Tuesday, October 26, 2010

อจ.นิติฯมธ. แจงบทบาทธ.ออมสิน ไม่มีสิทธิบังคับทำประกัน"ทิพยฯ"

ครูจี้"คปภ."สอบกรมธรรม์ช.พ.ค.5-6


จากกรณีแหล่งข่าวในธนาคารออมสินชี้แจงกับ "มติชน" เกี่ยวกับสัญญากรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการ 5 โดยระบุว่า ปัจจุบันหนังสือสัญญากรมธรรม์ดังกล่าว ทางธนาคารออมสินเป็นผู้เก็บไว้ เนื่องจากธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ หรือมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ จะทำให้ง่ายต่อกระบวนการเคลมสินไหมในกรณีที่สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินเสียชีวิตระหว่างอายุสัญญากรมธรรม์ โดยเป็นสัญญากรมธรรม์ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น เนื่องจากธนาคารออมสินเป็นคู่สัญญากับบริษัทดังกล่าวในการปล่อยสินเชื่อให้กับข้าราชการครูในโครงการนี้ รวมถึงโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 6 ที่กำลังปล่อยเงินกู้อยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย โดยที่ไม่ทราบเรื่องที่มีบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ได้เข้ามารับทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 ด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นางสุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.นั้น ตามหลักการแล้วทางธนาคารออมสินไม่ควรจะระบุหรือกำหนดให้สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ต้องทำประกันสินเชื่อเงินกู้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ต้องให้สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ได้เลือกเองว่า จะทำประกันกับบริษัทใด หรือในกรณีผู้กู้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำประกันดังกล่าวเพิ่มอีก แต่สามารถไปเปลี่ยนเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่มีอยู่แล้วได้ โดยให้ยกผลประโยชน์ให้กับธนาคารเพียงเท่าที่ธนาคารมีสิทธิ หรือมีภาระผูกพันที่ยังเหลืออยู่จากการกู้เงินในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.ได้ แต่หากธนาคารออมสินมีการบังคับเช่นนี้ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้กู้ เพราะธนาคารไม่สามารถจะมาบังคับให้ทำประกันชีวิตส่วนนี้เพิ่มอีกได้ ถ้าผู้กู้มีกรมธรรม์อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากกรณีที่ น.ส.วราวรรณ เวชชสัสถ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์และบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้โดยระบุว่า "ในกรณีข้อสงสัยเรื่องที่บริษัท ทิพยประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัย แต่เข้ามารับประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 และ 6 นั้น ตามหลักกฎหมายแล้วบริษัทรับประกันวินาศภัยจะเข้ามารับประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อไม่ได้ แต่ก็ต้องดูที่รายละเอียดและวัตถุประสงค์อีกที ซึ่งหากมีครูร้องเรียนมาถึงสำนักงาน คปภ. หรือนำสัญญากรมธรรม์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องมายื่นต่อสำนักงาน คปภ. ก็พร้อมจะตรวจสอบความถูกต้องให้ทุกกรณี" ดังนั้น ในวันเดียวกันนี้ ข้าราชการครูในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่วนกลาง ซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค.ผู้เอาประกันภัยในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 และ 6 รวมจำนวน 3 คน ได้ร่วมกันทำหนังสือและลงนามส่งผ่านไปรษณีย์ไปถึงเลขาธิการสำนักงาน คปภ. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในด้านการประกันภัย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการสวัสดิการเงินกู้ สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 และ 6 ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ว่ามีความถูกต้องตามหลักกฎหมายประกันภัยหรือไม่ จากกรณีมีข้อสงสัยต่างๆ และขอให้สำนักงาน คปภ.ทำการปกป้องและรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก ช.พ.ค.ผู้เอาประกันภัยด้วย ไม่ปล่อยให้ข้าราชการครูถูกโกงเบียดบังเงินไปโดยมิชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือร้องเรียนขอให้เลขาธิการสำนักงาน คปภ.สั่งการให้มีการตรวจสอบดังกล่าว ได้ระบุข้อสงสัยที่สำคัญ อาทิ เรื่องที่บริษัท ทิพยประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัย แต่เข้ามารับประกันสินเชื่อโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.5 และ 6 ตามหลักกฎหมายทำได้หรือไม่ และในกรณีที่สมาชิก ช.พ.ค.ได้รับทราบจากตัวแทนบริษัทประกันภัยหลายๆ แห่งว่า ในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. ไม่เฉพาะแต่มีบริษัท ทิพยประกันภัยฯ และบริษัท ธนชาตประกันชีวิตฯเท่านั้น ที่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับทำประกันสินเชื่อ แต่กลับมีบริษัทประกันภัยในประเทศไทยอีก 3-4 แห่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในลักษณะมีการส่งต่อเป็นทอดๆ กัน จึงเกรงว่าจะมีผลต่อการเอารัดเอาเปรียบค่าเบี้ยประกันภัยของครูหรือไม่

No comments: