Tuesday, October 26, 2010

ปรับโครงสร้าง “บัญชีเงินเดือนครู” ฝันที่ (ใกล้) เป็นจริงของ “แม่พิมพ์ไทย”

นับเป็นข่าวดีสำหรับแวดวง “แม่พิมพ์ไทย” เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลาการทางการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับดังกล่าว จาก พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมา มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ใหม่ถึง 2 ครั้งด้วยกัน ส่งผลให้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการประเภทอื่นๆ รวมถึง บัญชีเงินเดือนขั้นสูง และขั้นต่ำของข้าราชการประเภทอื่นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับอัตราเงินเดือน และโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับขาราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อให้สอดคล้องกับข้าราชการประเภทอื่นๆ ศธ.จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่

“นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 432,942 คน มีโอกาสปรับโครงสร้างเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ของโครงสร้างบัญชีเงินเดือนเดิม ซึ่งจะทำให้เงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2 (คศ.5) สูงสุดถึง 66,480 บาท จากเดิม 64,430 บาท

เทียบเท่ากับบุคลากรสายงานแพทย์ นักกฎหมาย และนักกฎหมายกฤษฎีกา!!

นับเป็นครั้งแรกในแวดวงการศึกษาไทย ที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย มีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนสูงเทียบเท่าแพทย์ นักกฎหมาย และกฤษฎีกา
เพราะนอกจากจะเป็นการยกระดับ “วิชาชีพครู” ให้เป็น “วิชาชีพชั้นสูง” แล้ว ยังสามารถดึงดูด “คนดี” และ “คนเก่ง” ให้มาเป็นครูมากขึ้นด้วย

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังบอกด้วยว่า ถือเป็นการยกระดับอัตราเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่ครูปฏิบัติการไปจนถึงครูเชี่ยวชาญพิเศษ โดยจะได้เงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคนละ 2,000-3,000 บาท เมื่อร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้
โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนนี้เพิ่มถึง 2,000 ล้านบาท

สำหรับบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่แนบท้ายร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีรายละเอียดดังนี้

“ครูผู้ช่วย” ขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท ขั้นต่ำ 8,700 บาท ขั้นสูง 16,840 บาท (เท่าเดิม),

“ระดับ คศ.1” ขั้นต่ำชั่วคราว 8,130 บาท ขั้นต่ำ 11,930 บาท ขั้นสูง 29,700 บาท จากบัญชีเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท ขั้นต่ำ 11,930 บาท ขึ้นสูง 27,500 บาท,

“ระดับ คศ.2 (ชำนาญการ)” ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 15,410 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท จากบัญชีเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 15,410 บาท ขั้นสูง 33,540 บาท,

“ระดับ คศ.3 (ชำนาญการพิเศษ)” ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 18,910 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท จากบัญชีเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 18,910 บาท ขั้นสูง 57,450บาท,

“ระดับ คศ.4 (เชี่ยวชาญ)” ขั้นต่ำ 23,230 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท จากบัญชีเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ขั้นต่ำ 23,230 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท และ

“ระดับ คศ.5 (เชี่ยวชาญพิเศษ)” ขั้นต่ำ 28,550 บาท ขั้นสูง 66,480 บาท จากบัญชีเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ขั้นต่ำ 28,550 บาท ขั้นสูง 64,340 บาท

สำหรับบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และครูที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีดังนี้

“วิทยฐานะชำนาญการ” 3,500 บาท, “วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ” 5,600 บาท, “วิทยฐานะเชี่ยวชาญ” 9,900 บาท,

“วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ” 15,600 บาท จากอัตราที่ใช้ในปัจจุบันวิทยฐานะชำนาญการ 3,500 บาท วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 9,900 บาท และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 บาท

ส่วนอัตราเงินเดือนของข้าราชการ ก.พ.อ.มีดังนี้

“อาจารย์” ขั้นปฏิบัติการ วุฒิปริญญาตรี 7,940 บาท วุฒิปริญญาโท 9,700 บาท วุฒิปริญญาเอก 13,110 บาท อาจารย์ ขั้นสูง 36,020 บาท, “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ขั้นสูง 50,550 บาท, “รองศาสตราจารย์” ขั้นสูง 59,770 บาท และ

“ศาสตราจารย์” ระดับ 9-10 64,340 บาท และระดับ 11 66,480 บาท

ขณะที่บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการ ก.พ.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

“ระดับปฎิบัติการ” วุฒิปริญญาตรี ขั้นต่ำชั่วคราว 6,800 บาท ขั้นต่ำ 7,940 บาท ขั้นสูง 22,220 บาท,

“ระดับชำนาญการ (ระดับ 6-7)” ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 14,330 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท,

“ระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8)” ขั้นต่ำชั่วคราว 18,910 บาท ขั้นต่ำ 21,080 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท,

“ระดับเชี่ยวชาญ (ระดับ 9)” ขั้นต่ำชั่วคราว 23,230 บาท ขั้นต่ำ 29,900 บาท ขึ้นสูง 59,770 บาท,

“ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ (ระดับ 10-11)” ขั้นต่ำชั่วคราว 28,550 บาท ขั้นต่ำ 41,720 บาท ขั้นสูง 64,340 บาท และ

“ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ” สายแพทย์ นักกฎหมาย และกฤษฎี (ระดับ 11) ขั้นสูง 66,480 บาท

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่รัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าเอาไว้ คือผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เข้าสู่ที่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมนี้ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ก่อนเดือนเมษายน 2554

และที่ถือเป็น “ข่าวดี” 2 เด้ง สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายหลังกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ในเดือนเมษายน 2554 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้ปรับฐานเงินเดือนเพิ่มอีกร้อยละ 5 ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการทุกประเภท

นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดระบบค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาในระยะยาวสอดคล้องกับระบบการศึกษา และยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติให้ ศธ.ดำเนินมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาว โดยให้ศึกษาค่าตอบแทนของข้าราชการทุกประเภท ทั้งระบบใน ศธ.โดยภาพรวม ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้ตั้งคณะทำงาน ที่มีตัวแทนจากคณะกรรมการ ก.พ.อ.และคณะกรรมการ ก.ค.ศ.มาร่วมกันศึกษาเรื่องการพัฒนาค่าตอบแทนทั้งระบบแล้ว

อย่างไรก็ตาม “นายนิพนธ์ ชื่นตา” ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก และประธานที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลที่ “สวนทาง” กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.โดยนายนิพนธ์มองว่า การที่ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไม่ได้ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 4 แสนคน ดีอกดีใจมากมาย แค่โล่งใจที่จะได้รับเงินเดือนเทียบเท่าข้าราชการ ก.พ.เพราะครูรุ่นใหม่จะไม่ได้รับอานิสงส์จากร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้

เพราะประธานที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติมองว่า คนที่จะได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนครูครั้งนี้ คือ ครูอาวุโสที่มีเงินเดือนตันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูอาวุโสระดับ 7-11 แต่ขณะนี้เหลืออยู่ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่ รีไทร์ เกือบหมดแล้ว เนื่องจากเงินเดือนไม่ได้ขึ้นมา 4-5 ปี

ที่สำคัญคือ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นเพียงการ “ขยายเพดาน” เงินเดือนให้สูงเทียบเท่ากับข้าราชการ ก.พ.หรือประมาณร้อยละ 8 เท่านั้น และเป็นการเปลี่ยนระบบการเลื่อนเงินเดือนจาก “ขั้น” มาเป็น “ร้อยละ”

ฉะนั้น วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละราย จะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม

ประเด็นดังกล่าว “นายพิษณุ ตุลสุข” รองเลขาธิการ ก.ค.ศ.ยืนยันว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้ครูอาวุโส และครูใหม่ ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น

ก็คงต้องติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้ได้ทันหรือไม่ และจะมีผลบังคับใช้ก่อนเดือนเมษายน 2554 หรือไม่

การปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เทียบเท่ากับแพทย์ นักกฎหมาย และกฤษฎีกา ในครั้งนี้ นับว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงได้ ทำให้ครูมีกำลังใจที่จะให้ความรู้กับลูกศิษย์ลูกหาได้เต็มที่

ที่สำคัญ ครูจะกลายเป็นกำลังที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ให้ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จโดยเร็ว!!

No comments: