Thursday, October 28, 2010

การศึกษาต้องมี(เป้าหมาย)ผู้นำต้องเอาจริง

การศึกษาต้องมี(เป้าหมาย)ผู้นำต้องเอาจริง

"ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่มีนัดสำคัญกับสื่อมวลชนสายการศึกษาแทบทุกเดือน เพื่อรายงานผลการทำงานในตำแหน่ง พร้อมเปิดใจกว้างตอบทุกข้อซักถามของสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้ก็เช่นกันห้องทำงาน "รมว.ศึกษาธิการ" ถูกแปรสภาพเป็นห้องพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนนานเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนขอตัวไปทำภารกิจเร่งด่วน

นายชินวรณ์ เปิดฉากคุยกับสื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลังมีผลงานมากที่สุด เป็นความภูมิใจและมีความสุขที่สุด ไม่เครียดที่ได้มาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ นโยบายหลายเรื่องถูกผลักดันให้เป็นจริงได้ในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วิทยฐานะ ที่ช่วยให้ครูได้เลื่อนขั้นเงินเดือน

“อาจจะเป็นเพราะเป็นครูมาก่อน เป็นส.ส.มาหลายสมัย เป็นกรรมาธิการมาก็หลายชุด งบประมาณก็อภิปรายมานักต่อนัก ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการพัฒนาชาติ พัฒนาประเทศต้องพัฒนาคน ซึ่งก็คือการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนนั่นเอง” นายชินวรณ์กล่าว

รัฐบาลชุดนี้ถึงได้ประกาศนโยบายโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อให้จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้แก่นักเรียนในชนบท กศน.ประจำตำบล เพื่อจัดการศึกษาคนที่อยู่นอกระบบจำนวน 30 ล้านคนให้เข้าถึงการศึกษาและเกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ทุกครั้งที่ประกาศนโยบายการศึกษา นายกฯ จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรียนฟรี 15 ปี กศน.ตำบล และวันที่ 22 ตุลาคม 2553 ได้ประกาศจุดเน้นการจัดการศึกษาแต่ละระดับเพื่อให้มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน เดือนถัดมาวันที่ 5 พฤศจิกายน ลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงมหาดไทยประกาศโรงเรียนดีประจำตำบล ส่วนวันที่ 15 พฤศจิกายน จะประกาศนโยบายอีเลิร์นนิ่งช่วยให้การจัดการศึกษาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” นายชินวรณ์กล่าว

อย่างเช่น ป.1-3 อ่านออก เขียนได้ ป.4-6 อ่านเขียนได้คล่องขึ้น ม.1-3 เรียนรู้อย่างคิดวิเคราะห์ และ ม.4-6 รู้ว่าตัวเองอยากมีอาชีพอะไร เพื่อจะได้เรียนต่อในสาขาที่ต้องการและสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้คล่อง

“จากนี้ไปการจัดการศึกษาจะมีเป้าหมายมากขึ้นเหมือนในต่างประเทศที่กำหนดกันชัดเจน เช่นที่จีนที่กำหนดไว้ว่าคนต้องมีงานทำ เยอรมันต้องมีจิตสาธารณะ สิงคโปร์ โลกาภิวัตน์ ต่อไปคนไทยจะพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นพลเมืองที่ดี และในเดือนมกราคม 2554 จะประกาศให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษา 8 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ได้กระจายอำนาจการจัดการไปให้สถานศึกษาแล้ว” นายชินวรณ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้กระจายอำนาจไปให้สถานศึกษาเรื่องอุปกรณ์การเรียน และเสื้อผ้า ต่อไปนี้จะกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจัดการศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องเปิดโอกาสให้กรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะต้องมีการเปิดประชาพิจารณ์ร่วมกันว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร

ยกตัวอย่างการจัดซื้อจัดจ้าง หากโรงเรียนสามารถดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์จะทำให้มีงบประมาณมาบริหารจัดการในด้านอื่นๆ ได้ด้วย แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการใดๆ ของสถานศึกษาจะต้องได้รับฉันทานุมัติร่วมกันระหว่างโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง โดยอยู่บนพื้นฐานความโปร่งใสและพึงพอใจของทุกๆ ฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา

ในส่วนของกศน.ตำบลปัจจุบันมี 2,200 ศูนย์ ใช้วัด อบต. โรงเรียน เป็นที่ทำการ มีครู 8,200 คน ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกวัยทั้งผู้สูงอายุ พ่อแม่ และเด็ก เป็นศูนย์บริการวันสต็อปเซอร์วิส

เคล็ดการทำงานของรัฐมนตรีชินวรณ์ คือการเปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทุกภาคส่วนผ่านช่องทางหลากหลายและนำไปปฏิบัติทันทีหากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

“ผมมีที่ปรึกษาจากภาคเอกชนเป็นประธาน ให้ข้าราชการเป็นฝ่ายเลขาฯ ทำงานร่วมกัน ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิดเห็นให้รัฐมนตรีทำงาน ถ้าแนวคิดไหนดี เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะผมจะเอาไปใช้ทันที แต่ไม่ตั้งใครเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการเดี๋ยวเอาไปอ้าง แต่ถ้าอยากทำงานมาช่วยกันได้เลย และเรื่องผลประโยชน์ไม่ยุ่งเลย เพราะสมัยก่อนเป็นฝ่ายค้านอภิปราย รมว.ศึกษาธิการมาแล้ว 4 คน ไม่กล้าทำกลัวโดนอภิปราย” นายชินวรณ์ กล่าว

ถึงวันนี้นโยบายหลายอย่างที่ประกาศไว้จะเดินหน้าได้ แต่ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติที่สามารถวัดออกมาเป็นดัชนีชี้วัดได้ แต่ถือว่าหลายอย่างขับเคลื่อนไปได้ แต่ที่ต้องพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาเป็นประจำเพื่อตอกย้ำสังคมให้เข้าใจว่ารัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังกับงานด้านการศึกษาอย่างแน่นอน ที่สำคัญก่อนจะประกาศวาระด้านต่างๆ ออกไป มีการหารือที่ปรึกษาชุดต่างๆ และนำมาผสมผสานกับความคิดเห็นส่วนตัว และกำหนดตารางการทำงานไว้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลที่ตรงกัน

ที่สำคัญต้องการสื่อสารกับประชาชนให้ได้มากที่สุดว่า “รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี” ให้ความสำคัญต่องานด้านการศึกษามาก เพราะรับเป็นพรีเซ็นเตอร์เกือบทุกรายของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20101028/77638/การศึกษาต้องมี(เป้าหมาย)ผู้นำต้องเอาจริง.html

No comments: