นายกแพทยสภาระบุ ปัจจุบันมีการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก อาจส่งผลให้แพทย์ล้น และแพทย์ที่จบใหม่อาจตกงานเหมือนกับหลายประเทศ...
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยสถานการณ์การผลิตแพทย์ ว่า ปัจจุบันมีการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก โดยมีแพทย์จบใหม่ปีละประมาณ 2,500 คน จากเดิมผลิตเพียงปีละ 200 คน ในขณะที่มีประชากรเกิดใหม่น้อยลงเหลือเพียงปีละ 7-8 แสนคน จากเดิมที่มีปีละประมาณ 1 ล้านคน หากเป็นเช่นนี้ในอีก 15 ปี อาจส่งผลให้แพทย์มีจำนวนล้น และแพทย์ ที่จบใหม่อาจจะตกงาน เหมือนกับหลายประเทศ เช่น ทวีปยุโรปที่แพทย์ต้องไปขับรถแท็กซี่ หรือประเทศอินเดียที่ต้องส่งแพทย์ออกไปต่างประเทศถึงปีละ 6 หมื่นคน และว่านโยบายเกี่ยวกับการผลิตแพทย์ควรที่จะมองไปข้างหน้า 15 ปี จะทำให้มองเห็นภาพว่าแพทย์ที่ผลิตในปัจจุบันขาดหรือเกิน หรือไม่ได้ขาดแคลนแต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายแพทย์ไม่ดี โดยส่วนตัวเห็นว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนแพทย์มาก แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดกลับมีจำนวนแพทย์น้อย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของการกระจายแพทย์ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ควรพัฒนาโรงพยาบาลในรูปแบบเครือข่าย โดยให้แพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด และจัดเวรหมอประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในพื้นที่ชุมชน ควรมีเพียงคลินิกหรือศูนย์สุขภาพชุมชนขนาดไม่ใหญ่ โดยแต่ละแห่งเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ดีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เตรียมเปิดคณะแพทยศาสตร์ ขณะนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดเสนอเรื่องมายังแพทยสภาเพื่อขออนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ มีเพียงมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งส่งจดหมายแจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรแล้ว และการที่แพทยสภาจะรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งใด จะพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโรงพยาบาลรองรับให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ และหากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตร แต่จัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน แพทยสภามีสิทธิ์ที่จะยุบคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้
Credit: ไทยรัฐ
Monday, May 17, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment