Tuesday, October 26, 2010

นศ.ป.โท มช.คิดค้น สารให้ความขาวใสปิ้ง

นักศึกษาปริญญาโทเภสัชศาสตร์ มช. วิจัยพบสารให้ความขาว จากการประยุกต์ให้ไคโตซาน เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในอนาคต และเป็นการใช้ประโยชน์จากไคโตซาน

ความขาว เป็นกระแสความงามมาทุกยุค ทุกสมัย แม้ว่าจะมีกฎหมายเครื่องสำอาง กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ให้ผสมสารให้ความขาว แต่กระนั้นก็ยังมีการฝ่าฝืนอยู่มากเป็นปัญหาซ้ำซาก ประกอบกับค่านิยมความขาวของผู้บริโภค และการขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการศึกษาวิจัยในการพัฒนาสารให้ความขาวที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นหลักการหนึ่งของการพัฒนางานวิจัยด้านเวชสำอาง

จากอิทธิพลสื่อโฆษณาและค่านิยม ทำให้พฤติกรรมการใช้เครื่องสำอางของผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน ซึ่งในอดีตมีสารที่ช่วยให้ผิวขาวมากมาย สารปรอท และไฮโดรควิโนน แต่ปัจจุบันเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เนื่องจากพบว่ามีผลข้างเคียงและข้อเสียมากมาย จึงทำให้มีการพัฒนาสารเพื่อผิวขาวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยสารทำให้ผิวขาวที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีกลไกการออกฤทธิ์ของสารสำคัญมีหลายกลุ่มใหญ่ เช่น สารกลุ่มที่ทำให้เซลล์ผิวชั้นนอกหลุดลอก(exfoliation) เช่น alpha hydroxyl acid (AHA)สารกลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase inhibitor) เช่น vitamin C kojic acid และ อาร์บูติน

พอใจ รัตนปนัดดา เภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาสารเพื่อผิวขาวโดยการวิจัย เรื่อง “การประยุกต์ใช้ไคโตซานในการเตรียมอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลเพื่อทำให้ผิวขาว” (Application of Chitosan for Preparation of Arbutin Nanoparticles as Skin Whitening) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี รศ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ, รศ.ดร. ภูริวัฒน์ ลี้สวัสดิ์ และ รศ.ดร. สุรพล นธการกิจกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผลงานวิจัยชนิดนี้ยังได้รับรางวัล the best paper ซึ่งเป็นรางวัล “special award in Health & Medicine Session” จากการประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 หรือ MSAT-6 (The Sixth Thailand Materials Science and Technology Conference) เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

พอใจ กล่าวถึงการวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการเตรียมอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลจากไคโตซาน โดยใช้วิธีไอออนิกเจเลชั่น มีไคโตซานและไตรพอลีฟอสเฟตเป็นตัวก่ออนุภาคในการกักเก็บอาร์บูติน และศึกษาถึงความเข้ากันได้ระหว่างอาร์บูตินกับพอลิเมอร์ด้วยการวิเคราะห์ด้วยความร้อนโดยใช้เครื่อง Differential Scanning Calorimetry รวมทั้งฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของบีต้าอาร์บูติน

"ปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติทางเคมีกายภาพในการกักเก็บอาร์บูติน ได้แก่ ความเข้มข้นและความเป็นกรด-ด่างของสารละลายไคโตซาน อัตราส่วนโดยน้ำหนักของไคโตซานต่อไตรพอลีฟอสเฟต และอัตราส่วนโดยน้ำหนักของอาร์บูตินต่อไคโตซาน จากนั้นศึกษาลักษณะรูปร่างและพื้นที่ผิวของอนุภาคโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน และ ส่องกราด วิเคราะห์ปริมาณอาร์บูตินที่ถูกเก็บกักและปลดปล่อยจากไคโตซานไมโครพาร์ติเคิลด้วยวิธีโครมาโตกราฟีเหลวสมรรถนะสูง

เมื่อนำอาร์บูตินในไคโตซานไมโครพาร์ติเคิลที่ได้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครีมเพื่อทำให้ผิวขาว และทดสอบประสิทธิภาพในการทำให้ผิวขาวของอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลในอาสาสมัคร 20 คน หลังการทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า อาร์บูตินมีความเข้ากันได้ดีกับไคโตซาน บีต้าอาร์บูตินแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสโดยมีค่า IC50 = 87.72 ug/ml (เทียบกับสารมาตรฐาน กรดโคจิก และ แอลฟาอาร์บูติน, IC50 = 1.786 และ 17.85 ug/ml ตามลำดับ) สภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิล คือ สารละลายไคโตซานในความเข้มข้น 0.3% w/w, มีค่าความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 5.5, อัตราส่วนโดยน้ำหนักของไคโตซานต่อไตรพอลีฟอสเฟตเท่ากับ 5:1 โดยมีขนาดอนุภาคและความต่างศักย์ของอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลอยู่ในช่วง 400 - 600 นาโนเมตร และ 30 - 32 มิลลิโวลท์"

ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้อาร์บูตินครีมและครีมที่มีอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลในอาสาสมัครพบว่าสามารถลดปริมาณเม็ดสีเมลานินได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่มีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จากการวิจัยที่เตรียมอาร์บูตินไมโครพาร์ติเคิลโดยวิธีไอออนิกเจเลชั่น จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวได้ ที่สำคัญคือเป็นการนำไคโตซานซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้เป็นพอลิเมอร์ในการเตรียม ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของไคโตซาน พอใจกล่าวทิ้งท้าย

Credit: http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000149344

No comments: