การผลิตนมพร้อมดื่มยูเอชที มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่ม ให้ความร้อนจนถึงการบรรจุกล่อง ผลิตภัณฑ์นมอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายสาเหตุ...
นมบูด...ส่งผลเสียให้ ปากท้องของผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบกิจการนมยูเอชทีขนาดใหญ่จะใช้ เครื่องมือ Electester ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสอบโดยไม่ต้องเปิดกล่องนมออกดู ซึ่งมี ราคามากกว่า 3 ล้านบาทต่อเครื่อง
ในส่วนของ กลุ่มสหกรณ์โคนม หรือ ผู้ประกอบการผลิตนมยูเอชทีขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้ เนื่องจากมีราคาแพงเกินไป ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต
ด้วยเหตุผลนี้เอง ทาง...ผศ.ดร. สุวรรณ หอมหวน ดร.ณัฐดนัย ตัณฑวิรุฬห์ และคณะจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมมือกันผลิต...เครื่องตรวจสอบนมยูเอชที หรือผลิตภัณฑ์อาหารเหลวบรรจุกล่อง โดยไม่ทำลายแบบ รายงานผลโดยตรงขึ้น
ผศ.ดร.สุวรรณ กล่าวว่า การผลิตนมพร้อมดื่มยูเอชที มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่ม ให้ความร้อนจนถึงการบรรจุกล่อง ผลิตภัณฑ์นมอาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายสาเหตุ เช่น ท่อขนส่งนมไม่สะอาด หรือ ผู้ปฏิบัติงานมีความสะอาดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์หมดอายุก่อนกำหนด เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจึงต้องสุ่มตัวอย่าง น้ำนมทุก 10-20 นาที เพื่อนำไปเพาะเชื้อแล้วใช้การตรวจด้วยเครื่องตรวจคุณภาพนมกล่องแบบไม่ทำลาย เพื่อคัดกรองนมกล่องที่มีแนวโน้มเสียทิ้งก่อนจำหน่าย
สำหรับ คุณสมบัติและลักษณะเด่นของเครื่องนี้ ได้ประยุกต์ ใช้ทฤษฎีการสั่นทางกลแบบการสั่นสะเทือนเสรีแบบมีตัวหน่วงชนิดของเหลวหนืด กรณีการหน่วงน้อยเกินไป เมื่อประมวลผลสัญญาณการสั่นออกมาจะได้ค่าที่แตกต่างกัน โดยการตั้งค่า มาตรฐานที่จะแบ่งระหว่างนมหรือผลิตภัณฑ์ระงับ (เสียหรือมีแนวโน้มเสีย) และปกติได้ในตัวโปรแกรมของเครื่อง ทำให้สามารถแยกนมหรืออาหารเหลวปกติ ออกจากผลิตภัณฑ์ ที่มีแนวโน้มว่าจะเสียก่อน วันหมดอายุจริง หรือเริ่มเสียก่อนที่จะนำออกไป จำหน่ายโดยไม่ต้องทำการแกะกล่องออกดู
อกจากนี้ เครื่องตรวจสอบความผิดปกติของนมยูเอชทีดังกล่าว ยังสามารถตรวจวิเคราะห์คัดแยกนมดีและนมเสีย สำหรับผลิตภัณฑ์นมรสชาติต่างๆ รวมถึงขนาดบรรจุที่แตกต่างกันในปริมาณ 700-1,200 กล่องต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วของผู้ใช้ในการวางลงบนถาด โดยสามารถปรับค่าเกณฑ์บนโปรแกรมได้ ทำให้ ผลการตรวจถูกต้องแม่นยำถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งอุปกรณ์แต่ละชิ้น เมื่อชำรุดเสียหายก็ซ่อมแซมหรือนำอะไหล่ที่ผลิตเองในประเทศมาเปลี่ยนเฉพาะส่วนได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ทั้งเครื่อง
คณะผู้วิจัย...มุ่งพัฒนาสร้างเครื่องตรวจความผิดปกติของนมแบบไม่ทำลาย โดยออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพการทำงานและอ่านผลได้แม่นยำทัดเทียมกับเครื่อง Electester แต่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้สามารถ คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2553 รางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
กลุ่มสหกรณ์โคนม หรือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการผลิตนมที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ ผศ.ดร.สุวรรณ หอมหวน มหาวิทยาลัยเกษตร-ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทรศัพท์ 0-3435-5310 ในเวลาราชการ.
Monday, May 31, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment