นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวหลังประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า มีนโยบายให้ ศธ.พัฒนาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ครั้งใหม่
เพื่อ ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยดีขึ้น หลังจากมีผลการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยชั้น ม.2 กับอีก 59 ประเทศตามโครงการ TIMISS 2007 ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดำเนินการร่วมกับนานาประเทศ พบว่าคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ของไทยอยู่ในลำดับที่ 29 ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 22 โดยคะแนนของทั้งสองวิชาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ได้ให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ ไปตั้งคณะทำงานโดยระดมบุคลากรจากทุกหน่วยงานใน ศธ. และผู้แทนครูในวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ช่วยกันหาคำตอบว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์ -คณิตศาสตร์มากขึ้น และให้เสนอที่ประชุมอีกครั้งในการประชุม ศธ.ประจำเดือนมีนาคม ทั้งนี้ตั้งเป้าว่า เด็กไทยที่จบชั้น ป.3 หรือ ป.4 จะต้องอ่านคล่อง เขียนคล่อง และคิดเลขเป็น เนื่องจากพบว่าสาเหตุที่เด็กอ่อนคณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งเพราะอ่านโจทย์ไม่ออก จึงต้องกำหนดเป้าหมายไว้ทั้ง 3 ส่วน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะทำแผนปรับปรุงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์แล้ว ยังได้ให้ ศธ.ไปหาวิธีจูงใจคนเก่งมาเป็นครูในสาขาขาดแคลนโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ -คณิตศาสตร์ด้วย ปัจจุบันหากผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ หรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น วิศวกร ต้องการมาเป็นครูแล้วจะต้องเข้าอบรมวิชาการสอนอีก 1 ปี จึงจะมีสิทธิขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งไม่จูงใจให้คนกลุ่มนี้มาเป็นครู จึงได้ให้คุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไป หารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงเกณฑ์เอื้อให้คนเก่งมาเป็นครูง่ายขึ้น เช่น ลดเวลาอบรมจาก 1 ปี เหลืออบรมแบบเข้มข้น 3 เดือน และอาจมีมาตรการจูงใจอื่นๆ
Monday, March 2, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment