ตลอด 2-3 ปีภายหลังจากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพที่เข้มแข็งของส่วนงาน เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็น World Class University เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและเป็นแหล่งปัญญาของแผ่นดินที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและประชาคมโลก มุ่งพัฒนาศาลายาให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้คู่ธรรมชาติ บ่มเพาะบัณฑิตที่เก่ง ดี และมีคุณธรรม เป็นบ้านหลังที่สองของชาว มม. พร้อมทั้งก้าวเข้าสู่ 35 ปี มหาวิทยาวิทยาลัยมหิดล
ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมม. กล่าวถึงนโยบาย และวิสัยทัศน์ใหม่ในโอกาสครบรอบ 35 ปี ว่าขณะนี้ มม. ได้ขยายเป็นมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมการเรียนการสอนทุกสาขาวิชา เช่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่สอนเฉพาะสายแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทั้งความรู้ ความสามารถ และมีทัศนคติที่พร้อมอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน นั่นคือ ผลิตบัณฑิตเก่ง และดี โดยหลังจากนี้
มหาวิทยาลัยจะมุ่งสู่คุณภาพระดับสากล และได้วางเป้าเป็น University of Choice หรือ มหาวิทยาลัยที่เด็กไทยเลือกเข้ามาศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ภายใต้การดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก และมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ มีคุณภาพทางวิชาการ มีวิถีชีวิตสร้างสรรค์ เน้นคุณภาพชีวิตที่ดี บรรยากาศการเรียนที่สร้างสรรค์ กิจกรรมที่หลากหลาย และที่สำคัญมุ่งสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ มีจิตอาสาพัฒนาสังคม ผ่านวิชาเรียน และกิจกรรมต่างๆ
“มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่สีเขียว 70% เพื่อให้ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเอื้อต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิต ส่วนด้านวิชาการได้มีการจัดเตรียมคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีอาคารเรียน ห้องปฎิบัติการวิจัย มีคอมพิวเตอร์ส่วนกลางพร้อมอินเตอร์เน็ตกว่า 110 เครื่อง และทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยได้มีการเชื่อมต่อเครือข่ายWi-Fi อีกทั้งได้มีการจัดพื้นที่หอพักให้มีความสะดวกสบาย และให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคณะ ได้เรียนร่วมกันเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่อยู่ร่วมเฉพาะคนในสาขาเดียวกันเท่านั้น อีกทั้งได้มีการปรับปรุงสวนสมุนไพร เพื่อให้เป็นอุทยานธรรมชาติที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ คอนเสิร์ตฮอลล์ เพื่อใช้เป็นที่รับปริญญา และเป็นเวทีสำหรับแสดงดนตรีของนักศึกษาดุริยางค์ศิลป์”ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล กล่าว
สำหรับทิศทางการจัดการเรียนการสอนในอนาคต อธิการบดี มม. ยังยืนยันที่จะสร้างนวัตกรรมทางหลักสูตรใหม่ๆ โดยใช้จุดแข็งที่มี เช่น บูรณาการหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เข้าด้วยกันในเรื่องดนตรีบำบัด หรือการทำงานของคณะแพทยศาสตร์ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างหลักสูตร medical engineering เป็นต้น
"สิ่งต่างๆ ที่เราทำถือเป็นการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนไปของโลก การระบาดของ H1N1 และวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นตัวอย่างที่ดี วันนี้ถ้าเราและคนในประเทศไม่รู้เรื่องโรคใหม่ๆ เราก็ตาย นี่คือความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับ และเป็นเหตุผลให้เราต้องก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกและสร้างความเป็นผู้นำให้เด็กไทยให้เป็นผู้นำในภูมิภาคให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งสังคมไทย แล้วองค์ความรู้ที่มีมาตรฐานระดับโลกจะต้องสามารถมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ อย่างนั้นถึงจะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างแท้จริง"
นอกจากจะเป็นหนทางหนึ่งในการดึงคนเก่ง ดี เข้าเรียนแล้ว ยังเป็นแนวทางในการทำให้บุคลากรดีๆของประเทศไม่ต้องไปเรียนยังต่างประเทศที่ผ่านมามีนักวิจัยไทยหลายคนที่ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ไปทำงานวิจัย ซึ่งผลจากงานวิจัยไม่ได้ก่อประโยชน์แก่ประเทศไทย ดังนั้น หากจะให้เด็กไทย คนไทยเก่งๆ อยู่ในประเทศ ต้องมีมหาวิทยาลัยดีเด่น และมีศักยภาพพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อดึงคนเก่งอยู่ในประเทศ
Credit: http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000150138
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment