"นิพิฏฐ์"ตั้งทีมสอบต้นตอแหก พ.ร.บ.ฮัจญ์ พร้อมลั่นจัดการเด็ดขาดผู้ประกอบการเถื่อน เผยเหลือผู้แสวงบุญตกค้างอยู่หาดใหญ่อีก 60 ราย รอเดินทางไป หวั่นถูกลอยแพ เหตุบริษัทยังไม่ดำเนินการเรื่องที่พัก-ตั๋วเครื่องบิน...
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงปัญหาการเดินทางไปแสวงบุญฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่า ตนได้รับรายงานว่า ขณะนี้ยังมีผู้แสวงบุญจำนวน 60 ราย พักอยู่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรอเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยผู้แสวงบุญกลุ่มนี้ ได้จ่ายเงินกว่า 100,000 บาท แบ่งเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าเช่าที่พัก ให้แก่ผู้ประกอบการฮัจญ์ บริษัท โฮสนี เอกซ์เพรส แอนด์ทัวร์ เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งทางสถานทูตซาอุดีอาระเบียได้ออกวีซ่าให้แล้ว
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องเช่าที่พัก และตั๋วเครื่องบินเพื่อขนส่งผู้แสวงบุญไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียแต่อย่างใด ที่สำคัญการดำเนินการของบริษัทดังกล่าวไม่ได้ส่งเรื่องผ่านมาทางกรมการ ศาสนา (ศน.) ด้วย จากปัญหาดังกล่าว ตนมีความเป็นห่วงว่าผู้แสวงบุญกลุ่มนี้จะถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะสามารถช่วยหาทางให้ผู้แสวงบุญเดินทางไปถึงประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ แต่สิ่งที่ไม่น่าไว้ใจคือ เรื่องการเช่าที่พัก เพราะทราบว่าขณะนี้บ้านพักที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เหลือจำนวนไม่มาก และมีราคาแพงมาก จึงเกรงว่า เมื่อผู้แสวงบุญไปถึงจะไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก และตกระกำลำบาก เพราะไม่ได้รับการรับรองจากทางการไทย ที่สำคัญอาจจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ตามการที่ผู้แสวงบุญให้ความไว้วางในบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินการผ่าน ศน. ถือเป็นเรื่องที่ประมาทมาก เพราะเท่ากับว่าผู้แสวงบุญจะไม่ได้รับการรับรองใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทาง ศน. ก็จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นเช่นกัน ทั้งกับทางบริษัท และตัวผู้แสวงบุญเอง เพราะเราได้แจ้งและทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบในการเดินทางไปยังชาวมุสลิมก่อน ที่จะเปิดให้ลงชื่อขอโควตาแล้ว
รมว.วัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีการเดินทางไปแสวงบุญฮัจญ์ทั้งหมด โดยมี ดร.วิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน โดยจะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาตรวจสอบหาสาเหตุและผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเรื่อง 2 สายการบินที่มาขนส่งผู้แสวงบุญโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการผู้ประกอบการฮัจญ์ฝ่าฝืนกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ หากพบว่า มีปัญหาที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย จะพิจาณาเพิกถอน หรือยกเลิก ใบอนุญาตประกอบกิจการฮัจญ์ และหากเป็นความผิดทางอาญาก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งจะต้องมีการจัดการอย่างเด็ดขาด และไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซากต่อไป.
Tuesday, October 26, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment