ม.หอการค้าสำรวจค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงเปิดเทอม เงินสะพัดกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยต่อครัวเรือนกว่า 6,000 บาท เน้นจับจ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ชี้ค่าแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียนใหม่แพงขึ้น กังวลเศรษฐกิจไม่ดีรับผลกระทบจากการเมือง
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเปิดเทอม ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2553 จากประชาชน 1,219 ตัวอย่าง ว่า ปีนี้จะมีเงินจากการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม 44,573 ล้านบาท เฉลี่ยต่อครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย 6,116.89 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต 41.9% รองลงมาเป็นค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) 34.8% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายเทียบกับปี 2552 พบว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนใหญ่ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นได้แก่ ค่าบำรุงโรงเรียน (กรณีเปลี่ยนโรงเรียน/แป๊ะเจี๊ยะ) 88.1% เห็นว่าเพิ่มขึ้น และ 6.3% ลดลง ส่วนอีก 5.6% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถาม 74.1% ระบุมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนอีก 25.9% ระบุไม่เพียงพอ โดยกลุ่มที่เพียงพอนั้น นำเงินออมมาใช้เป็นอันดับ 1 รองลงมา คือเงินเดือน โบนัส/รายได้อื่นๆ และอื่นๆ 0.9% ขณะที่กลุ่มที่ไม่เพียงพอ จะจำนำทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ยืมญาติพี่น้อง เงินออม เงินเดือน เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต กู้เงินนอกระบบ โบนัส/รายได้พิเศษ กู้เงินในระบบ และเสี่ยงโชค
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองมีผลต่อการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมหรือไม่นั้น 83.6% ตอบว่ากระทบ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่มั่นคง และไม่สะดวกในการส่งบุตรหลาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ประชาชนยังกังวลกับสถานการณ์การเมือง และไม่เชื่อมั่นการเมือง แต่เม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม 44,573 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นในสัดส่วนเท่าเดิม ยอดเงินปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% จึงน่าจะเป็นแรงพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ตกต่ำลงได้บ้าง” นายธนวรรธน์กล่าวและว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงการศึกษาของประเทศในปัจจุบันนั้น ให้ใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย พัฒนาบุคลากรทางการเรียนให้มีศักยภาพเท่าเทียมกัน ตรวจสอบมาตรฐานการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนสิ่งที่ต้องการด้านการศึกษาที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ ให้ทุนการศึกษา หรือเรียนฟรี (ระดับที่สูงกว่ามัธยม) ช่วยเหลือค่าเทอมที่สูงเกินไปของโรงเรียนเอกชน ช่วยเรื่องอาหารกลางวัน ช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนเพิ่มขึ้น ให้โอกาสในการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส ให้เงินกู้เพื่อการศึกษาในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20100513/58995/ใช้จ่ายเปิดเทอมสะพัดกว่า4.4หมื่นล.ผู้ปกครองรัดเข็มขัดรับโรงเรียนโขกค่าแป๊ะเจี๊ยะ.html
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment