Wednesday, October 27, 2010

ม.รามฯ ดึงหลักเศรษฐศาสตร์ แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ถาโถมเป็นผลปรากฏชัดทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของปัญหาไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็น “มนุษย์” ที่ดำเนินกิจกรรมของชีวิต จนธรรมชาติขาดความสมดุล ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงไม่เพียงแต่การแก้ไขในด้านสิ่งแวดล้อม ระบบชลประทาน หรือผังเมืองเท่านั้น หากยังต้องใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาควบคู่กัน

รศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศมุ่งไปสู่มิติของการสร้างรายได้ของประชากรเป็นหลัก โดยละเลยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แม้รายได้ต่อหัวประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมด้านสังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เสื่อมโทรมลง และมีแนวโน้มเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในระยะนี้ มีหลายปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความแปรปรวนของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ เช่น พายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด โรคระบาดร้ายแรงต่างๆ

ข่าวภัยพิบัติต่างๆที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเพียงปลายเหตุ เนื่องจากต้นเหตุนั้นมาจากการมุ่งพัฒนาเชิงรายได้อย่างไร้ทิศทาง จนขาดความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

“โดยเฉพาะล่าสุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้ว่าภัยพิบัติดังกล่าวล้วนมีที่มาจากพฤติกรรมการกินอยู่ของมนุษย์นั่นเอง ยิ่งกินมาก ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งมีการใช้ทรัพยากร เกิดขยะ ของเสีย และมลพิษกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นต้องหาวิธีแก้ไขว่า เราจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางสังคมให้สมดุลกันได้อย่างไร ซึ่งการสร้างจิตสำนึกตระหนักในความสำคัญของสภาพแวดล้อม ไม่ได้หมายถึงต้นไม้ใบหญ้าอย่างเดียว แต่รวมถึงวัฒนธรรม หากเราอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้ให้ยั่งยืน ก็จะสามารถสร้างรายได้จากสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้ต่อไปด้วย เช่น ชุมชนท่องเที่ยวเชิง

ด้วยเล็งเห็นปัญหาจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมดังกล่าว คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จึงร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์สถาบันอื่นอีก 5 แห่ง ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ และม.เชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อ เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ ณ ม.รามคำแหง หัวหมาก

“การประชุมวิชาการ เป็นการระดมสรรพกำลังของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ ม.รามคำแหงหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะย้ำเตือน กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมมือวิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคน และสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา โดยหวังว่าจะบังเกิดผลให้คนไทยอยู่ดี มีสุข ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี เราอยากสร้างจิตสำนึกให้สังคมได้ตระหนักว่า อย่ามุ่งหวังสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึกถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งคน และสิ่งแวดล้อมต้องพึ่งพาอยู่ร่วมกัน”

ด้าน รศ.วิรัช ธเนศวร คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวเสริมว่า อย่ามองเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน เกี่ยวกับการจัดสรร และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้ตอบสนองความต้องการโดยเกิดประโยชน์สูงสุด

"เป้าหมายก็เพื่อสรร้างความกินดีอยู่ดี ทั้งในบุคคล องค์กร และระดับชาติ ซึ่งทรัพยากรนั้น อาจหมายถึงเงิน วัตถุ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยในระดับบุคล เราทำงานได้เงินเดือน จะจัดสรรการใช้จ่ายอย่างไรให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้ ส่วนระดับองค์กรธุรกิจ ก็ต้องจัดสรรการผลิต การใช้จ่าย ให้ได้กำไรพอสมควรหล่อเลี้ยงองค์กร และในระดับประเทศ ก็ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด”

No comments: