Wednesday, October 27, 2010

บ.วินาศภัย รับทำสินเชื่อ"ช.พ.ค."ไม่ได้ แจงคุ้มครองน้อยกว่ากรมธรรม์ประกันชีวิต

ทั้งหลักเงื่อนไข"การเอาประกัน"แตกต่างกัน


ความคืบหน้ากรณีมีสมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ผู้เอาประกันภัยสินเชื่อเงินกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 และ 6 ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.ทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากเกิดความสับสนและไม่มั่นใจในสิทธิประโยชน์ในฐานะผู้เอาประกันภัย อาทิ ในกรณีได้รับทราบข้อมูลจากตัวแทนบริษัทประกันภัยหลายๆ แห่ง ว่าในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.5 ที่มีบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด เข้ามารับทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ ค่าเบี้ยประกันรวม 37,200 บาท วงเงินประกัน 600,000 บาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี และในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 ที่มีบริษัท ทิพยประกันภัย รับเบี้ยประกันสินเชื่อไป จำนวน 66,960 บาท วงเงินประกัน 1,200,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 9 ปี แต่กลับถูกระบุว่า มีบริษัทประกันภัยในประเทศไทยอีก 3-4 แห่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับประกันใน 2 โครงการเงินกู้ดังกล่าวด้วย โดยมีการส่งต่อเป็นทอดๆ กระทั่งไปถึงสุดท้ายที่บริษัทรับประกันภัยในต่างประเทศ รับเบี้ยประกันภัยไปจริงที่ประมาณ 55% ของค่าเบี้ยประกันที่สมาชิก ช.พ.ค.จ่ายไปในแต่ละโครงการเท่านั้น โดยที่เบี้ยประกันส่วนที่หายไปประมาณ 45% กลับไปเข้ากระเป๋าของบริษัทประกันภัยในประเทศไทยที่มีการส่งต่อเป็นทอดๆ กันดังกล่าว ในรูปของเงินส่วนลด หรือค่าคอมมิสชั่น เสมือนเป็นเงินกินเปล่าจากครู ทำให้ครูต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันไปแพงเกินจริงถึงประมาณ 45% นั้น

นางจารุพร ไวยนันท์ อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เรื่องที่บริษัทประกันภัยจะส่งต่อความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันอื่นๆ ก่อนจะส่งประกันความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันในต่างประเทศต่อนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของบริษัทประกันที่จะกระจายความเสี่ยง ส่วนที่เกรงว่าการส่งต่อเป็นทอดๆ ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เบี้ยประกันสูงเกินจริงนั้น โดยหลักของการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตของผู้เอาประกันจะเกี่ยวข้องกับอายุ เพศ ค่าคอมมิสชั่น และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอธิบายและแจกแจงให้ทางสำนักงาน คปภ.ได้ทราบในรายละเอียดด้วย สำหรับกรณีที่เกรงว่าถ้าบริษัทประกันภัยที่รับช่วงต่อเกิดมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่นั้น โดยหลักแล้วการที่บริษัทประกันภัยใดไปทำประกันความเสี่ยงยังบริษัทอื่น จะมีการเลือกบริษัทที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ

แหล่งข่าวจากบริษัทรับประกันวินาศภัย กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยของสมาชิก ช.พ.ค.ที่ว่า บริษัทรับประกันวินาศภัยสามารถจะออกกรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.ได้หรือไม่นั้นว่า เรื่องนี้ น.ส.วราวรรณ เวชชสัสถ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์และบุคลากร สำนักงาน คปภ. เคยให้สัมภาษณ์ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2553 ไว้ชัดเจนแล้วว่า "กรณีบริษัทรับประกันวินาศภัย แต่เข้ามารับประกันสินเชื่อโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 และ 6 นั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว บริษัทรับประกันวินาศภัยจะเข้ามารับประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อไม่ได้" ทั้งนี้ เพราะแม้จะออกกรมธรรม์ขยายความคุ้มครองในลักษณะการล้อกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่ก็ยังให้ความคุ้มครองได้ไม่ครอบคลุมเท่ากับกรมธรรม์ประกันชีวิต เพราะตามหลักเงื่อนไขของการเอาประกันชีวิตจะมีความแตกต่างกับการเอาประกันวินาศภัย เช่น กรณีการเสียชีวิตปกติ จะแตกต่างกับการเสียชีวิตจากวินาศภัย จึงออกกรมธรรม์รวมกันไม่ได้ และไม่น่าจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น

No comments: