Friday, October 29, 2010

งานสัปดาห์หนังสือ หากไม่ได้ไปซื้อหนังสือ แล้วไปทำอะไร?

งานสัปดาห์หนังสือ หากไม่ได้ไปซื้อหนังสือ แล้วไปทำอะไร?

ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 15 ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-31 ตค.53 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้ ยังคงเต็มไปด้วยคนทุกเพศวัยที่ชื่นชอบการอ่านหนังสืออย่างเช่นเคย โดยเฉพาะขาประจำที่เป็นกลุ่มนิสิต-นักศึกษาต่างก็ยังคงชวนกันมาจับจ่ายซื้อหนังสือที่ตนเองสนใจกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยนักอ่านเหล่านี้ นอกจากเราจะได้เห็น เหล่านิสิตนักศึกษาอยู่ในบทบาทของนักชอปปิ้งความรู้แล้ว คนที่เดินในงานยังได้เห็นคนรุ่นใหม่อยู่ในบทบาทของการทำงาน part time ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งนี้ “ไลฟ์ ออน แคมปัส”จึงไม่พลาดที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับหลากหลายหน้าที่ของนศ.มานำเสนอ



“อาร์ม-พชร สิริบรรักษ์” นักศึกษาหนุ่ม จาก สถาบันการบินพลเรือน อาร์มใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมมาทำงานเป็นพนักงานแนะนำหนังสือภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อาร์มบอกว่าชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วเป็นทุนบวกกับอยากหารายได้พิเศษให้กับตัวเองเป็นค่าขนมช่วงปิดเทอม
“ ตลอดงานจะมีอยู่ 11 วัน แต่ผมจะมาทำ 7 วันและสลับสับเปลี่ยนกับเพื่อนมาทำ โดยก่อนที่จะมาแนะนำเราก็ต้องรู้จักกับหนังสือใน บูธของเรา บางเล่มก็ได้อ่านเองส่วนตัว หรือบางเล่มเราก็อ่านจะคำนำ ดูคำนิยม ให้เราสามารถ เชียร์อัพให้กับผู้ที่หยิบจับหนังสือในบูธเราให้ความสนใจและซื้อกลับบ้านไปอ่าน นอกจากนั้นหน้าที่ของผมในงานนี้ก็ยังมีช่วยจัดเรียงหนังสือภาย บูธด้วย”



หนุ่มหนอนหนังสือเล่าต่อว่าการได้ทำงานเกี่ยวกับหนังสือทำให้ตนมีความสุข ยิ่งการได้บอกต่อถึงเนื้อหาในหนังสือจากเล่มที่ตนประทับใจด้วยแล้วเขายิ่งรู้สึกปลื้มใจ
“ เหมือนว่าเรามาทำงานตรงนี้นอกจากได้เงินก็ยังได้สนุก และมีความสุขด้วย ว่าเล่มที่เราได้อ่านมีคนสนใจเพิ่มขึ้น อย่างที่ผมมักแนะนำคนที่มาบูธผมซึ่งจะเป็นหนังสือแนว จิตวิทยา การใช้ชีวิต แนวจรรโลงใจ และผมก็ประทับใจอยู่หลายเล่ม แต่ก็มักจะแนะนำวัยรุ่นด้วยกันให้อ่านหนังสือแปล ที่ชื่อว่า 7 อุปนิสัยสำหรับวัยรุ่น เพราะเขาน่าจะอ่านแล้วใช้ประโยชน์ ซึ่งพอผมแนะนำให้เขาสนใจ ผมก็จะดีใจที่เขาเห็นประโยชน์ของเล่มโปรดของผมด้วย”อาร์มอธิบายอย่างปลาบปลื้ม



สนนราคาค่าเหนื่อย อารม์ได้รับค่าตอบแทนตกวันละ 300 บาท และลงเวลาทำงานไว้ 7 วัน ได้ค่าขนมไปให้อุ่นกระเป๋าช่วงปิดเทอมนี้ถึง 2100 บาท พร้อมอาหารขนมเครื่องดื่มประจำวันฟรี



ถัดมาอีกบูธกับสาวลูกแม่โดม “ ณิชกานต์” หรือ “ไอซ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไอซ์ปฎิบัติงานพาร์ทไทม์อยู่ที่บูธหนังสือแปลซึ่งเธอประจำอยู่จุดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อมามากว่า 8 วันแล้วและก็เหลืออีก 4 วันที่เธอจะสำเร็จภารกิจการทำงานหารายได้พิเศษ



“ บูธเราจะมีพวกหนังสือแปล และก็มีแฟนของนักแปลหลายๆคนค่ะ หนังสือแบบนี้ก็จะมีทุกเพศทุกวัยมาอ่านค่ะ โดยเวลาลูกค้านักอ่านจะมาหาหนังสือ ส่วนใหญ่แนวนี้จะไม่ต้องแนะนำมากมาย เหมือนว่าเขาจะแฟนที่ติดตามนักแปลกันอยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างที่เราต้องแนะนำหนังสือใหม่ ว่ายังมีอีกหลายเล่มที่มีนักแปลคนเดียวกัน หรือ ยังมีอีกหลายเล่มในแนวที่ลูกค้าชอบอ่านเราก็แนะนำไปค่ะ โดยส่วนใหญ่หากเป็นวัยรุ่นเราก็จะคุยกันภาษาเดียวกันง่าย และเราก็ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันก็จะเข้าใจผู้อ่านด้วย”

สาวไอซ์บอก ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มาทำงานพิเศษ ซึ่งประสบการณ์ปีที่แล้วก็สอนให้เธอรู้ว่าหน้าที่ของคนแนะนำหนังสือไม่ใช่แค่ยืนและรอเงินค่าหนังสืออย่างเดียว ควรที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส มีความใจเย็น และพูดคุยทักทายอย่างเป็นมิตร



“ แม้เราไม่ได้ดึงความสนใจแบบต้องมีการร้องเรียก หรือจุดดึงดูดต่างๆ แต่เราก็เชื่อว่าการดูแล พูดคุยตามประสาคนชอบอ่านเหมือนกันก็จะทำให้สื่อสารกับลูกค้าได้ และเราก็ใจเย็น เหมือนปีที่แล้วที่เจอ ก็คือบางทีบางคนจะจุกจิก แต่เราก็ต้องใจเย็น บริการ ให้คำปรึกษา แนะนำให้ดี บอกว่าข้างในหนังสือมีอะไรให้เขาได้สนใจบ้างถ้าผู้อ่านอยากรู้ก็จะบอกต่อค่ะ ซึ่งมันก็จะสนุกดีกับการได้ทำงานนี้ได้เรียนรู้คน และได้รายได้ด้วย”

นอกจาก หนุ่มๆสาวๆพาร์ทไทม์ภายในงานส่วนใหญ่จะรับหน้าที่เป็นพนักงานแนะนำหนังสือประจำบูธแล้ว ก็ยังมีอีกหลากหลายหน้าที่ที่เห็นว่ามีนักศึกษาได้เข้าทำงาน เช่น เจ้าหน้าที่ประจำจุดประชาสัมพันธ์งาน การแจกใบปลิว การขนย้ายหนังสือ การแต่งตัวเป็นมาสคอต แต่ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่เดินกันอย่างขวักไขว่ ซึ่งมองเผินๆอาจจะดูเหมือนการเดินถือป้ายโปรโมทหนังสือใหม่ ซึ่งจากที่ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถามแท้จริงแล้วก็พบว่าหนทางการหารายได้ของนักศึกษาบางคนยังไม่จบอยู่ที่หน้าที่ตามที่กล่าวเท่านั้น เหล่านักศึกษาพาร์ทไทมบางคน ยังมีภารกิจลับ 4 จ. คือ จ้อง จับ โจร จิ๊ก หรือหน้าที่ที่ต้องคอยสอดส่องหาพวกกลุ่มมิจฉาชีพ หรือกลุ่มคนที่มักมั่วนิ่มหยิบหนังสือไปไม่จ่ายสตังค์นั่นเอง



“ จิณณาวัฒน์” นักศึกษา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี “หญิง-ธนะรา” สาวคณะวิทยาศาสตร์ มศว และ “วรุธ” จาก มทร.ธัญบุรี 2 หนุ่ม 1 สาวพนักงานพาร์ทไทม์ จาก บูธมติชน เปิดเผยว่าพวกตนรับหน้าที่เป็นการ์ดคอยจับตาดูมือดีที่ชอบฉกกระเป๋า และคนที่ไม่จ่ายเงินค่าหนังสือ โดยจะออกเดินตระเวณทั่วงานตลอดวัน โดยก่อนที่มาทำงานก็จะถูกฝึกฝนให้รู้จักการสังเกต และวิธีการปฎิบัติตนเมื่อพบผู้ต้องสงสัย



“ จริงๆเราก็เหมือนมาเดินถือป้ายโปรโมทหนังสือไปด้วย และก็เหมือนมาเดินช่วยๆเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย ทั้งเรื่องกระเป๋าเงิน โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่คนที่มั่วนิ่มไม่จ่ายเงิน ซึ่งก็มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจหลงลืมก็มี แต่เมื่อเราเห็นเราก็จะเดินเข้าไปถามว่าจ่ายเงินหรือยัง หากยังเราจะพาไปจ่าย หรือ หากจ่ายแล้วเราก็จะให้ที่คั่นหนังสือไว้เพื่อทำสัญญลักษณ์ให้จ่าย โดยเราก็จะเดินตระเวณผลัดกันออกเป็นเวลา วันละ เวลา โดยช่วงเย็นๆคนก็จะเยอะขึ้น ซึ่งในงานก็จะมีหลายคนที่ช่วยกัน เดินปะปนไปกับคนเพื่อให้มีเพื่อนๆที่มาซึื้อหนังสือ ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ และเกิดความเป็นธรรมแก่สำนักพิมพ์ ทั้งค่าความคิดและค่าพิมพ์ด้วย หากสนใจก็ควรซื้อไม่ควรโกงกันโดยถ้าหากเราเห็นจับส่งตำรวจก็จะเสียอนาคต ”

ส่วนเรื่องของรายได้ในหน้าที่นี้ ทั้งสามคนบอกว่าอัตราเดียวกันกับเพื่อนๆที่ทำหน้าที่อื่นๆคือวันละ 300 บาท พร้อมอาหาร ขนม และเครื่องดื่มบริการฟรี ซึ่งทั้งสามคนก็ได้รับปฎิบัติงานเต็มช่วงระยะเวลาของงานสัปดาห์หนังสือ 12 วัน(รวมวันเตรียมงาน) เบ็ดเสร็จรับเงินค่าขนมกันไปคนละ 3600 บาท.

ที่มา http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000151979

No comments: