Tuesday, October 26, 2010

"อภิสิทธิ์"ลั่น10ปีพัฒนาคนปฏิรูป2ปรับการสอน-ประเมินครูใหม่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ครูใหญ่มาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษาของชาติ ด้วยการรับอาสาเป็น "ประธาน" ประกาศชูธงปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พร้อมจะลงทุนเรื่องคุณภาพของคน นับจากนี้ต่อไปอีก 10 ปี เด็กไทยจะเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ฯลฯ ภายใต้เงื่อนไขต้องปรับวิธีการสอนและวิธีประเมินครูใหม่

"นโยบายสำคัญของรัฐบาลได้ประกาศไว้ว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนเรื่องคุณภาพคน ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี 2561 เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทยที่จะนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการมีสังคมที่สงบสุข ทุกคนมีความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้มีการขับเคลื่อน และมีการประกาศวิสัยทัศน์ ต่อเนื่องมาจากการปฏิรูปการศึกษาในช่วง 10 ปีแรก"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศจุดยืนพัฒนาคน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท ท่ามกลางสักขีพยานมากมาย อาทิ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานบอร์ด กพฐ. ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการกพฐ. ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ. นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดศธ. รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสกศ. ฯลฯ

การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 จะมุ่งไปสู่เรื่องคุณภาพของผู้เรียน เพราะถือเป็น "หัวใจ" ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นเป้าหมายว่า "จะต้องสร้างคนให้มีความสามารถ มีคุณธรรม มีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทยที่ส่งผลให้ประเทศมีสังคม มีเศรษฐกิจ มีการเมืองที่ดี"

แม้การศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน "แต่สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ ต้องไม่ให้การศึกษาแยกตัวออกมาจากสังคมหรือจากชีวิตจริง เหมือนระบบการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะความรู้ ความสามารถด้านทักษะในการประกอบอาชีพ ที่ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการว่างงาน การละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของคนหนุ่มสาว จนนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย"

ทุกวันนี้เราต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องภาษาต่างประเทศที่จะเชื่อมโยงการเรียนรู้เพราะแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ อยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งร้อยละ 90 ของแหล่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศและเกือบร้อยละ 90 เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ทักษะตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้กิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างจริงจัง

ส่วนกระบวนการจัดการเรียนการสอน เรื่องการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาถูกเขียนไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน หลายครั้งบอกว่าการปรับปรุงจุดเน้นคุณภาพการศึกษาถูกเขียนไว้ในหลักสูตร เพียงแค่แก้เนื้อหาสาระก็ยกระดับได้แล้ว แต่ทราบกันดีว่าไม่ใช่เช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเขียนอะไรก็ได้ลงในหลักสูตร เพียงแต่ต้องดูว่าสิ่งที่เขียนนั้นสะท้อนถึงตัวผู้เรียนหรือไม่ ยังมีกระบวนการมากมารองรับ การเตรียมการสอน การเตรียมบุคลากร การปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมการศึกษาสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการส่งเสริมรองรับจะไม่มีประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร

การปรับต้องสอดรับกับคุณลักษณะกับจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจุดเน้นเรื่องของคุณภาพผู้เรียนในช่วงแรกของการปฏิรูปการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม เช่น เมื่อปรับเวลาเรียนร้อยละ 30 ลดการเรียนที่ซับซ้อน ไปสู่การเรียนรู้หลากหลายนั้นจะไม่มีสูตรสำเร็จในสถานศึกษา เขตพื้นที่นั้นๆ แต่หากผู้ปกครอง ผู้บริหาร ชุมชนท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการชี้นำแนวทาง

"จุดนี้ ศธ.ทราบดีเร่งจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว เช่น กระบวนการประเมินผลงานต่างๆ มีทิศทางลดภาระเอกสารเพิ่มเชื่อมโยงการประเมินต่างๆ เข้าสู่เป้าหมายการศึกษาคือการปรับการเรียนการสอน ผมได้ย้ำ รมว.ศธ. และผู้บริหารให้วัดและประเมินผลตรงเป้าหมาย แต่ไม่กระทบการสอนของครู ให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือและมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างจริงจังแล้ว อย่าสำลักการประเมิน การประเมินต้องสะท้อนไปสู่การปรับปรุงการทำงานได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงในระยะเวลาของการปฏิรูปรอบ 2 แน่นอน" นายกรัฐมนตรีให้คำมั่น

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า การกำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนครั้งนี้ เป็นแนวทางการชี้แจงให้ครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปกครอง ประชาชน เกิดความเข้าใจและมีส่วนในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน จุดเน้นที่กำหนดสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนแต่ละช่วงวัย เพราะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับม.6 ซึ่งผู้เรียนมีระดับพัฒนาการที่แตกต่างกัน และต้องขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้สอดคล้องต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความเป็นพลเมืองที่มีความสามารถเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

"ศธ.มั่นใจในการประกาศการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนครั้งนี้ เป็นการกำหนดแผนที่จะเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากระยะที่ 1 คือ การสืบค้น วิเคราะห์ การศึกษาข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคล จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เป็นการบ่มเพาะประสบการณ์ สานต่อองค์ความรู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ครูมีการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 นำสู่วิถีคุณภาพและมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ ภายในปีการศึกษา 2555 ซึ่งจะมีกระบวนการสร้างนวัตกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำสู่การปรับวิถีการเรียนรู้ในห้องเรียนสู่วัฒนธรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ผ่านการเรียนรู้ภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างแท้จริง" รมว.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

No comments: