เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย (International vocation education exhibition) ครั้งที่ 5 เนื่องในวันครูโลก ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาเพื่อโลกอาชีพ” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า การศึกษาเพื่อโลกอาชีพเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่มีนโยบายการบริการการศึกษาเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิต เพราะการศึกษามีส่วนสำคัญในชีวิตของมนุษย์ เพื่อสามารถนำความรู้ไปหารายได้และมีส่วนส่งเสริมสังคมโดยรวม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการค้า เศรษฐกิจ และร่วมอยู่ในเศรษฐกิจอาเซียนที่จะหลอมรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อให้ระบบการศึกษามีคุณภาพตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งเป็นงานที่หนักหน่วงและจะสำเร็จไม่ได้หากไม่มีครู ฉะนั้นการสร้างแรงจูงใจและเครือข่ายจะสามารถเพิ่มศักยภาพครูได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกวาง โจคิม ผอ. สำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ ได้อ่านสารจากนางไอรินา โบโกวา ผอ.ใหญ่ยูเนสโก ความตอนหนึ่งว่า ดำริของประเทศไทยในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนม พรรษา 78 พรรษาในวันครูโลก แสดงถึงความสำคัญ ที่ไทยให้แก่การศึกษา ยูเนสโกสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ทูตแห่งความปรารถนาดีของ ยูเนสโกในการพัฒนาเด็ก ๆ ของชนกลุ่มน้อยและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทรงมีข้อผูกพันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะแก่กลุ่มที่ด้อยโอกาสและอ่อนแอ ครูเป็นทรัพยากรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในทุกประเทศ ยูเนสโกจะเฉลิมฉลองวันครูโลกในวันที่ 5 ต.ค. โดยหัวข้อคือ “การฟื้นตัวเริ่มที่ครู” ซึ่งมีนัยว่า ครูเป็นกุญแจในการฟื้นกลับคืนในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความหวังต่ออนาคต ต่อโครงสร้างและความเป็นปกติสุข จึงขอเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ลงทุนและดำเนินนโยบายแห่งชาติเรื่องการฝึกอบรมครู การบรรจุและการเสริมแรงจูงใจเพื่อเติมเต็มให้ได้รับการยอมรับในวิชาชีพ
“ขอชื่นชมนโยบายของรัฐบาลไทยในการให้การศึกษาฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นความตั้งมั่นของรัฐบาลไทยท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยยอมรับว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณวุฒิและมาตรฐานของการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ขณะนี้โลกเรากำลังขาดแคลนครูอย่างมาก ช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในแอฟริกาบริเวณ ใต้ทะเลทรายซาฮารา จึงต้องส่งเสริมความร่วมมือเรื่องการฝึกอบรมครูไปช่วยประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนต่อไป” นายกวางกล่าว.
Friday, August 27, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment