วงเสวนาจี้จัดทำกฎหมายคุมเข้มความปลอดภัยด้านกีฬา-นันทนาการ หลังพบข้อมูลทางการแพทย์ระบุเล่นไม่เหมาะสมส่งผลระยะยาวต่อสมอง ร่างกาย แฉ "ฟิตเนส" บางแห่ง เป็นแหล่งคุกคามทางเพศ ...
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) จัดเสวนาประชาพิจารณ์ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน พ.ศ. ....
โดยนายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีทั้งหมด 42 มาตรา แบ่งเป็น 6หมวด โดยสาระกฎหมายต้องการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยและเหมาะสมกับวัยของเด็กและเยาวชนในการเล่นกีฬาและนันทนาการ เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการและทางการแพทย์พบว่า การเล่นกีฬานันทนาการไม่เหมาะสมส่งผลระยะยาวต่อสมอง ร่างกาย จิตใจเด็กให้ได้รับบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต และไม่มีผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งมีอายุความเพียง 1 ปี โดยกฎหมายจะไม่ไปจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และผู้ให้บริการกีฬา นันทนาการ แม้หน่วยกีฬานันทนาการทำผิด หากกลับมาปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ถือเป็นการนิรโทษ ลบล้างความผิดได้
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายในหมวด 3 กำหนดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ มาตรา 23 กำหนดว่า หน่วยการกีฬาใดจัดให้เด็กเยาวชนแข่งกีฬา ไม่ว่ากีฬาปะทะ ไม่ปะทะ หรือกีฬาต่อสู้ ต้องจัดมาตรการความปลอดภัย 1.ต้องมีการตรวจสอบนักกีฬามีสุขภาพ สมรรถภาพ ตามหลักวิชาโดยมีใบรับรองแพทย์ และ 2.จัดบุคลากรทางการแพทย์พร้อมอุปกรณ์จำเป็นเหมาะสมสนามกีฬาตลอดการแข่งขัน มาตรา 24 นักกีฬาเด็ก เยาวชน ที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพเสียชีวิตจากการกีฬา ให้ได้รับการรักษาพยาบาลช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา 25 ห้ามผู้ใดจัดหรือยินยอมให้มีการเล่นพนันกีฬาที่เด็กแข่งขันไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม หมวด 4 มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน มาตรา 27 ผู้ใดจัดให้มีหน่วยนันทนาการหรืออุปกรณ์นันทนาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเยาวชน จะต้องดำเนินการให้ปลอดภัยอย่างน้อย 1.จัดให้มีเจ้าหน้าที่ป้องกันอันตรายหรือช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็น 2.จัดให้มีอุปกรณ์ที่ปลอดภัยเหมาะสมพัฒนาการ วุฒิภาวะ เพศ 3.ติดตั้งอุปกรณ์ที่มั่นคง แข็งแรงปลอดภัย 4.ตรวจสภาพบำรุงรักษาอุปกรณ์สม่ำเสมอตามลักษณะการใช้งาน เพื่อสุขอนามัยและปลอดภัย มาตรา 28 หน่วยนันทนาการใดจัดให้มีสวนสนุกต้องจัดบุคลาการทางการแพทย์หรือผู้ผ่าน การอบรมปฐมพยาบาลพื้นฐานพร้อมอุปกรณ์จำเป็นในการบริการผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นอุปกรณ์สวนสนุก โดยมีบทลงโทษหนักกรณีผู้ฝ่าฝืนมาตรา 23 และ 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากฝ่าฝืนมาตรา 25 โทษจะเพิ่มมากกว่ากฎหมายพนันทั่วไปกึ่งหนึ่ง
นายเชวง ไทยยิ่ง ผอ.สถาบันพัฒนากฎหมายมหาชน กล่าวว่า การนำเด็กมาต่อยมวยต้องยอมรับว่าเกิดผลกระทบกับเด็ก แม้ในแวดวงชกมวยจะบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยห้ามไม่ได้ แต่นักพลศึกษาและแพทย์ ก็ระบุชัดว่านักมวยหลายคนต้องป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน นอกจากนั้น ยังมีกีฬาเทควันโด ที่พบว่านักเทควันโดดังๆหลายคนสุดท้ายก็ต้องเดินขาบิดเบี้ยวเพราะข้อเสียหมด รวมทั้งการว่ายน้ำในสระ ก็พบเด็กจมน้ำตายจำนวนมาก เด็กติดเชื้อจากน้ำในสระ ได้รับผลกระทบจากคลอรีนในน้ำ หรือการเล่นนันทนาการในสนามกีฬา เครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่น สวนสนุก เราห้ามเด็กเล่นไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีกฎหมายที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยให้เด็ก
“ตอนนี้มีกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่อันตรายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นโรลเลอร์สเก็ต ที่จัดแข่งขันกันเป็นระยะๆ หรือการเล่น BB gun หรือ Paint Ball อาจไม่ถือเป็นกีฬา แต่มีอันตรายแฝงอยู่ น่าจะมีการควบคุมมาตรฐานที่ปลอดภัย แม้แต่กีฬาพื้นฐานทั่วไป ยิมนาสติกเอาเด็ก 2-3 ขวบมาเล่น คนควบคุมมีใบอนุญาตหรือไม่ ใช้เบาะอะไรมารองรับเด็กปลอดภัยแค่ไหน เช่นเดียวกับไลฟ์การ์ดในสระว่ายน้ำ ก็ต้องมีใบอนุญาต ไม่ใช่แค่ว่ายน้ำได้ ต้องมีทักษะการช่วยชีวิตเด็กกรณีต่างๆ เมื่อได้รับอุบัติเหตุด้วย”ผอ.สถาบันพัฒนากฎหมายมหาชน กล่าว
นายชัชชัย โกมารทัต หัวหน้าแขนงวิชาโค้ชกีฬา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนิยามคำว่ากีฬานอกจากหมายถึงการสอน การฝึกการซ้อม การแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้เล่นสุขภาพดี ต้องรวมไปถึงการออกกำลังกายด้วย โดยเฉพาะฟิตเนสซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากตอนนี้ แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล ทั้งที่ฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง ดูภายนอกสวยงามแต่ภายในมีปัญหาอับชื้น วางเครื่องเล่นแออัดชิดกัน จัดวางผิดประเภท ปัญหามลพิษทางเสียง เปิดเพลงเสียงดังมาก ห้องอาบน้ำเป็นเมือก สกปรก นอกจากนั้นพบว่าฟิตเนสกลายเป็นแหล่งคุกคามทางเพศ ทั้งกรณีต่างเพศและเพศเดียวกัน มีปัญหาถึงขั้นต้องติดป้ายว่า “ห้องน้ำมีไว้ใช้คนเดียว ห้ามใช้สองคน” หรือแม้แต่ห้องซาวน่าก็ไปทำอนาจารกัน แม้จะแยกสัดส่วนชายกับหญิงแล้ว แต่ผู้ชายกับผู้ชายก็มีปัญหากันมาก ตนเข้าไปใช้บริการก็ยังหวาดหวั่นตลอด ทั้งนี้ควรมีการตั้งกรมหรือองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านกีฬา นันทนาการโดยตรงเลย รวมทั้งตั้งศูนย์บริการตรวจสอบสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกายรองรับการตรวจ สุขภาพเด็ก เยาวชน ที่แข่งขันกีฬาโดยใช้นักวิทยาศาสตร์การกีฬามาแบ่งเบาภาระแพทย์ได้รวมทั้ง ดูแลกรณีเจตนาจงใจเล่นนอกกฎกติกาที่รุนแรงอันตราย.
Friday, October 29, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment