Monday, March 16, 2009

กดดันเข้าร.ร.ดี เด่น ดัง ระวัง!!! ผลักลูกตกเหวตลอดชีวิต

ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของน้องๆ บางคนอาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน ได้เวลาไปท่องเที่ยวทะเล ป่าเขากับครอบครัว แต่สำหรับน้องๆ ในระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 ถือเป็นช่วงหนักหน่วง

ลุ้นระทึกที่ต้องเตรียมตัวกับสารพัดสอบ อาทิ เปิดรับสมัคร ม.1 ตั้งแต่วันที่ 14-18 มีนาคม สอบจีเอที พีเอที ตั้งแต่วันที่ 7-15 มีนาคม และสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 สอบวันที่ 23 มีนาคม ส่วน ม.6 สอบวันที่ 23-24 มีนาคม สิ่งที่ตามมากับสารพัดสอบครั้งนี้ นั่นคือ ความเครียด! ไม่ว่าจะเป็น ตัวลูก คุณพ่อ คุณแม่
วัน นี้จึงเก็บเอาคำแนะนำดีๆ จาก พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่มาพูดคุยผ่านรายการ "แนะแนวแนะน้อง" ทางเอฟเอ็ม 102 "เวิร์กกิ้ง สเตชั่น เพื่อคนมีไฟ ร่วมใจฝ่าวิกฤติ" เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา มาเป็นข้อคิดสำหรับทุกคน
พญ.อัมพร เริ่มต้นว่า การที่เด็กตกอยู่ในช่วงสอบแข่ง ขันมากๆ แบบนี้ จะไม่ให้เครียดเลยคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีความคาดหวังกับลูก ดังนั้น ควรเครียดในสิ่งที่ควรเครียด มาช่วยกันหาสาเหตุว่าความเครียดมาจากอะไร กลัวลูกไม่มีที่เรียน หรือไม่ได้ที่เรียนตามใจเขา หรือไม่ได้ที่เรียนตามใจพ่อแม่
หากเป็นประเด็นแรกค่อนข้างชัดเจนว่า สถานศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชนมีเพียงพอรองรับนักเรียนชั้นม.1 แน่นอน จึงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอาจจะเป็นข้อต่อมาคือ ไม่ได้เรียนตามใจเขา อยากเรียนในโรงเรียนที่ชื่นชม ชื่นชอบแล้วเกิดความเครียด ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า หากอยากสมหวังต้องมีความมุ่งมั่น พากเพียรเรียนรู้ แล้วทำอย่างเต็มศักยภาพ หากสอบไม่ ได้ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว ไม่ควรท้อแท้ ควรพัฒนาศักยภาพตัวเอง แล้วมองหาสิ่งที่สอดคล้องกับศักยภาพตัวเอง คือโรงเรียนที่ชื่นชอบในลำดับรองลงมา ถ้าทำให้ลูกเห็นปัญหา แม้จะเป็นการสอบที่เครียด แต่เป็นความเครียดที่คุ้มค่า
สุดท้าย หากความเครียดนั้นมาจากเกรงว่าจะไม่ได้ที่เรียนตามใจพ่อแม่ อยากจะบอกพ่อแม่ว่าอย่าปล่อยให้ความต้องการ ความเชื่อมั่นศรัทธาของตัวเราไปครอบงำชีวิตของลูก การได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ดี เด่น ดัง ไม่ได้หมายความว่า เป็นโอกาสที่ดีของลูกเสมอไป เมื่อเทียบกับลูกได้อยู่ในโรงเรียนอื่นๆ อาจจะไม่มีคู่แข่งสอบที่ ดี แต่มีเพื่อนๆ ที่ช่วยในเรื่องของทักษะชีวิตที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความหลากหลายของชีวิต ล้วนแล้วเป็นบทเรียนที่ดีในการใช้ชีวิตของลูกเราทั้งสิ้น นี่เป็นเพียงบันไดขั้นพื้นฐานของชีวิตเท่านั้น
ถ้าหากพ่อแม่ยังกดดันให้ ลูกเรียนแต่ในโรงเรียนที่ดี ที่มีชื่อเสียงมาก การแข่งขันก็สูงตาม ความกดดันจากพ่อแม่ต้องส่งผ่านไปถึงลูกอย่างแน่นอน และเมื่อลูกมีการเรียนรู้ความกดดันจะมีแต่ผลเสีย ตกอยู่ในภาวะถูกกดดันทางจิตใจ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนทางร่างกาย เช่น สภาพอารมณ์ที่ไม่มีความสุข เกรียวกราด หงิดหงิดง่าย ขี้โมโห บางคนอาจจะเงียบ ซึม เก็บตัวอยู่คนเดียว อาจจะบ่มเพาะส่งผลเป็นปัญหาการเรียนตกต่ำ เริ่มมีความขัดแย้ง ใช้ความรุนแรงกับพี่น้อง เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ ลามไปถึงพ่อแม่ด้วย มองอนาคตไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางครั้งก็ดูสิ้นหวัง ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีความสดใส โตขึ้นกลายเป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย นี่คือผลของการถูกกดดันมาตั้งแต่เด็ก กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
" การส่งเสริมให้ลูกรักเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องรู้ว่าการเรียนของเด็ก ไม่ใช่การเรียนหนังสืออย่างเดียว อาจจะหมายถึงการเรียนรู้ การปรับตัวกับชีวิตในแง่มุมอื่นๆ แม้โรงเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นบ้านที่สองของลูกก็จริง แต่บ้านที่สองจะไม่มีทางสำคัญไปกว่าบ้านหลังแรกของลูก เพราะฉะนั้น ถ้าเรากดดันให้เข้าบ้านหลังที่สองที่พ่อแม่รู้สึกว่าดีเลิศประเสริฐศรี แล้วทำให้บรรยากาศในครอบครัวในบ้านหลังแรกเต็มไปด้วยความคาดหวัง กดดัน บ้านหลังที่สองสวยงามแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะบ้านหลังที่ลูกอาศัยอยู่คือบ้านหลังแรก ขอให้มองมุมกว้าง ไม่อย่างนั้นแล้ว เรานี่แหละคือคนที่ปิดกั้นอนาคตลูก ปิดกั้นความคิดลูก คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง" พญ.อัมพรกล่าวทิ้งท้าย

No comments: