สถานการณ์ที่ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตกเป็นเป้าความรุนแรง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานนับตั้งแต่เหตุการณ์ในพื้นที่ร้อนระอุขึ้นเมื่อต้นปี 2547 กระทั่งล่าสุดมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสังเวยชีวิตไปแล้วถึง 135 ราย สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือมีครูแสดงความจำนงขอย้ายออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เคยมีการนำตัวเลขที่ชัดเจนเผยแพร่สู่สาธารณชน
ในราชกิจจานุเบกษา หน้า 76 เล่ม 127 ตอนพิเศษ 121 ลงวันที่ 18 ต.ค.2553 ได้มีการประกาศรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยกระทู้ถามที่ 834 ร. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2553 เรื่อง การขอย้ายตำแหน่งของข้าราชการครูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ถามกระทู้คือ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีนำมาตอบ เป็นข้อมูลสถิติเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการครูที่ขอย้ายออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีจำนวนถึง 6,178 คน แต่ย้ายออกได้เพียง 1,843 คน คงเหลือที่ไม่สามารถย้ายออกได้ และยังต้องสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่จำนวน 4,335 คน โดยทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1 (ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ยะหริ่ง อ.หนองจิก และ อ.ปะนาเระ จำนวนสถานศึกษาของรัฐ 145 โรง) ตั้งแต่ปี 2545-2552 มีครูขอย้ายออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,444 คน ย้ายได้เพียง 363 คน ย้ายไม่ได้ถึง 2,081 คน โดยปีที่มีครูขอย้ายมากที่สุดเกินกว่า 300 คน คือปี 2551 จำนวน 393 คน ปี 2549 จำนวน 382 คน ปี 2550 จำนวน 368 คน ปี 2552 จำนวน 351 คน และปี 2548 จำนวน 348 คน ทว่าแต่ละปีย้ายได้เฉลี่ย 40-70 คนเท่านั้น
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 2 (ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน อ.มายอ อ.ยะรัง และ อ.โคกโพธิ์) เริ่มมีครูขอย้ายออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2548 รวมถึงปี 2552 จำนวน 228 คน แต่ย้ายได้เพียง 51 คน ย้ายไม่ได้ 177 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 3 (ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ และ อ.ทุ่งยางแดง) เริ่มมีครูขอย้ายออกจากพื้นที่ตังแต่ปี 2550 รวมถึงปี 2552 จำนวน 200 คน แต่ย้ายได้เพียง 87 คน ย้ายไม่ได้ 113 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 (ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.รามัน และ อ.กรงปินัง) ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2552 มีครูขอย้ายออกจากพื้นที่รวม 984 คน ย้ายได้ 398 คน ย้ายไม่ได้ 586 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 2 (ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.บันนังสตา อ.ยะหา และ อ.กาบัง) เริ่มมีครูขอย้ายตั้งแต่ปี 2546 รวมถึงปี 2552 จำนวน 490 คน แต่ย้ายได้เพียง 86 คน ย้ายไม่ได้ 404 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 3 (ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.เบตง กับ อ.ธารโต) เริ่มมีครูขอย้ายตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงปี 2552 จำนวน 91 คน แต่ย้ายได้ 33 คน ย้ายไม่ได้ 58 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาสเขต 1 (ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร) ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2552 มีครูขอย้ายออกจากพื้นที่รวม 850 คน ย้ายออกได้จำนวน 519 คน ย้ายไม่ได้ 331 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาสเขต 2 (ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี) เริ่มมีครูขอย้ายตั้งแต่ปี 2547 รวมถึงปี 2552 จำนวน 726 คน ย้ายได้เพียง 215 คน ย้ายไม่ได้ 511 คน
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาสเขต 3 (ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.จะแนะ อ.ระแงะ และ อ.เจาะไอร้อง) เริ่มมีครูขอย้ายตั้งแต่ปี 2551 รวมถึงปี 2552 จำนวน 165 คน ย้ายได้ 91 คน ย้ายไม่ได้ 74 คน
นายอภิสิทธิ์ ยังชี้แจงด้วยว่า เหตุผลที่ไม่สามารถย้ายตำแหน่งได้ตามความประสงค์ทุกราย เนื่องจาก 1.ไม่มีตำแหน่งว่างรับย้าย 2.วิชาเอกไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน และ 3.เลือกโรงเรียนที่มีอัตรากำลังเกินเกณฑ์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment