Wednesday, October 27, 2010

สธ.หวังชงเกณฑ์จัดสรรงบฯเองแก้หนี้เน่ารพ.รัฐ

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมถก สปสช. เสนอดึงเงินเดือนบุคลากรออกจากงบฯ รายหัว ชงเกณฑ์จัดสรรงบฯ เอง หวังแก้ปัญหาหนี้สูญโรงพยาบาลรัฐ...

จากกรณีที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ส่งรายงานมายังกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 830 โรงพยาบาลจากทั้งหมด 840 โรงพยาบาล และพบว่าโรงพยาบาลมีหนี้สูญเรียกเก็บจากหน่วยงานใดไม่ได้กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นในส่วนของสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือรักษาฟรี ที่จะต้องเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากที่สุดราว 2.1 หมื่นล้านบาท และเมื่อนำเงินที่โรงพยาบาลได้รับมาเทียบกับราคาต้นทุนพบว่ายังมีหนี้สูญอีก ถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งในไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลจัดอยู่ในภาวะวิกฤติถึง 289 แห่งนั้น

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า วิธีในการจ่ายเงินของ สปสช.และการเรียกเก็บเงินของโรงพยาบาลต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน โดย สปสช.มีวิธีการจ่ายเงินแบบดีอาร์จี คำนวณราคาจากต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น มีการวินิจฉัยโรคร่วม ซึ่งวิธีการดังกล่าวเหมือนกับระบบของสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่โรงพยาบาลจะคิดอัตราการเก็บเงินแบบรวมราคาขาย หรือระบบการจ่ายเงินตามการบริการ ส่วนที่บอกว่าเงินของ สปสช.ที่จ่ายให้ไปนั้น เมื่อเทียบกับราคาต้นทุน โรงพยาบาลก็ยังขาดทุนจำนวนมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก สปสช.ได้มีการประเมินแล้วว่า นั่นคือ ราคาต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวเป็นระบบเดียวกับสวัสดิการข้าราชการ เพียงแต่อัตราการจ่ายเงินไม่เท่ากัน

"สปสช.ได้มีการจ่ายเงินด้วยระบบดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากให้มีการเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินใหม่ คงเป็นไปได้ยาก หลังจากนี้ สปสช.จะชี้แจงไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว" นพ.วินัยกล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลสังกัด สธ. เกิดปัญหาเช่นนี้รวมถึงขาดทุน เป็นเพราะโรงพยาบาลต้องให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการตามสภาพ ความเจ็บป่วยจริงไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วย ในขณะที่เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณพิจารณาจากจำนวนประชากรที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาระความรับผิดชอบในการรักษาผู้ป่วยตามจริง ทำให้เกณฑ์การจัดสรรเงินให้กับโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายจริงในการให้บริการผู้ ป่วยต่างกัน ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องนำเงินในส่วนของเงินบำรุงโรงพยาบาลมาจ่ายสมทบทุกปี จนสภาพเงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงเรื่อยๆ ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรเป็นเพียงปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เงินบำรุงน้อยลง บวกกับ งบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดส่งให้กับโรงพยาบาลจะรวมเงินเดือนของบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย ทำให้เงินที่ใช้เป็นค่ารักษาผู้ป่วยไม่เต็มที่

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ใน จ.ราชบุรีมีโรงพยาบาลทั่วไปที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับโรงพยาบาล จังหวัด 3 แห่ง ทำให้แต่ละแห่งมีประชากรที่รับผิดชอบน้อย เงินที่ได้รับการจัดสรรจึงน้อยตามไปด้วย และเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรของโรงพยาบาลออกก็ยิ่งน้อยลงอีก เพราะโรงพยาบาลทั่วไปมีบุคลากรมาก ขณะที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องรับภาระรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก แบบนี้ก็เป็นการขาดทุนตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านที่ต้องการให้มีโรงพยาบาลใหญ่อยู่ในพื้นที่หลายๆ แห่ง

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาระยะยาวได้มีการตกลงร่วมกันระหว่าง สปสช.และ สธ.ในการหารือร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลสถานะทางการเงินหลังสิ้นไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2553 มาเป็นข้อมูลในการพิจารณา ซึ่งในส่วนของ สธ.จะเสนอให้มีการไม่รวมเงินเดือนของบุคลากรในโรงพยาบาลไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ให้หักรวมกับเงินเดือนทั้งประเทศแทน รวมทั้งขอให้ สธ.เป็นผู้เสนอเกณฑ์การจัดสรรงบฯ เหมาจ่ายรายหัวให้กับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เอง ส่วนกรณีโรงพยาบาลที่จัดอยู่ในขั้นวิกฤตินั้น จะดำเนินการของบประมาณจำนวน 2-3 พันล้านบาทมาดำเนินการแก้ปัญหาในจุดนี้.

No comments: