Friday, August 20, 2010

เชียร์ออกกฎห้ามย้ายประถม-มัธยมข้ามสังกัด

นายวิทยา บริบูรณ์ทรัพย์ นายกสมาคมโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (สบมท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเสนอเรื่องการกำหนดจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ นั้น สบมท.ได้ให้ความเห็นไปแล้ว ว่า เขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ ควรมี 41 เขต โดยปรับศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษามาเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ เพราะได้มีการวางฐานไว้แล้วและไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ส่วนกรณีโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 จะอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ หรือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นั้น เท่าที่ได้หารือกันในเบื้องต้น เห็นว่า โรงเรียนขยายโอกาสฯ ที่มีความพร้อมสามารถสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯได้ โดยการทำเรื่องไปที่ สพฐ.เพื่อประเมินความพร้อมก่อน ซึ่งจะพิจารณาจากจำนวนนักเรียนระดับมัธยมฯ ที่จะต้องมีจำนวนมากกว่าประถมฯ มีครูสอนครบชั้น และมีพื้นที่ของโรงเรียน 25 ไร่ขึ้นไป เป็นต้น สำหรับการโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา นั้น ตนเห็นว่าไม่ควรให้มีการย้ายข้ามสังกัดเกิดขึ้น เพราะแต่ละสังกัดจะต้องมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่ของตนเองขึ้นมาดูแลเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย อีกทั้งบริบทและวัฒนธรรมองค์กรก็แตกต่างกัน

นายเพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสหพันธ์ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนจะทำข้อเสนอไปยัง สกศ.ว่า การบริหารงานบุคลากรระหว่างประถมฯกับมัธยมฯ ทั้งในส่วน ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ควรแยกกันให้ชัดเจน หากจะเปิดช่องให้มีการเลื่อนไหลข้ามสังกัดได้ควรเป็นกรณีที่ไม่มีบุคลากรในสังกัดลงตำแหน่งแล้วเท่านั้น ส่วนการสังกัดของโรงเรียนขยายโอกาสฯนั้น หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ได้หารือกันเบื้องต้น คงมีโรงเรียนขยายโอกาสฯไปอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯน้อยมาก แล้วคุณภาพเด็ก ม.ต้น ที่อยู่ในโรงเรียนขยายโอกาสฯจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าควรให้โรงเรียนขยายโอกาสฯ ไปอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯทั้งหมด หรือ ตั้งสำนักงานขยายโอกาสฯขึ้นมาดูแลโรงเรียนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

No comments: