Monday, May 31, 2010

สาวไทยสิงห์อมควัน สูบ8.4แสน สธ.วอนเลิกก่อนตาย

"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เผยยอดผู้หญิงกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกตกเป็นทาสบุหรี่ ขณะที่สาวไทยมีแนวโน้มสูบมากขึ้น ยอดล่าสุดกว่า 840,000 คน ในไทยพบผู้เสียชีวิตทุก 10 คน จะมี 1 คนตายเพราะสูบบุหรี่...

30 พ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานกิจกรรมพิเศษและสื่อสร้างกระแสสังคม เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค.53 ว่า ปัจจุบันปัญหาสำคัญของผู้ที่สูบบุหรี่คือผู้หญิง ที่มีแนวโน้มสูบบุหรี่รวมมากขึ้น โดยขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดบุหรี่มากกว่า 1,000 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงประมาณ 200 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ล่าสุดพบหญิงไทยสูบบุหรี่ 840,000 คน และมีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

ในการรณรงค์งดสูบบุหรี่ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก กำหนดประเด็นการณรงค์ คือ Gender and tobacco with an emphasis on marketing to women หรือหญิงฉลาดไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่ เพื่อลดการสูบบุหรี่ในผู้หญิง โดยเฉพาะวัยรุ่น ถือว่าเป็นแนวทางรณรงค์ที่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทผลิตบุหรี่รู้จุดอ่อนตรงนี้ และมองเห็นช่องว่างที่เหลืออยู่ทางด้านการตลาด เพราะโอกาสที่จะเพิ่มการตลาดในกลุ่มผู้หญิงยังมีอยู่มาก จึงมามุ่งเน้นตรงนี้ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มสูบบุหรี่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มหญิงวัยรุ่น ที่เป็นเป้าหมายทางการตลาดของบริษัทผลิตบุหรี่

รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงสูบบุหรี่มากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการทำการตลาดของบริษัทบุหรี่ ที่มีการออกแบบบุหรี่ในหลายรูปแบบ เช่น การใส่กลิ่นปรับรส เน้นในเรื่องของการโฆษณา เพื่อที่จะจูงใจให้ผู้หญิงหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น รวมถึงมีการผลิตบุหรี่เพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่ โดยเฉพาะบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ หากไม่มีความเข้มแข็งพอ ตกไปเป็นเหยื่อทางการตลาด จนในที่สุดอาจตกเป็นทาสของบุหรี่ ซึ่งจะนำมาสู่โรคภัยไข้เจ็บ เฉพาะในประเทศไทยพบว่า ผู้เสียชีวิตทุก 10 คน จะมี 1 คนที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับมูลนิธิหน่วยงานต่างๆ รณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการตลอดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เช่น ประกาศกระทรวงฉบับที่ 19 ซึ่งได้กำหนดเขตพื้นที่ที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มเติมขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด เช่น สนามกีฬา ศาสนาสถาน 2.สูบได้ในพื้นที่ที่กำหนดไว้นอกตัวอาคาร 3.สูบได้ในอาคาร ซึ่งประเทศไทยอนุญาตให้สูบได้เพียงพื้นที่เดียวคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนต่างประเทศ ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องห้ามสูบด้วย ขณะนี้ได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างส.ส.ส. กับองค์การอนามัยโลก โดยจัดให้เรื่องบุหรี่เป็นอีกเรื่องที่จะร่วมมือกันดำเนินการต่อไป ซึ่งหากร่วมมือรณรงค์อย่างจริงจัง ตัวเลขผู้สูบบุหรี่จะลดลง

No comments: