่างน้อยในช่วงเปิดภาคเรียน ในทุกวิชาจะต้องจัดทำเนื้อหาที่ต้องเรียนก่อนของชั้น ม.4-ม.6 ในทุกวิชาให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ ควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งตลาดวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเด็กเรียนกวดวิชา เพราะโครงการฯ มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีช่องทาง เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในสาระวิชาที่เรียน
หรือแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอน จะได้เรียนรู้วิธีการสอนที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจง่าย โดยไม่มีการสอนสูตรลัด หรือสูตรในการทำข้อสอบ แต่จะเน้นสอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะเชื่อว่าหากนักเรียนมีความเข้าใจในสาระวิชานั้น จะสามารถทำข้อสอบได้ในทุกรูปแบบ ที่สำคัญโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ของเยาวชนในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment