Friday, October 29, 2010

กรมทรัพย์ฯออกเตือน หากฝนยังตก ทุกภาคเสี่ยงดินถล่ม

โฆษกกรมทรัพยากรธรณี” ประกาศทุกภาคมีความเสี่ยง ดินถล่ม ถ้าฝนยังลงต่อเนื่อง โดยภาคเหนือเป็นห่วง จ.น่าน ภาคอีสาน ห่วง อุบลธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี และที่น่าห่วงที่สุด คือ ภาคใต้ที่ฝนตกทุกวัน...

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2553 นายอดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้ตรวจราชการและโฆษกกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีดินทรุดตัวและมีรอยแยกเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 320 อำเภอ ใน 51 จังหวัด ว่า กรณีนี้เราเรียกว่าพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ภาพรวมถือว่ายังมีโอกาสที่เกิดขึ้นได้ โดย 2 ปัจจัย คือ 1.ฝนตกหนัก 2. ฝนตกไม่หนักแต่ต่อเนื่องกันหลายวัน จนน้ำมีปริมาณสะสม 300 มิลลิเมตร โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังคงเป็นพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดโดยจังหวัดที่อันตราย ได้แก่ น่าน ยกเว้น จ.พิจิตร ส่วน ภาคอีสานได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี และ เลย แต่พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ภาคใต้ตอนล่าง เพราะยังมีฝนตกลงมาทุกวัน

โฆษกกรมทรัพยากรธรณี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อไหร่ที่มีพายุเข้า ทางกรมฯ จะทราบล่วงหน้าและส่งเจ้าหน้าที่ของกรมฯลงพื้นที่ และประกาศการเฝ้าระวังอีกครั้งอย่างไรก็ตาม ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้มีการจัดอบรมให้ชาวบ้านรู้จักการเฝ้าระวังดินถล่ม โดยขณะนี้มีการอบรมไปแล้วกว่า 39 จังหวัดโดยมีประชาชนเข้าร่วมอบรบมากถึง 12,000 คน โดยการฝึกนั้นชาวบ้านที่สามารถวัดปริมาณน้ำเองได้และแม่นยำมากกว่าเครื่องมือ แต่เมื่อทางกรมฯ เห็นว่าเรด้าแจ้งฝนตก หรือมี พายุ เข้า เราจะประสานให้ชาวบ้านเฝ้าระวังตามที่ซักซ้อมไว้

รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันกรมทรัพยากรธรณี ออกประกาศเตือนสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย ให้เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยดินถล่ม เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง โดยเฉพาะที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเข้าท่วมพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ของ ต.คลองชะอุ่น อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ประชาชนได้รับความเดือนร้อน 35 ครัวเรือน 175 คน ส่วนแผ่นดินไหวในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา คือระหว่างวันที่ 27 ต.ค. เวลา 08.30 น. – 28 ต.ค. เวลา 08.30 น. พบระดับความรุนแรง 3.0 – 4.0 ริกเตอร์ 6 ครั้ง ระดับ 4.1 – 5.0 ริกเตอร์ 19 ครั้ง ระดับ 5.1 – 6.0 ริกเตอร์ 9 ครั้ง สำหรับระดับ 6.1 ริกเตอร์ขึ้นไปซึ่งถือว่าอันตรายยังไม่พบ ทั้งนี้ ศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

No comments: