ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ประเมินคุณภาพสถานศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบแรกและพบว่ามีคุณภาพต่ำสุดจึงได้มอบหมายให้ทาง มูลนิธิทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขณะนี้คณะวิจัยของทางมูลนิธิซึ่งได้ทำโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่า การพัฒนาโรงเรียนสามารถทำได้โดยการช่วยกันเป็นเครือข่าย แม้จะยังมีเหตุความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ก็ตาม
ดร.รุ่ง กล่าวต่อไปว่า ในการวิจัยนั้นได้ออกแบบให้มีการทดลองนำร่องรวมกลุ่มโรงเรียนขึ้นในเขต พื้นที่การศึกษาละ 1 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยโรงเรียนที่แตกต่างกัน 4 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ รร.เอกชนสายสามัญ รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนของท้องถิ่น โดยแต่ละกลุ่มจะมีการเลือกประธานกลุ่มที่มาจากโรงเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวพบว่า เมื่อโรงเรียนมารวมตัวกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือกันมาก ขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น บางโรงเรียนไม่เคยสัมพันธ์กับคนภายนอกก็เริ่มมีคนรู้จัก เข้าไปพบปะเยี่ยมเยียน และที่สำคัญทำให้เกิดกระบวนการประกันคุณภาพภายในได้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งแต่เดิมจะทำกันน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยให้เน้นผู้ เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานกว่าร้อยละ 80 จะสามารถทำได้เหมือนกัน ส่วนการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น ยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ เพราะเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ทำให้มีความสัมพันธ์กับชุมชนไม่มากนัก อีกทั้งผู้บริหารก็ออกไปพบกับชุมชนได้ยาก ต้องมีทหารคอยให้การคุ้มกัน
“เรื่องของการบริหารอาจจะยังมีปัญหา แต่เรื่องของคุณภาพการศึกษา ยืนยันได้ชัดเจนว่าเมื่อมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย และคนในพื้นที่ช่วยเหลือกันก็ยังสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ และยั่งยืนกว่าให้ข้างบนสั่งการลงมา ซึ่งทางมูลนิธิจะทำรายงานสรุปเสนอให้สมศ.ก่อนการประเมินรอบ 2 ในภาคการศึกษาหน้า” ดร.รุ่ง กล่าว.
ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th
Thursday, December 18, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment