รองประธานพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยฯเผย เครื่องรางของขลังยังได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะ "เขี้ยวเสือ-ปลัดขิก-เบี้ยแก้" รับเป็นเครื่องรางยอดฮิต มีการเช่าบูชาถึงหลักล้านบาท...
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียม สยาม) มีการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "เครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ" จัดโดยศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายภุชงค์ จันทวิช รองประธานพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เครื่องรางของขลังยังคงได้รับความนิยม นำมาบูชาจากประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเครื่องรางที่ยังคงได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ อยู่ในขณะนี้ ได้แก่ เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือวัดคลองด่าน หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันว่า วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีการเช่าบูชากันถึงหลักล้านบาท เชื่อกันว่าจะช่วยในเรื่องมหาอำนาจ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ค้าขายได้ผล, เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง, เบี้ยแก้ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้าจ.ฉะเชิงเทรา และ ปลัดขิก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี
ขณะเดียวกันการสร้างเครื่องรางของขลังในปัจจุบันยังมีการพยายามนำการตลาด เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คือการสร้างขุนแผนโคโยตี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการในการสร้างเครื่องรางของขลังในสังคมไทย
นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยต้องการเครื่องรางของขลังตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มีเหตุผลหลักคือ 1. เพื่อลาภ 2. เพื่อความเมตตา ความรักใคร่ ความต้องการเป็นที่ยอมรับ 3. เพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า 4. เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน และ 5. เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลาย
ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สพร. กล่าวว่า เครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อที่เกี่ยวพันกับศาสนา แต่ในยุคปัจจุบันสังคมไทยกลับมองเรื่องเครื่องรางของขลังเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ เพราะมีการนำไปเกี่ยวกับไสยศาสตร์มากกว่าความเชื่อดั้งเดิม ที่มีการฝึกจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ดังนั้น สพร. จึงต้องมีการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมทางวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment