เพื่อที่คณะทำงานฯ จะนำข้อเสนอ 4 ประเด็นหลัก สรุปเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ในเดือน ก.ย.นี้...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษา ที่เป็นปัญหาสังคมและอนาคตของพวกเขา ล่าสุดกับยุทธศาสตร์เพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนของชาติให้มากยิ่งขึ้น จึงได้มีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ...เนื้อหาในร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่ประเด็น “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” โดยเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมสมัชชาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ....เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ และวิชาชีพต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาในพ.ร.บ.ดังกล่าวทั้ง 29 มาตรา
นางกรรณิการ์ บันเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมสมัชชาฯ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฯ และข้อสรุปของการประชุมเครือข่ายว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวหากสามารถผลักดันให้เป็นกฎหมายได้ จะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น ในการประชุมครั้งนี้มีสิ่งน่าสนใจคือการที่ได้มาซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ที่มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายกว้างขวางเป็นอย่างมาก ทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วยรวมถึงการเสนอเนื้อหาใหม่ มีการถกเถียงกันจนเป็นที่สรุปในแต่ละมาตรา โดยคณะทำงานฯ จะนำข้อเสนอดังกล่าวเผยแพร่และดำเนินการต่อไป จากนั้นนำไปสรุปเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ภายในเดือนกันยายนนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า สาระสำคัญในการหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นมี 4 ประเด็นคือ 1) สถานบริการสาธารณสุขจัดให้มีการปรึกษา หรือบริการอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเหมาะสม ตามเพศภาวะ วิถีชีวิตทางเพศ และความเป็นส่วนตัวอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ผู้ให้การปรึกษา และบริการต้องให้ข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ อย่างถูกต้องครบถ้วนและเพียงพอไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือประวัติผู้รับบริการ 2 ) สถานศึกษาพัฒนาศักยภาพบุคลากร และจัดการสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับวุฒิภาวะและวัยของผู้เรียน ถ้ามีหญิงมีครรภ์ระหว่างศึกษา ให้ศึกษาต่อ และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตร 3 ) หน่วยงานรัฐและเอกชน ต้องไม่ขัดขวางการลาคลอดตามกฎหมายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง และป้องกันการล่วงเกิน คุกคามหรือความเดือดร้อนทางเพศ และ 4 ) หน่วยงานรัฐหรือสถานประกอบการมีหญิงมีครรภ์ที่อยู่ในภาวะไม่พร้อมมีบุตรฯ ให้หน่วยงานรัฐหรือสถานประกอบการดังกล่าวให้การสังเคราะห์ช่วยเหลือ และดูแลสุขภาพของมารดาและบุตรอย่างเหมาะสม
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันในรายละเอียดเนื้อหา ร่างกฎหมายฉบับนี้ในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะมาตราที่กำหนดบทลงโทษไว้เพียงโทษปรับเท่านั้น บางคนได้เสนอให้มีการเพิ่มบทลงโทษจำคุกด้วย บางคนต้องการให้ตัดออก อนึ่งการประชุมเพื่อยกร่างเนื้อหากฎหมายดังกล่าว ทาง สช.จะได้นำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อผลักดันประเด็น “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” ที่เป็นหนึ่งใน 10 ประเด็นของสช. เตรียมนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 กลางเดือนธันวาคมปีนี้
Friday, August 20, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment