เลขาธิการกพฐ.แจงกมธ.กีฬา สพฐ.ห้ามเด็กต่ำกว่า 15 ปีชกมวยอาชีพ เพราะหวั่นกระทบต่อสมองเด็ก ย้ำไฟเขียวมวยสมัคร เพื่อส่งเสริมการเรียนมวยไทย ชี้ตั้งแต่ออกหนังสือสั่งการปี 50 ยังไม่มีร.ร.และเด็กต้าน เตรียมเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเสวนาใหญ่เพื่อหาข้อยุติธ.ค. นี้
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในช่วงปี 2550 ให้สอดส่องกวดขันอย่างใกล้ชิด และ ได้มีหนังสือสั่งการให้สถานศึกษาถือปฏิบัติ 3 ประการ ได้แก่ ห้ามใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่จัดการแข่งขันชกมวย กำชับไม่ให้ครูนำนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไปชกมวยอาชีพ และให้สถานศึกษาแนะนำเด็กและผู้ปกครองว่า การขึ้นชกมวยจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น ระบบสมอง ความจำ และสายตา โดยอาจขอความร่วมมือจากแพทย์มาช่วยให้ความรู้ถึงผลกระทบเพิ่มด้วยนั้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การท่องเที่ยวและกีฬา วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่าหนังสือสั่งการดังกล่าวเข้มงวดเกินไป และไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จึงควรยกเลิกหรือปรับ
ดังนั้นตน จึงขอให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ ปัญหาเรื่องความเหมาะสมที่จะอนุญาตหรือส่งเสริมให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นเวทีชกมวยอาชีพ เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่มีการโต้แย้งมาช้านาน เช่น มีการสำรวจของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (ส.ย.ช.)เมื่อปี 2542 ที่เก็บข้อมูลจากค่ายมวย 50 แห่ง พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สูงถึงร้อยละ 47 โดยกว่าครึ่งยอมรับว่าต้องทานยาขับเลือดช้ำออกจากร่างกาย ยิ่งกว่านั้นเมื่อปี 2550 ได้มีรายงานเพิ่มเติมจาก Child Watch Project สถาบันรามจิตติ พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นชกมวยไทย บนเวทีอาชีพ กว่า 8,000 คน และคาดว่าทั่วประเทศจะมีนับหมื่นคน รายได้ที่ได้มาต้องแบ่งหลายส่วน และยังต้องเจ็บตัวทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมองไม่เห็น
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สมาคมกุมารแพทย์ ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันของกุมารแพทย์ว่า จะต่อต้านการชกมวยในหมู่เด็กและเยาวชน และจะช่วยกันให้การศึกษาแก่กลุ่มเสี่ยงถึงภัยที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬาที่ไม่เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บที่ ศีรษะ ส่วนในประเทศอังกฤษมีการวิจัยที่พบว่า จะส่งผลกระทบต่อสมอง หู ตา คอ และจมูก ซึ่งสมาคมแพทย์ ได้จัดพิมพ์แผ่นพับเผยแพร่ไปยังโรงเรียนให้ระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น 3. อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้เถียงว่าผลงานวิจัยจากมวยสากล อาจนำมาใช้กับมวยไทยไม่ได้ เพราะมวยไทยไม่ได้เน้นการต่อยศีรษะเช่นมวยสากล ดังนั้นนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงกำลังติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อเด็กที่ชกมวยจากค่ายมวยต่างๆ 40 กว่าแห่ง และจะมีผลนำเสนอได้ภายในเดือนมีนาคม 2552
“ขอ ย้ำว่า สพฐ. ไม่ได้ห้าม ทั้งยังส่งเสริมการเรียนมวยไทยโดยบรรจุเรื่องนี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการ สอน และสถานศึกษายังสามารถจัดแสดงสาธิตมวยสมัครเล่นได้ แต่สพฐ.ถือเป็นนโยบายที่จะไม่ให้โรงเรียนและครูนำเด็กหรือส่งเสริมให้เด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นเวทีชกมวยอาชีพ หากจะทำ ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดและต้องดูแลไม่ให้มีเรื่องการพนันโดยเด็ด ขาด อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีหนังสือสั่งการไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ก็ยังไม่เคยมีครู โรงเรียน หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ แจ้งถึงความเดือดร้อนหรือขอต่อรองให้ยกเว้น ลดหย่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา สพฐ. จะจัดเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา กมธ.เด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประชุมได้ราวต้นเดือนธันวาคมนี้” คุณหญิงกษมา กล่าว
ข้อมูลจาก คมชัดลึก
Monday, December 1, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment